โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง พระเกจิจอมขมังเวทย์ของเมืองนครปฐม

ภาพถ่ายหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม
หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม

         หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังที่เข็มขลังมากองค์หนึ่ง ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โยมบิดาชื่อ ชื่น โยมมารดาชื่อ ใจ ในเยาว์วัยโยมบิดาได้ให้บวชเป็นเป็นสามเณร ได้ศึกษาร่ำเรียนอักขระ ทั้งภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอาจารย์จ้อย วัดดอนเจดีย์ ผู้เรืองวิทยาคม 

         พระอาจารย์เห็นถึงคุณวิเศษและความใฝ่ใจของหลวงพ่อแช่ม จึงประสิทธิ์ประสาทวิทยาการด้านพุทธเวทพร้อมเคล็ดลับต่างๆ ให้โดยไม่ปิดบัง ซึ่งท่านก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างแตกฉาน ชีวิตในวัยหนุ่ม ท่านเป็นคนชอบท่องเที่ยว ไปอย่างคึกคะนอง

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ หลวงพ่อแช่ม ท่านมีพอมีอายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงก็ได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพะเนียงแตก ตำบลมาบแค อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ได้รับฉายาว่า " อินฺทโชโต" โดยมี

         พระครูอุตรการบดี (หลวงพ่อทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูสมถกิตติคุณ (กลั่น) วัดพระประโทน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์ตุ่ม (น้าของท่าน) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         ซึ่งในขณะนั้นหลวงพ่อทา ท่านถือเป็นพระเกจิที่เรืองเวทวิทยาคมมากรูปหนึ่ง หลังจากอุปสมบทแล้วหลวงพ่อแช่ม ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพะเนียงแตกเรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาอาคมกับพระอุปัชฌาย์ 

         ซึ่งในสมัยนั้นหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ท่านมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงเมืองนครปฐมด้วย ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ เชี่ยวชาญทางสมถกัมมัฏฐาน มีพลังทางจิตกล้าแข็ง ท่านทำเครื่องรางของขลังไว้แจกแก่ลูกศิษย์ลูกหา

         หลวงพ่อแช่มเมื่อมาอยู่กับหลวงพ่อทา ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัฐกาลที่ ๓ จึงได้ทำทุกอย่างที่จะปรนนิบัติอุปัชฌาย์ ด้วยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะขอเรียนวิชาการทุกอย่าง จากหลวงพ่อทาให้จงได้ 

         จึงได้เข้ารับใช้อย่างใกล้ชิด หลวงพ่อแช่มเฝ้าปรนนิบัติวัตรถากอาจารย์อยู่ด้วยการรับใช้และนวดเฟ้นเช่นนี้เป็นเวลานานถึง ๓ พรรษา จึงได้ถ่ายทอดคาถาอาคมจากอาจารย์สมความปรารถนา โดยได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมต่างๆไว้มากมาย โดยเฉพาะการเจริญกรรมฐานตามแบบโบราณจารย์ 

         หลวงพ่อทา ท่านสั่งสอนหลวงพ่อแช่มว่า ป่าช้าเป็นป่าชั่วช้า ป่าเลวทราม เพราะเป็นป่าผี ป่าที่มีแต่ซากศพ แต่ถ้าพระไปอยู่ ป่าช้าก็เป็นป่าดี เป็นป่าแก้ว ป่าช้าที่พระอยู่จึงเรียกว่าป่าแก้ว เป็นป่าที่สงบ สงัด ร่มเย็น เพราะเป็นป่าที่แสวงหาธรรมของสาธุชน เป็นป่าที่ปฏิบัติธรรมของลูกพระตถาคต และเป็นป่าบำเพ็ญสมณธรรมของพระอริยสงฆ์ ซึ่งหลวงพ่อแช่มก็ได้ซึมซับเอาแนวความคิดนี้มาจากพระอุปัชฌาย์

