โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี น้องชายหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ

ภาพถ่ายหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี
หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี

         หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ หรือ พระครูปัญญาโชติวัฒน์ (เจริญ ธมฺมโชติ) วัดทองนพคุณ ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า เจริญ อ้นแสง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านสามเรือน (บ้านหน้าวัด ) ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ

         โยมบิดาชื่อนายแป้น อ้นแสง โยมมารดาชื่อนางนุ่ม อ้นแสง ตระกูลของท่านเป็นชาวนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๑๒ คน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว คือ นางน้อย เกิดประดับ 

         ท่านเป็นน้องชายของหลวงพ่อพระครูญาณวิลาศ ( แดง รตฺโต ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ เป็นที่น่าสังเกตว่า โยมบิดามารดาของท่านเป็นบุคคลผู้มีวาสนา เพราะมีบุตรชายอุปสมบทและครองสมณเพศอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตถึง ๒ รูป 

         ทั้งยังได้เป็นเจ้าอาวาสที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรทั้ง ๒ รูป ด้วย ครอบครัวของท่านมีฐานะพอมีพอกิน และเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งในละแวกนั้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ หลวงพ่อเจริญ ท่านมีอายุได้ ๑๐ ขวบ ท่านได้ไปอยู่กับพี่ชายของท่านชื่อ จัน ที่อุปสมบทอยู่วัดแก่นเหล็ก ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการศึกษาหนังสือไทยกับท่านพระครูญาณวิสุทธิ (พ่วง) เจ้าอาวาสวัดแก่นเหล็ก จนมีความรู้เขียนอ่านหนังสือไทยได้ดีพอควร

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ท่านมีอายุได้ ๑๓ ปี จึงลาออกจากวัดแล้วมาช่วยโยมบิดามารดาทำนาตลอดมาจนเข้าสู่วัยหนุ่ม

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ท่านมีอายุ ๑๘ ปี ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร เป็นทหารชาววังรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เลขหมายประจำตัว( สักด้วยหมึกดำที่หน้าแขนซ้าย ๓ แถว ) มีข้อความแถวที่ ๑ ว่า "ชาววัง" แถวที่ ๒ "ก.ท." แถวที่ ๓ เป็นตัวเลข "๓๗๙๔" สังกัดอยู่กองโยธา รับราชการอยู่เป็นเวลา ๓ ปี

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลังรับราชการเข้าปีที่ ๔ ท่านได้รับเลือกเข้าเป็นเลขเดือน หรือที่เรียกกันว่า เข้าเดือน มีตำแหน่งเทียบเท่ามหาดเล็กรักษาพระองค์ ขึ้นกับสำนักพระราชวัง นับว่าท่านเป็นผู้มีโชคดีคนหนึ่ง และท่านอยู่รับราชการต่อไป ณ ที่นี้จนครบปีที่ ๕ 

ภาพถ่ายหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี
หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ หลวงพ่อเจริญ ท่านมีอายุครบ ๒๒ ปีบริบูรณ์ ในสมัยที่ท่านกำลังรับราชการอยู่ในปีที่ ๕ นั้น ท่านมีกุศลเจตนาอย่างแรงกล้า คิดว่าเมื่อท่านรับราชการทหารครบ ๕ ปีแล้ว ท่านจะออกไปอุปสมบท 

         เพราะการอุปสมบทถือกันว่าเป็นการสนองพระคุณบิดามารดา เพราะชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิก เชื่อกันว่าหากได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว บิดามารดาย่อมได้รับส่วนกุศล เมื่อได้เห็นชายผ้าเหลืองของบุตรหลานที่ได้อุปสมบทแล้วนั่นเอง 

         ทั้งยังเชื่อมั่นกันว่า ผู้ใดยังไม่ได้ผ่านการอุปสมบทแล้ว ไม่สมควรมีภรรยาก่อน หลวงพ่อเจริญท่านมีความเชื่อมั่นอยู่ในคตินี้ แม้ท่านจะได้ผ่านชีวิตของคนหนุ่มมาและยังได้เข้าไปสู่สถานที่เจริญ

        ซึ่งย่อมได้พบได้เห็นเพศตรงข้ามมาไม่น้อย แต่ท่านก็ไม่ยอมทิ้งความเชื่อมั่นดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านจึงยังครองความเป็นโสดตลอดมา เมื่อท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาครบ ๕ ปี และออกมาจากประจำการแล้ว 

         ท่านจึงเดินทางสู่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ร่มเงาของกา-สาวพัสตร์ต่อไป แต่บังเอิญเมื่อหลวงพ่อเจริญ ท่านกลับมาถึงบ้านเดิมแล้ว พี่ชายของท่าน (หลวงพ่อแดง ได้อุปสมบทไปแล้ว ทางบ้านจึงขาดผู้ที่จะช่วยเหลือโยมบิดาทำนา ท่านจึงต้องอยู่ช่วยทำนาเสียอีก ๑ ปี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ท่านวจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ  ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ( ตามที่ปรากฏในหนังสือสุทธิของท่าน ) ได้รับฉายาว่า "ธมฺโชติ" โดยมี

