โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต พระเกจิเจ้าของเหรียญหลักล้านของปทุมธานี

ภาพถ่ายหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี
หลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี

         หลวงปู่ช้าง วัดเขียนเขต หรือ พระครูธัญญะนครเขมกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขียนเขต ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พื้นเพท่านเป็นชาวปทุมธานี ท่านเกิดวัดอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๓ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๓ หลวงพ่อช้าง มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามแบบธรรมเนียมนิยม

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๖ หลังจากที่ท่านอุปสมบทได้ ๓ พรรษา ท่านจึงได้ลาสิกขา เพื่อกลับไปช่วยโยมบิดาและโยมมารดาประกอบสัมมาอาชีพ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ หลวงพ่อช้าง มีอายุได้ ๔๔ ปี ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดบางกระดี่ ตำบลบางกะดี่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมี

         พระธรรมานุสารี (สว่าง) วัดเทียนถวาย เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการปิ่น วัดบางกระดี่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางกระดี่เรื่อยมา เพื่อศึกษาพระวินัยและศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอธิการปิ่น 

ภาพถ่ายหลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี
หลวงพ่อสว่าง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี

         หลังจากนั้น ท่านได้ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดเทียนถวาย เพื่อไปศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเข้มขลัง เป็นพระเกจิชื่อดังของเมืองปทุมธานีในสมัยนั้นเลยทีเดียว

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พระอธิการดำ เจ้าอาวาสวัดสาลีเขตาราม (ชื่อเดิมของวัดเขียนเขต) ได้ถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ทางวัดขาดเจ้าอาวาสปกครองวัด ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดพร้อมใจกันเดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อช้างมาเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดสาลีเขตาราม  (ชื่อเดิมของวัดเขียนเขต) ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง 

         วัดเขียนเขต พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ถือเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี วัดตั้งอยู่ที่ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี วัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยหม่อมเขียน หม่อมในพระวรวงศ์เธอเจ้าสาย สนิทวงศ์เป็นผู้มอบถวายที่ดินให้สร้างวัด

         แรกเริ่มเดิมทีนั้น วัดนี้เป็นสำนักสงฆ์ มีหลวงพ่อดำเป็นเจ้าสำนัก ในช่วงแรกวัดนี้สร้างขึ้นโดยเอาไม้ไผ่มาขัดเป็นพื้น (ขัดแตะ) แล้วเอาหญ้าปรือมาทำหลังคาและทำเป็นฝา มีพระเถรจำพรรษามากพอสมควร

         ต่อมาหม่อมเขียน พร้อมด้วยเครือญาติและประชาชนในท้องถิ่นนี้ เห็นความลำบากของพระภิกษุสามเณรที่อยู่จำพรรษาจึงได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์สร้างกุฏิขึ้น โดยสร้างกุฏิไม้ทรงไทย ทางด้านทิศตะวันออกจำนวน ๔ หลัง ทางด้านทิศตะวันตกจำนวน ๒ หลัง เพื่อเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา

พระอุโบสถ วัดเขียนเขต ปทุมธานี
พระอุโบสถ วัดเขียนเขต ปทุมธานี

         วัดเขียนเขต เดิมชื่อว่า "วัดสาลีเขตตาราม" (ไม่ทราบว่าใคร เป็นผู้พระราชทานหรือให้นามวัดไว้ เพราะหาหลักฐานไม่ได้) มีความหมายคือ "อารามอันเป็นเนื้อนาบุญแห่งข้าว" เนื่องเพราะวัดนี้ตั้งอยู่ในทุ่งหลวงรังสิต ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยข้าวกล้า และพืชธัญญาหาร เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

         ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ( ร.ศ. ๑๒๑ ) หม่อมเขียน ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับพระบรมราชนุญาติ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑ จ.ศ. ๑๒๖๔) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๐ หน้า ๘๘ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พศ. ๒๔๔๖ เขตวิสุงคามสีมามีเนื้อที่ยาว ๑๕ วา กว้าง ๘ วา