         เมื่อหลวงพ่อแช่ม ได้ศึกษาวิชาจนแตกฉานแล้ว ท่านกับเพื่อนภิกษุได้ออกเดินธุดงค์ไปนมัสการพระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้ไปไหว้สถานที่ดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธองค์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมครูแล้ว ก็เกิดความปีติเอิบอิ่มใจ

         ได้ปลงธรรมสังเวชเกิดความสลดใจในธรรม ว่าคนมาในโลกนี้แล้ว ไม่ว่าไพร่ ผู้ดี มั่งมี หรือเข็ญใจ เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ผู้มีศักดานุภาพ เป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งหลาย ก็ล้วนแต่ต้องพ่ายแพ้แก่พระยามัจจุราช

         ท่านจึงได้ออกธุดงค์ไปนมัสการ พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง พระพุทธบาทสระบุรี และจนกระทั่ง ได้ไปนมัสการ เจดีย์ชะเวดากองประเทศพม่า และได้ศึกษาวิชาความรู้เพิ่มเติมจาก พวกชาวไทยใหญ่ พม่า กะเหรี่ยง และมอญ เป็นต้น

ภาพถ่ายหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม
หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม

         หลวงพ่อแช่ม เดินทางกลับผ่านทางจังหวัดกาญจนบุรี เข้าสุพรรณบุรี แล้ววกกลับมาทางนครปฐม โดยการเดินทางเท้าทั้งสิ้น ไม่ได้ขึ้นรถลงเรืออาศัยเกวียนหรือช้างม้าแต่อย่างใดเลย 

         เมื่อถึงวัดพะเนียงแตกแล้ว หลวงพ่อแช่มก็เข้ากราบนมัสการท่านอุปัชฌาย์ พระครูอุตรการบดี (ทา) หรือเรียกกันง่ายว่า หลวงพ่อทา หลวงพ่อวัดพะเนียงแตก หรือหลวงพ่อเสือ หลวงพ่อท่านไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่เปรยๆว่า "เกิดเป็นคนก็ยาก บวชเป็นพระก็ยาก บวชแล้วได้เดินธุดงค์ก็ยาก ไม่เสียทีที่เกิดหรอกชาตินี้ พระศาสนาของเราได้พระภิกษุอย่างคุณ พระศาสนาไม่ตกอับหรอก" 

         ว่าเท่านั้นท่านก็นิ่งไม่พูดอะไรอีก หลวงพ่อแช่มจึงนมัสการว่า กลับมาครั้งนี้ก็คิดจะกราบลาไปจำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง เพื่ออยู่ใกล้ญาติโยมทางโน้น หลวงพ่อทากล่าวว่า "ไปอยู่วัดตาก้องน่ะ ต้องระวังให้ดี ที่นั่นเขาเป็นพระบ้านทั้งนั้น เราเป็นพระป่า"

         วัดตาก้อง เดิมมีชื่อว่า วัดไพรวัลย์นิกาวาส สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๒๕ มีอายุเวลากว่า ๓๓๑ ปี เดิมทีนั้นบริเวณหน้าวัดมีแม่น้ำสายโบราณสายหนึ่งที่ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือไปบ้านยาง พระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจบุรี 

        หมู่บ้านตาก้องเป็นหมู่บ้านที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาเป็นเวลานับร้อยปีมาแล้ว เดิมเรียกว่า "บ้านอ้ายก้อง" สันนิษฐานว่าคงเรียกตามชื่อชาวจีนคนหนึ่งซึ่งมีฐานะร่ำรวยเป็นเจ้าของโรงหีบอ้อย ในหมู่บ้านที่มีชื่อว่า เจ๊กก่อง หรือ เจ๊กก้อง

        จากการบอกเล่าของผู่เฒ่าที่เล่าสืบต่อๆ กันมาว่า เหตุที่ใช้ชื่อวัดว่า วัดไพรวัลย์นิกาวาส นั้น เนื่องจากที่ตั้งของวัดยังเป็นป่าอยู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แบ่งการปกครองเป็หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ 