         หลวงพ่อเปลี่ยน เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูญาณสิสุทธิ (พ่วง) วัดแก่นเหล็ก เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการอ่ำ วัดทองนพคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดทองนพคุณเรื่อยมา เพื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยจากพระอาจารย์ รวมทั้งศึกษาวิชาอื่นจากอาจารย์วัดต่างๆ อีกหลายแห่ง  ท่านได้หมั่นศึกษาวิชานวกรรมต่างๆ และการแพทย์แผนโบราณ

         สำหรับการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น ยังไม่เจริญแพร่หลายอย่างสมัยในปัจจุบัน ท่านจึงไม่มีโอกาสได้เข้าสอบในสนามหลวง และไม่มีดีกรีของความรู้ต่อท้ายนามของท่าน 

         นอกจากเป็นการศึกษาแล้วทรงจำไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านเอง ฉะนั้นแม้ว่าท่านจะมีความรู้ความสามารถพร้อมทั้งวัยวุฒิและจริยาวัตรดีเพียงใด ท่านก็คงมีสภาพเป็นพระภิกษุที่ถือสันโดษรูปหนึ่งเท่านั้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่อเจริญ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระคู่สวด 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงพ่ออ่ำ เจ้าอาวาสวัดได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อเจริญ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณแต่นั้นมา 

ภาพถ่ายหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี
หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี

         วัดทองนพคุณ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีที่ตั้งวัดเนื้อที่ ๑๒ ไร่เศษโดยประมาณ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๓๑ ไร่เศษ โดยประมาณ (รวมที่ตั้งวัดและที่ธรณีสงฆ์)

         วัดทองนพคุณ ชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดตาขุน หรือ วัดนพพ่อขุน ตามคำบอกเล่าว่า มีอุบาสก ๒ คนชื่อตานพ กับตาขุน ตานพเป็นบิดาของตาขุน มีความศรัทธาให้ที่ดินสร้างวัดมีเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่เศษ โดยตั้งชื่อวัดว่า "วัดนพพ่อขุน" เพื่อเป็นอนุสรณ์

         ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗ ต่อมาเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๔ วัดนพพ่อขุนได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดทองนพคุณ" และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน วัดมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้

         ๑. พระอธิการนก

         ๒. พระอธิการเอี่ยม

         ๓. พระอธิการจันทร์

         ๔. พระอธิการชู

         ๕. พระอธิการพราหมณ์

         ๖. พระอธิการเกตุ

         ๗. พระอธิการอ่ำ

         ๘. พระครูปัญญาโชติวัฒน์ (เจริญ ธมฺมโชติ) พ.ศ. ๒๔๖๖ - ๒๕๑๗

         ๙. พระครูโกศลวัชรธรรม (แสน ปภสฺสโร) พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๔๑

         ๑๐. พระครูโกศลวัชรธรรม (จิตติพร จิตฺตสํวโร) พ.ศ. ๒๕๔๑ - ปัจจุบัน

         หลังจากจากที่หลวงพ่อเจริญ ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลังจากท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสได้ยังไม่ถึงปี ท่านได้เล็งเห็นคุณค่าของการศึกษาของบุตรธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ ท่านจึงได้สร้างโรงเรียนสามัญขึ้น ชื่อว่า โรงเรียนวัดทองนพคุณ (เจริญราษฎร์วิทยาคาร) ปัจจุบันเปิดสอนในระดับอนุบาล - ประถมศึกษา

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ หลังจากที่หลวงพ่อเจริญ ท่านได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ "พระครูปัญญาโชติวัฒน์" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙

ปกหนังสืองานพระราชทานเพลงศพหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี
ปกหนังสืองานพระราชทานเพลงศพหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี

         เล่ากันว่าหลวงพ่อเจริญ ท่านจึงมีฐานะเพียงพระครูชั้นสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านปกครองอย่างใด เพราะท่านเป็นพระที่รักสันโดษ และเป็นความพอใจของท่านเป็นอย่างยิ่ง หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานปกครองอื่นๆ

         ท่านได้ศึกษาในด้านคันตุกะและวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์หลายรูปและหลายแห่งจนมีความรู้ความสามารถในที่จะบำเพ็ญสมณะกิจได้ดีแล้ว ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานช่างไม้

         เพื่อให้เหมาะสมกับที่ต้องช่วยเหลือท่านเจ้าอาวาส บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามต่อไป เพราะวัดวาอารามในสมัยนั้นอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก 

         ทั้งเป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องเป็นผู้บูรณะซ่อมแซม ท่านจึงพยามยามฝึกฝนหาความรู้ทางด้านงานช่างไม้จากผู้มีความรู้ดีบ้าง พยายามจดจำผลงานที่ดีๆ ของช่างเก่าๆ บ้าง ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยรักงานประเภทนี้อยู่เป็นทุนอยู่แล้ว 

         ทั้งยังมีความอุตสาหะและความอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ท่านจึงสามารถศึกษางานด้านนี้จนมีความรู้ความสามารถจนนับได้ว่า ท่านเป็นนายช่างที่มีฝีมือดีผู้หนึ่ง 