         วัดเขียนเขตได้สร้างวัดมานามแล้วก็จริง แต่ยังไม่มีโฉนดเป็นของวัดเลย เพราะสืบเนื่องมาจากว่า ที่ดินที่เป็นบริเวณที่ตั้งวัดและที่ธรณีสงฆ์ หม่อมทวีวัฒนศักดิ์ (ม.ร.ว. ทวี) ซึ่งได้มรดก ในที่ดินผืนใหญ่นี้ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กับทางวัด 

         ต่อมาทายาทมิได้ทราบว่าดินที่ได้รับมรดกนี้มีวัดอยู่ด้วย จึงได้ทำการขายโฉนดผืนใหญ่นี้ให้กับผู้อื่นโดยมิได้มีการรังวัดด้วยเลย และผู้นั้นได้ขายทอดต่อมาจนถึงนายปราโมทย์ นางประนีต สุวรรณสุขโรจน์

         ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายสุดท้าย เมื่อนายปราโมทย์ นางประณีตได้ไปสำรวจที่ดิน และทราบว่าที่ดินที่ตนซื้อนี้มีวัดติดอยู่ด้วย จึงได้มอบ คืนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์วัดเขียนเขต จำนวน ๘๔ ไร่ 

ภาพถ่ายหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี กับหลวงปู่ศรี วัดหัตถสารเกษตรคลอง5
หลวงปู่ศรี วัดหัตถสารเกษตร คลอง๕ และหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ขวามือคือโยมเทียม มัคนายกวัดเขียนเขต

         เมื่อทางทายาทหม่อมทวีวัฒนศักดิ์ (ม.ร.ว. ทวี) ทราบจึงติดต่อขอเสียค่าหักโอนที่ดินจำนวน ๘๔ ไร่ เพื่อมอบให้กับทางวัดมีสิทธิ์สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสตั้งแต่สร้างวัดมาจนถึงปัจจุบันดังนี้

         ๑. หลวงพ่อดำ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙–๒๔๔๔)

         ๒. พระครูธัญญเขตเขมากร บวรสมณาจารย์ สังฆวาหะ (หลวงพ่อช้าง) อดีตเจ้าคณะเจังหวัดธัญญบุรี (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๔–๒๔๘๒)

         ๓. พระครูธัญญวิจิตรเขมคุณ (หลวงพ่อเปลื้อง มาควิโก) อดีตเจ้าคณะอำเภอธัญบุรี (ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๒–๒๕๑๒)

         ๔. พระครูอดุลธัญญสาร (หลวงปู่จู ฐานงฺกโร)(ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒–๒๕๑๕)

         ๕. พระปลัดคุ่ย ธมฺมสีโล (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕–๒๕๒๑)

         ๖. พระเทพรัตนสุธี (พระมหาสมศักดิ์ โชตินฺธโร ป.ธ. ๕ น.ธ. เอก พธ.ด.) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ จนถึงปัจจุบัน)

         หลังจากที่หลวงพ่อช้างได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และการสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัดอีกด้วย 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ หลวงพ่อช้าง ท่านได้ร่วมมือกับทายาทของสกุลสนิทวงศ์ ที่ได้บริจาคตำหนักส่วนพระองค์ และที่ดินข้างเคียงกับวัด ก่อตั้งเป็นโรงเรียนสำหรับสตรี ชื่อว่า โรงเรียนสายปัญญา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จมาพักที่วัดนี้ในคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์จังหวัดธัญบุรี (สมัยนั้น) พันตรี ม.ร.ว. สุวพรรณ (ใหญ่) สนิทวงศ์ และพลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) ได้ทูลขอเปลี่ยนนามวัดใหม่ให้เหมาะสมกับผู้ที่ริเริ่มสร้างวัด คือ หม่อมเขียนซึ่งเป็นมารดา

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้พิจารณาเห็นว่าหม่อมเขียนเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดโดยบริจาคทรัพย์ส่วนตัวกับทั้งได้บริจาคที่ดินของตนให้สร้างเป็นวัด พระองค์ทรงเปลี่ยนนาม "วัดสาลีเขตาราม" ให้ใหม่ว่า "วัดเขียนเขต" ความหมาย คือ "อารามอันเป็นเนื้อนาบุญของหม่อมเขียน" และใช้ชื่อนั้นเป็นต้นมา