        ในครั้งนั้นหมู่บ้านอ้ายก้องได้ยกฐานะเป็นตำบลชื่อว่า “ตำบลตาก้อง” สันนิษฐานว่าชื่อของ “วัดไพรวัลย์นิกาวาส” คงเปลี่ยนตามชื่อของตำบลเป็นวัดตาก้อง มาจนถึงทุกวันนี้ 

          เมื่อหลวงพ่อแช่ม มาจำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง ท่านถูกพระภิกษุบางพวกเพ่งโทษคอยจับผิดท่าน นินทาว่าร้ายท่านว่าเป็นพระภิกษุพิเรนทร์ ไม่เหมือนพระชาวบ้าน ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในวัด "รดน้ำมนต์ ให้หวย ทำเสน่ห์ เป็นหมอรักษาไข้ให้ชาวบ้าน ผิดกิจของสงฆ์ อวดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ผิดศีลของพระภิกษุ" จนในที่สุดก็มีหนังสือร้องเรียนกล่าวโทษหลวงพ่อแช่มถึงเจ้าคณะจังหวัด

         การสอบสวนหลวงพ่อแช่มนั้น มีเจ้าคณะจังหวัดพร้อมด้วยเจ้าคณะตำบล และคณะผู้ติดตาม เดินทางมาสอบสวนถึงวัดตาก้อง เมื่อมาถึงกุฏิที่ปลูกเป็นศาลา พบหลวงพ่อแช่มนุ่งสบงผืนเดียวนั่งขัดสมาธิ คอยอยู่บนพื้นกระดานแผ่นใหญ่ที่ปูอยู่กับพื้นดิน มีไม้ขอนวางรอง ไร้เฟอร์นิเจอร์ใดๆ ทั้งสิ้น กระทั่งเสื่อปูรองก็ไม่มี

         ต่อข้อกล่าวหาว่า "รดน้ำมนต์ ให้หวย ทำเสน่ห์ เป็นหมอรักษาไข้ให้ชาวบ้าน ผิดกิจของสงฆ์" เจ้าคณะจังหวัดได้ถามต่อว่า "เป็นหมอรักษาไข้จริงหรือเปล่า"

         หลวงพ่อแช่มตอบว่า "ผมไม่เคยเป็นหมอรักษาไข้ใคร นอกจากมีคนป่วย ญาติเขามาหาถามอาการดู เห็นว่าพอรักษาได้ก็ให้คนไปซื้อยามา ผมก็เอาลงหม้อ เสกให้เอาไปต้มกินเท่านั้น"

         เจ้าคณะจังหวัดถามต่อว่า "แล้วหายไหมเล่า"

         หลวงพ่อแช่มตอบว่า "ก็เห็นบอกว่าหายดี"

         "เป็นหน้าที่ของสงฆ์หรือเปล่า พระพุทธเจ้าเคยเป็นหมอรักษาใครบ้างหรือเปล่า" เจ้าคณะจังหวัดได้ถามหลวงพ่อแช่มต่อ

         คำตอบจากหลวงพ่อแช่ม คือ "การเป็นหมอรักษาไข้ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ เป็นหน้าที่ของหมอ แต่ถ้าเขาหมดทางรักษา เรามียาอยู่ ควรจะสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ให้เขาพ้นทุกข์ ผมก็ต้องสงเคราะห์ไปจะผิดจะถูกอย่างไรผมก็ยอม ผมไม่ใช่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ผมจะเป็นได้ก็พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีช่วยเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ถ้าผมเห็นว่าควรจะสละศีลเพื่อช่วยชีวิตเขา ผมก็จะสละ ถ้าผมคิดว่าจะสละวินัยเพื่อช่วยคนให้พ้นทุกข์ ผมก็จะสละ ถ้าผมพบผู้หญิงกำลังจะจมน้ำตาย ผมก็จะกระโดดน้ำลงช่วยอุ้มเขาขึ้นมาให้รอดตาย ถึงผมจะถูกปรับอาบัติว่าสังฆาทิเสส ผมก็จะยอม ผมจะไม่รักษาศีลบริสุทธิ์ยอมให้คนจมน้ำตายไปต่อหน้า ถ้าผมทำเช่นนั้นผมก็ไม่รู้ว่าผมบวชเพื่ออะไร"

