โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อมี วัดพระทรง พระอาจารย์ยุคเก่าของจังหวัดเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี
หลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี

         หลวงพ่อมี วัดพระทรง หรือ พระครูสุวรรณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระทรง ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี หลวงพ่อท่านมีนามเดิมว่า มี เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านไร่ทอง ตำบลหนองขนาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โยมบิดาชื่อนายมาก โยมมารดาชื่อนางบุญมี

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ หลวงพ่อมี ท่านเมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบเศษ โยมบิดาจึงได้นำท่านไปฝากไว้กับพระอธิการทั่งเจ้าอาวาสวัดพระทรง และได้บรรพชาเป็นสามเณร เล่าเรียนหนังสือขอมและไทย 

         ปี พ.ศ. ๒๔๐๕ หลวงพ่อมี ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพระทรง ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "จนฺทสโร" แต่ไม่ปรากฏชื่อของพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด 

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระทรง เพื่อศึกษาวิชาต่างๆ มาโดยตลอด ท่านมีนิสัย พูดน้อย มักน้อย เคร่งขึมสมถะ และเพียรปฏิบัติเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ตลอดเวลา ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งมีจิตใจบริสุทธิ

         เกิดจิตตานุภาพขึ้นทุกขณะ และเชี่ยวชาญในทางวิปัสนาธรรมยิ่งนัก จนล่ำลือกันว่าท่านเก่ง "ทางใน" มีญาณทัศนะกำหนดรู้หรือเพ่งรู้กาลล่วงหน้าได้ถูกต้องแม่นยำ อย่างที่เรียกว่า "เจโตปริยญาณ" ทั้งนี้ก็เป็นแต่ผู้อื่นพูดยกย่องท่าน ส่วนตัวท่านไม่เคยปริปากคุยโอ้อวดแก่ผู้ไดเลย

         หลวงพ่อมีเป็นหมอน้ำมนต์ (รักษาคนเจ็บป่วย) มีคนมารดน้ำมนต์มากจนใต้ถุนกุฏิท่านน้ำนอง มีเต่ามีปลาอาศัยอยู่ได้ตลอดปี 

         เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เจ้าเมืองเพชรบุรีนับถือท่านมาก ถึงขนาดให้นักโทษ ตักน้ำจากแม่น้ำมาใส่ตุ่ม กอบัวปากกว้าง วันละ ๖-๗ ตุ่มทุกวัน เพื่อให้หลวงพ่อมีไว้ทำน้ำมนต์รักษาคนเจ็บป่วย และท่านเจ้าเมืองได้สร้างเจดีย์กับหอระฆัง ๒ หอ ขึ้นที่หลังโบสถ์ เพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษของท่านและบุตรธิดา ตลอดมาจนถึงบัดนี้

         ต่อมาในสมัยพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทียน บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี คิดทำกังหันน้ำขึ้น ที่ริมสะพานใหญ่หน้าวัดมหาธาตุฝั่งตะวันออก โดยอาศัยกระแสน้ำหมุนกังหันอัตโนมัติ

         ติดกระบอกไม้ไผ่ที่ใบพัดทุกใบให้ตักน้ำไปเทลงในรางน้ำบนตลิ่ง ซึ่งต่อท่อน้ำไหลไปสู่เรือนจำ โดยไม่ต้องใช้นักโทษตักเช่นแต่ก่อน และต่อท่อส่งน้ำแยกเข้าวัดพระทรง ถวายหลวงพ่อมี แทนให้นักโทษไปตักทุกวัน (กังหันน้ำนี้ถูกไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมัยพระยาเพชรพิสัยศรีสวัสดิ์ (แม้น วสันตสิงห์) เป็นเจ้าเมือง)

ภาพถ่ายหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี
หลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี

         ในกาลสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินประทับแรม ณ พระราชมณเฑียรบนพระนครคีรี (เขาวัง) ตอนเช้าวันหนึ่งได้เสด็จประพาสชมตลาดเมืองเพชรแล้ว ก็เลยเสด็จแวะเข้าวัดพระทรง เพราะทรงทราบกิตติศัพท์ว่าหลวงพ่อมีท่านขลังทางทำน้ำมนต์มาก 

         พอเสด็จไปถึงหลวงพ่อมีก็ต้อนรับปฏิสันฐาน เชิญเสด็จให้ประทับบนอาสนะที่จัดรับรองไว้เรียบร้อยแล้ว โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า พระเจ้าอยู่หัว ร.๕ จะเสด็จมา พระองค์จึงทรงฉงนพระทัย รับสั่งถามว่า "จัดรับรองไว้อย่างนี้ทุกวันหรือ"