         จากผลงานของท่านนี้ ท่านจึงได้รับมอบหมายจากหลวงพ่ออ่ำ เจ้าอาวาส และอาจารย์ของท่านให้รับหน้าที่ทางบูรณะและปฏิสังขรณ์พระอารามแทนท่านต่อมา มีผู้เคยเล่ากันมาว่า งานซ่อมสร้างเสนาสนะของวัดทองนพคุณในครั้งก่อนโน้น 

         บางครั้งจ้างช่างไม้ที่อื่นมาทำ แต่ช่างไม้ที่มาทำนั้นถูกท่านท้วงติงฝีมือการทำงาน เพราะช่างทำได้ไม่ดีตามความประสงค์ของท่าน ช่างหลายรายต้องคืนงานไม่ยอมรับทำต่อไป เพราะรู้ตัวดีว่าฝีมือสู้ท่านไม่ได้ 

         ท่านเคยกล่าวแก่บรรดาศิษย์ของท่านว่า เราจ้างเขามาทำเพราะคิดว่าเขาจะฝีมือดีกว่าเรา ถ้าทำได้ไม่ดีกว่าเราหรือต่ำกว่าเรา ก็ไม่จำเป็นจะต้องจ้างมาให้เสียเงินเปล่าๆ เราทำกันเองดีกว่า 

         ฉะนั้นงานช่างไม้ที่วัดทองนพคุณนี้ ส่วนมากจึงสำเร็จด้วยฝีมือของท่าน และงานที่สำเร็จมาแต่ละชิ้นก็นับได้ว่ามีความประณีตและเรียบร้อยดีทุกอย่าง 

         หลวงพ่อเจริญ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ นับรวมสิริอายุได้ ๙๐ ปี ๖๖ พรรษา และมีงานพระราชทานเพลิงศพเมื่อ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ

         เหรียญพระพุทธ วัดทองนพคุณ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญพระพุทธ หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี 2495 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระพุทธ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐานเขียง ๕ ชั้น ใต้รูปพระพุทธมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" เหนือรูปพระมีอักขระขอมในวงกลมไข่ปลาเข้มขลัง

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่นแรก 2500 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเจริญ ธมฺมโชติ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๐" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงคล้ายอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 2508 ทองคำ
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองคำ
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 2508 เงิน
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 2508 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 2508 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเจริญ ธมฺมโชติ" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดทองนพคุณ ๒๕๐๘"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ 

         เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ รุ่น ๓ (แจกทหารรุ่นเสือดำ)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดและแจกให้กับทหารรุ่นเสือดำ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 3 2509 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๓ (แจกทหารเสือดำ) ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาโชติวัฒน์ พ.ศ. ๒๕๐๙ อายุ ๘๓"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระเภาษาไทยเขียนว่า "วัดทองนพคุณ" 

         เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และมอบให้กับจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปแจกให้กับทหารที่ไปสงครามเกาหลี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 4 2511 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๔ (แจกสงครามเกาหลี) ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 4 2511 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๔ (แจกสงครามเกาหลี) ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาโชติวัฒน์" เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระเภาษาไทยเขียนว่า "วัดทองนพคุณ เพ็ชร์บุรี ๒๕๑๑" 

         เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ รุ่นโบสถ์ลั่น

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด โดยเหรียญนี้ได้หลวงพ่อแดงซึ่งเป็นพี่ชายของหลวงพ่อเจริญมาร่วมปลุกเสกด้วยจนเกิดเหตุการณ์โบสถ์ลั่นจนเป็นที่มาของชื่อรุ่น ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 พี่น้อง 2512 ทองคำ
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่นโบสถ์ลั่น ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองคำ
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 พี่น้อง 2512 ทองคำ
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่นโบสถ์ลั่น ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองคำ
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 พี่น้อง 2512 ทองคำ
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่นโบสถ์ลั่น ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองคำ
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 พี่น้อง 2512 เงิน
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่นโบสถ์ลั่น ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 2 พี่น้อง 2512 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่นโบสถ์ลั่น ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อแดงและหลวงพ่อเจริญครึ่งซ้อนกัน องค์หลวงพ่อหันข้างห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแดง หลวงพ่อเจริญ" บนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ รุ่น ๖

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์คือพิมพ์ใหญ่ มีสร้างด้วยเนื้อทองแดง และพิมพ์เล็กมีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 6 2516 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๖ (พิมพ์ใหญ่) ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 6 2516 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๖ (พิมพ์เล็ก) ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาโชติวัฒน์ (เจริญ) ๒๕๑๖ เสาร์ห้า อายุ ๘๙" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ รุ่น ๗ (หันข้าง)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 7 2517 เงิน
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๗(หันข้าง)  ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น 7 2517 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ เพชรบุรี รุ่น ๗(หันข้าง)  ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์หันข้างห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ อายุ ๙๐ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗" บนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อะ อุ มะ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์





หมายเหตุ : วัตถุมงคลรุ่นหลังๆไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น