         ครั้นแล้วการสอบสวนก็เป็นอันเสร็จสิ้น เจ้าคณะจังหวัดได้บอกว่า "คุณไม่มีความผิดอะไร" จากนั้นก็ได้สนทนากับหลวงพ่อแช่มถึงการเดินธุดงค์และคาถาอาคมต่างๆ ในที่สุดเจ้าคณะจังหวัดก็ถามว่า "ไหนคุณว่าคุณมีดีกว่าพระภิกษุอื่น คุณมีดีกว่าอย่างไร"

         หลวงพ่อแช่ม ก็ว่า "อิติปิโสแปดบทให้ฟัง แล้วก็ว่าอิติปิโสถอยหลังให้ฟัง" จบแล้วก็บอกว่าพระองค์อื่นก็ว่าอิติปิโสเดินหน้าได้อย่างเดียว แต่ผมนั้นเชี่ยวชาญขนาดว่า "ทะแยงก็ได้ ว่าถอยหลังก็ได้ จะไม่ดีกว่าพระอื่นได้อย่างไร"

         การสอบสวนของเจ้าคณะจังหวัดครั้งนี้ ก็ยิ่งทำให้หลวงพ่อแช่มกลับมีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งขึ้น ท่านยิ่งทำอะไรแผลงๆหนักมือขึ้น

         หลวงพ่อแช่ม ท่านเป็นพระที่แปลกกว่าพระชาวบ้านรูปอื่นคือ ท่านมีวัวฝูงใหญ่เกือบร้อยตัว เป็นวัวที่หลวงพ่อรับถวายไว้บ้าง รวมทั้งที่ท่านชอบลักษณะท่านขอซื้อมาบ้าง ต้องทำคอกขนาดกว้างใหญ่ให้อยู่ วัวของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือในเรื่องอ้วนพี ผ่องใส และสวยงาม

         ในตำบลตาก้องและตำบลใกล้เคียง ไม่มีวัวใครอ้วนและงามเหมือนวัวหลวงพ่อ ยิ่งไปกว่านั้นหลวงพ่อก็ยังทำนาเหมือนชาวบ้าน ทุกเช้าหลังจากตื่นนอนฉันเช้าตั้งแต่ ๖ นาฬิกาแล้ว ท่านจะออกไปทำทุกวัน เว้นวันพระ ๘ ค่าเท่านั้น จึงจะหยุดพักทำนา

         นอกจากนั้นแล้ว หลวงพ่อแช่มก็ยังเลี้ยงหมีและหมูป่าเอาไว้ทำหน้าที่ต้อนวัวให้กลับวัด คือพอได้เวลา พวกหมีและหมูป่าก็จะเดินไปอ้อมหน้าฝูงวัว ไปเที่ยวดุนเขา ดุนหน้า วัวตัวโน้นตัวนี้ ให้หันกลับเพื่อร่วมฝูงกลับวัด วัวตัวใดหลงแทะเล็มหญ้าเพลินไป เมื่อหมีและหมูป่ามาเดินดุนหน้า มันก็ไม่โกรธ มันจะเลิกกินหญ้าหันกลับ ดูเหมือนมันจะรู้ภาษากันดี

         เมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวลูกศิษย์หลวงพ่อแช่มก็ช่วยกันเกี่ยวข้าว โดยมากเป็นข้าวเบาเก็บเกี่ยวเร็วกว่าข้าวหนัก เวลาเกี่ยวข้าวและถึงทีจะนวด หลวงพ่อแช่มไม่ใช้วิธีนวดข้าว อย่างชาวนาคนอื่น แต่ท่านใช้วิธีฟาดข้าว เมื่อได้ข้าวมาแล้ว ท่านก็ส่งเข้าโรงสีในเมือง ท่านไม่ได้ส่งข้าวเปลือกไปซื้อขายเป็นสินค้าอะไร