         หลวงพ่อมีทูลวิสัชนาว่า "เพิ่งจัดรับรองมหาบพิตรเมื่อเช้าตรู่นี้เองถวายพระพร" ซึ่งการเสด็จประพาสครั้งนั้น ไม่เคยรับสั่ง ล่วงหน้าไว้แก่ใครเลย หรือการแวะเข้าวัดพระทรงก็มิได้ทรงตั้งพระทัยไว้ก่อน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อมี ที่ทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยดีเสมอมา ท่านจึงได้รับการพระราชทานสมณศักดิ์ที่ "พระครูสุวรรณมุนี" ในคราวงานเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ ๕ ดังปรากฏหลักฐานประกอบไปสัญญาบัตรพัดยศและเครื่องไทยทาน ที่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้มีทั้ง อาสนะ มีผ้าสักลาดดำปักลาย จ.ป.ร. ๑ ผืน เพื่อใช้คลุมอาสนะด้วย

         หลวงพ่อมี นอกจากท่านจะมีชื่อเสียงในการน้ำมนต์แล้ว ท่านยังได้สร้างวัตถุมงคล เท่าที่ทราบมาจากคนเก่าๆข้างวัดพระทรง เล่าต่อกันมาว่าท่านได้สร้างเสือแกะจากเขี้ยวเสือ และพระปิดตาอีกด้วย โดยเชื่อกันว่าหลวงพ่อมี เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อแก้ว วัดเคลือวัลย์ จังหวัดชลบุรี

         หลวงพ่อมี ท่านเป็นพระเกจิที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทั้งยังเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับหลวงพ่อเปี่ยม (จันทโชโต) วัดเกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ และยังเป็นผู้สอนกรรมฐานให้กับหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม จังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย

ภาพถ่ายรูปหล่อหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี เท่าองค์จริง
รูปหล่อหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี เท่าองค์จริง

         ในส่วนของคำว่า "ตราภูมิ" นั้นคือ เป็นหนังสือของพระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณมักโปรดพระราชทาน คุ้มกันส่วยสาอากรให้แก่ผู้มีความชอบต่อพระองค์ สุดแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯให้คุ้มกันอะไร แล้วตีตราแผ่นดินประทับมอบให้ จึงเรียกว่าตราภูมิคุ้มกัน และมักจะถือกันในหมู่ประชาชนว่าเป็นของขลังคุ้มกันภัยพิบัติได้ด้วย

         หลวงพ่อมี ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ นับสิริรวมอายุได้ ๖๓ ปี ๔๒ พรรษา 

         และหลังจากที่ท่านได้มรณภาพลงแล้ว ทางวัดและศิษยานุศิษย์ของท่านจึงร่วมกันหล่อพระบูชาเท่าองค์จริงของท่านในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ หรือ ร.ศ. ๑๒๗ ดังปรากฏอยู่ที่ฐาน

วัตถุมงคลของหลวงพ่อมี วัดพระทรง

         เหรียญหลวงพ่อมี วัดพระทรง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ในสมัยของหลวงพ่อแล เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมา(ปาดตาล) แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ซึ่งมีทั้งแบบที่มีกระไหล่ทองและไม่มีกระไหล่  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี รุ่นแรก 2496 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี รุ่นแรก 2496 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อมีครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อมี วัดพระทรง ที่ระลึก" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์แบบเดียวกับเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๖" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ 

         พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง พิมพ์ใหญ่ ๒ หน้า

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์และผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อตะกั่วเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี พิมพ์นิยม เนื้อตะกั่ว
พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี พิมพ์ใหญ่ ๒ หน้า ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เนื้อตะกั่ว

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี

         ด้านหลัง เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี

         พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง พิมพ์นิยม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์และผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อตะกั่วเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี พิมพ์นิยม-2 เนื้อตะกั่ว
พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี พิมพ์นิยม ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เนื้อตะกั่ว

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ ในบางองค์มีรอยจาร

         พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง พิมพ์แข้งหมอน

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์และผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อตะกั่วเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี พิมพ์แข้งซ้อน เนื้อตะกั่ว
พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี พิมพ์แข้งซ้อน ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เนื้อตะกั่ว

พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี พิมพ์แข้งซ้อน เนื้อตะกั่ว-ข้าง
พระปิดตาหลวงพ่อมี วัดพระทรง เพชรบุรี พิมพ์แข้งซ้อน ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เนื้อตะกั่ว

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ ในบางองค์มีรอยจาร

 

 

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น