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อช้าง ที่ได้ปกครองและพัฒนาวัด ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่ พระครูธัญญะนครเขมกิจ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ แทนหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายที่ไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี

         หลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของธัญญะ หลวงพ่อช้างนั้นเป็นศิษย์ในสายวัดเทียนถวาย โดยพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือพระธรรมานุสารี (สว่าง) ตามตำนานกล่าวไว้ว่า โดยสำนักวัดเทียนถวายนั้นมีรากฐานมายาวนานกว่า ๖๐๐ ปี

ภาพถ่ายหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ ปทุมธานี
หลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ ปทุมธานี

         ขึ้นชื่อลือชาในด้านการทำน้ำมนต์และมีเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงต่อเนื่องกันมาหลายองค์ อาทิเช่น พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณเจ้าของตะกรุดหนังหน้าผากเสืออันโด่งดัง หลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวายผู้สร้างรูปถ่ายและตะกรุดหนังเสือที่โด่งดัง

         นอกจากนี้หลวงพ่อช้าง ท่านยังเป็นพระอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้กับหลวงพ่อเหมือน วัดโรงหีบ ผู้โด่งดังด้านน้ำมนต์และสร้างเหรียญรุ่นแรกที่โด่งดังด้านมหาอุดแห่งเขตดอนเมือง รวมถึงหลวงพ่อรักษ์ วัดน้อยแสงจันทร์ พระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วย

ภาพถ่ายหลวงพ่อรักษ์ วัดน้อยแสงจันทร์ สมุทรสงคราม
หลวงพ่อรักษ์ วัดน้อยแสงจันทร์ สมุทรสงคราม

          ตลอดเวลาที่หลวงพ่อช้างท่านได้ดำรงตนอยู่ภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์ ท่านได้เผยแพร่พุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด จนสิ้นอายุขัยของท่าน นับเป็นพระเกจิที่เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในจังหวัดปทุมธานีและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่งอีกรูปหนึ่ง

         หลวงพ่อช้างปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ นับรวมสิริอายุได้ ๘๘ ปี

วัตถุมงคลของหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต

         เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เพื่อในคราวฉลองอายุของหลวงพ่อช้างครบ ๘๐ ปี โดยได้นำเหรียญรุ่นนี้แจกแก่พระภิกษุและสามเณรที่มาสอบนักธรรมตรี โท เอก และผู้ที่ร่วมทำบุญถวายภัตตาหาร ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปพัดยศแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่นแรก 2473 ทองแดง-สวย
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เนื้อทองแดง ของคุณเด่น อยุธยา
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่นแรก 2473 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เนื้อทองแดง ของคุณเกรียงไกร บรรลือศักดิ์

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อช้างครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธัญญะนครเขมกิจ ที่ระลึกในการสอบอภิธรรม วัดเขียนเขต ๒๔๗๓" 

         ด้านหลัง ตรงกลางจำลองเป็นรูปพระปิดตา มีอักขระยันต์ล้อมองค์พระ 

         เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยพระอธิการเปลื้อง เจ้าอาวาสรูปถัดมา เพื่อแจกในงานฌาปนกิจของหลวงพ่อช้าง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปพัดยศแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่น 2 2482 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อทองแดง ของคุณปรก ปการ
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่น 2 2482 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อทองแดง ของคุณปรก ปการ
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่น 2 2482 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อทองแดง ของคุณปรก ปการ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อช้างครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฌาปนกิจ พระครูธัญญะนครเขมากรณ วัดเขียนเขตต์" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อช้าง พ.ศ. ๒๔๘๒"  มีอักขระยันต์ที่ขอบเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อแจกให้ผู้บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด สร้างอนุสาวรีย์หลวงพ่อช้าง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปพัดยศแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่น 3 2503 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต ปทุมธานี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เนื้อทองแดง ของคุณอรรถ โต๊ะแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อช้างครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการสร้างอนุสาวรีย์ พระครูธัญญนครเขมากิจ วัดเขียนเขต ๒๕๐๓" 

         ด้านหลัง ตรงกลางจำลองเป็นรูปพระปิดตา มีอักขระยันต์ล้อมองค์พระ 


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น