         แต่เอาไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าวสารกลับคืนมาเลี้ยงบริวารของท่านนั้นเอง ชาวบ้านวัดตาก้องไม่ได้แสดงความแปลกใจหรือรังเกียจที่ท่านเป็นพระทำนาแต่อย่างใด คนต่างบ้านต่างเมืองก็ไม่รู้ว่าท่านทำนาทั้งๆที่ท่านก็ไม่เคยปิดบังซ่อนเร้นใครทั้งสิ้น

         ท่านกลับเล่าให้ใครต่อใครฟังว่า "ข้าทำนาเหมือนกัน"  "ทำนาทำไมเล่าหลวงพ่อ"
 "ก็ข้าไม่ได้บิณฑบาตกิน ก็ต้องทำนา" "ทำไมไม่บิณฑบาตเล่าหลวงพ่อ" "ข้าไม่รบกวนข้าวสุกชาวบ้าน ยังไม่ดีอีกหรือ"

        หลวงพ่อแช่ม ท่านเก่งกาจด้านคาถาอาคมเป็นอย่างมาก ท่านสามารถทำวัตถุมงคลได้ศักดิ์สิทธิ์นัก เป็นที่เคารพนับถือของชาวนครปฐมมาก วัตถุมงคลของท่านได้สร้างไว้ได้แก่ เหรียญ ตะกรุดโทน ตะกรุด สามกษัตริย์ พระผงผสมดินหน้าตะโพน ธง เสื้อยันต์ ผ้าประเจียดแดง ลูกสะกด

รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม
รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม

         คราวหนึ่งหลวงพ่อแช่มเดินทางไปในเมืองนครปฐม ไปถูกหมากัดเอา จนเท้าบวม เดินไม่ได้อยู่หลายวัน บางคนว่าเป็นหมาบ้า แต่ไม่เห็นท่านเป็นอะไร ในที่สุดท่านก็ล้มป่วย เป็นการป่วยครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต นอนป่วยอยู่หลายวัน มีอาการไข้ ฉันไม่ได้ 

         ในที่สุดท่านก็ถึงแก่มรณภาพ ณ กุฏิศาลาดินมุงจาก ของท่านนั้นเอง วันที่ท่านมรณภาพ วัวของหลวงพ่อ มีอาการหงอยเหงา เศร้าโศกเหมือนมันมีสัญชาติญาณรู้เหมือนกันว่า หลวงพ่อผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของมันสิ้นบุญแล้ว 

         ซึ่งต่อไปมันก็ไร้ที่พึ่งและตกระกำลำบาก บางตัวยืนนิ่งซึมอยู่คอตก บางตัวก็นอนคางตีดินเฉยอยู่ บางตัวก็ร้องไห้ เพราะมีน้ำตาไหลเป็นทาง ทุกวันพระเวลาประมาณ ๐๖.๓๐ น. มันเคยออกจากคอกไปเป็นฝูงเพื่อไปหาหญ้ากิน แต่วันนี้มันนั่งยืนนอนเงียบเหงากันทุกตัว ไม่เคลื่อนไหวกันเลย

         หลวงพ่อแช่ม ท่านบวชมาตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี จนอายุ ๘๕ ปีเศษ เป็นเวลานานถึง  ๖๕ พรรษา ที่ได้ใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเอง แก่ประชาชน แก่พระพุทธศาสนา แก่ผู้คนผู้มีทุกข์มามากมาย

         หลวงพ่อแช่มท่านมรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๖๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง

         เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน มูลเหตุในการสร้างนั้นเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจของลูกศิษย์ด้วยเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางคณะศิษย์จึงขออนุญาตจัดสร้างขึ้น ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบหยักแบบมีหูในตัว แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์คือพิมพ์หูเดียว (หายาก) และพิมพ์สองหู มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่นแรก หูเดียว 2484 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่นแรก พิมพ์หูเดียว ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่นแรก สองหู 2484 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่นแรก พิมพ์หูเดียว ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อทองแดงของ คุณตุ๊ก รังสิต
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่นแรก สองหู 2484 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่นแรก พิมพ์สองหู ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่นแรก สองหู 2484 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่นแรก พิมพ์สองหู ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแช่มนั่งเต็มองค์ไม่มีอาสนะสำหรับรองนั่ง องค์หลวงพ่อห่มจีวรคลุมไหล่ มือข้างซ้ายยกขึ้นและมีอักขระขอม "ตัวนะ" ตรงอกหลวงพ่อมีอักขะรขอมตัว "อะ" ใต้รูปหลวงพ่อเป็นรูป "ปืนไขว้" ซึ่งเป็นอุปเท่ห์อย่างหนึ่งทางไสยเวทเรียกกันว่า "ข่มอาวุธ" หรือเรียกว่าเป็นการตัดไม้ข่มนาม ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง"  รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ในหยักทั้ง ๑๖ หยัก มีพระนามย่อพระเจ้าสิบหกพระองค์อ่านได้ว่า "นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอํ"

         ด้านหลัง เหรียญแอ่นเป็นท้องกะทะ ตรงกลางมีอักขระยันต์พระราหู

         เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน มูลเหตุในการสร้างนั้นเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจของลูกศิษย์ด้วยเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางคณะศิษย์จึงขออนุญาตจัดสร้างขึ้น ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์คือพิมพ์หลังกนก และพิมพ์หลังเรียบ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะอัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่น 2  2485 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เนื้ออัลปาก้า ของคุณกอล์ฟ ฟันดะ

เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่น 2  2485 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแช่มครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ 

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จังหวัดนครปฐม ช.ล. ๒๔๘๕"

          กุมารดูดรกหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน พุทธคุณโดดเด่นด้านโชคลาภ ค้าขาย ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง และเนื้อเงิน(หายาก) จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

กุมารดูดรกหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม 2490 เงิน
กุมารดูดรกหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน ของคุณธนาคม ว่องไว
กุมารดูดรกหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม 2490 เงิน-ข้าง
กุมารดูดรกหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน ของคุณธนาคม ว่องไว
กุมารดูดรกหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม 2490 เงิน-ข้างก้น
กุมารดูดรกหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน ของคุณธนาคม ว่องไว

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองกุมารขนาดเล็ก นั่งงอเข่าคู้ มือของกุมารทั้งสองข้างถือสายรกทำท่าคล้ายกำลังดูดอยู่ 

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

         พระขุนแผนหน้าตะโพนหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน พุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตา มหานิยม ลักษณะเป็นพระพิมพ์สามเหลี่ยมปลายมน สร้างด้วยเนื้อดินหน้าตะโพนกลองผสมผงวิเศษต่างๆของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระขุนแผนหน้าตะโพนหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม 2470 เนื้อดินผสมผง
พระขุนแผนหน้าตะโพนหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เนื้อดินผสมผง
พระขุนแผนหน้าตะโพนหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม 2470 เนื้อดินผสมผง
พระขุนแผนหน้าตะโพนหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เนื้อดินผสมผง

         ด้านหน้า เป็นรูปพระพิมพ์พระประธาน คล้ายพระขุนแผน

         ด้านหลัง ปั๊มโค้ด

         พุทธคุณของวัตถุมงคลของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ไม่เป็นสองรองใคร ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีบุคคลที่ประสบพบเห็นด้วยตาอยู่หลายต่อหลายคน อีกทั้งเรื่องวิทยาคม มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดาผู้ที่มีโอกาสพบปะหรือใกล้ชิดกับท่าน 

         จนบางเรื่องเมื่อฟังแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง อย่างเช่น ทอดแหหาปลาบนบก ใช้ลอบดักเงินกลางอากาศ บางเรื่องก็พอจะฟังได้บ้าง อาทิ ย่นหนทาง และหยุดรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ เสกผ้าเช็ดหน้าให้เป็นกระต่าย หรือเสกผ้าอาบน้ำให้กลายเป็นงู สามารถคลุกคลีกับสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น เสือ หมูป่า และสัตว์เลื้อยคลานมีพิษ เช่น งูจงอาง และงูเห่า ได้โดยที่มันไม่ทำอันตราย


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น