โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี เจ้าของหนุมานแกะ ๑ ใน เบญจภาคีเครื่องรางของไทย

ภาพถ่ายหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี
หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี

         หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน หรือ พระอธิการสุ่น อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลากุล ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พระเกจิชื่อดังเจ้าของหนุมานแกะอันโด่งดัง

         หลวงพ่อสุ่น ท่านเป็นชาวรามัญ มีนามเดิมว่า สุ่น นามสกุล ปานกล่ำ พื้นเพเป็นชาวบ้านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เกิดเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๐๓ - ๒๔๐๔ และไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดา

         เมื่ออายุครบบวชแล้ว ท่านจึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดศาลากุน ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้รับฉายาว่า "จันทโชติ" แปลว่า "รุ่งเรืองดุจจันทร์เพ็ญ" โดยไม่ปรากฏนามพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดศาลากุนเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และวิชาอาคมต่างๆจากพระอาจารย์ชื่น เจ้าอาวาสวัดศาลากุลในสมัยนั้น จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระอธิการชื่นเจ้าอาวาสวัดศาลากุลได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อสุ่นขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดศาลากุน เป็นวัดราษฏร์ สังกัด คณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๕ บ้านเกาะศาลากุล หมู่ที่ ๓ ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๖ ไร่ ๑ งาน ๖๒ ตารางวา

         วัดศาลากุน ชาวบ้านเรียกว่า "วัดเกาะศาลากุล" ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ หนังสือเจ้าอาวาส องค์ก่อน บันทึกไว้ว่า "เจ้าวังหลัง" เป็นผู้สร้างวัด 

         จากการศึกษาพบว่า น่าจะเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมมีชุมชนที่มีประชากรไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่เป็นชายตลิ่งที่เป็นที่ดินงอก สัญจรไม่สะดวก 

         เมื่อเริ่มสร้างวัดคงอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำมากนักและมีคลองวัดศาลากุลเป็นทางเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาที่ดินงอกออกไปมาก ทำให้วัดอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาก จึงถูกปล่อยทิ้งร้างมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ 

         จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีเรือสำเภามาจอดที่ปากด่านเพื่อรอรับสินค้า เช่น ครั่ง ข้าว ไม้ฝาง ฯลฯ เพื่อนำไปขายต่างประเทศ 

         โดยเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สมุหนายกที่ได้รับราชการตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ตัวท่านเป็นคนจีน ได้มาสร้างศาลาให้บริวารพักบริเวณใกล้วัด 

         ชาวบ้านเรียกศาลานี้ว่า "ศาลาเจ้าคุณกุน" หรือ "ศาลาจีนกุน" รวมทั้งเป็นชื่อเดิมของเกาะเกร็ดด้วย เมื่อการค้าสำเภายกเลิกไป บริเวณนี้จึงสงบเงียบจึงได้กลายมาเป็นวัด 

         วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาพร้อมกับสร้างวัดในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้

         ๑. พระอธิการสระ

         ๒. พระอธิการสาย

         ๓. พระอธิการแช่ม

         ๔. พระอธิการแป้น

         ๕. พระอธิการจัน

         ๖. พระอธิการจ้อย

         ๗. พระอธิการชื่น

         ๘. พระอธิการสุ่น จันทโชติ พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๘๒

         ๙. เจ้าอธิการเปลี่ยน พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๕๑๑

         ๑๐. พระครูนนทภักรากรณ์ (แป๊ะ) พ.ศ. ๒๕๑๒ - 

         ๑๑. พระสมุห์ณรงค์ชาญ กนฺตธมฺโม

ภาพถ่ายหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี
หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อสุ่นได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         หลวงพ่อสุ่น ท่านเป็นพระเกจิที่มีลูกศิษย์ลูกหานับถือเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้จากวัตถุโบราณที่ทางวัดจัดเก็บไว้ ได้แก่ หีบมุก และโต๊ะหมู่มุก ที่หลวงพ่อสุนสร้างขึ้นมา มีการประดับมุกไฟอย่างดี ฝีมืองดงามมาก พร้อมเครื่องแก้วเจียระไนชุดใหญ่ ที่มีคหบดีนำมาถวายท่านอีกด้วย

         เล่าสืบต่อกันมาว่า ย้อนไปเมื่อครั้งที่หลวงพ่อสุ่นยังเป็นพระลูกวัด ท่านได้ปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณกุฏิ ๒ ชนิด คือ ต้นรักและต้นพุดซ้อน และหมั่นดูแลรดน้ำ

         โดยนำน้ำสะอาดมาทำเป็นน้ำมนต์เพื่อรดต้นไม้ทั้งสองทุกครั้งจนเจริญเติบโต กระทั่งเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงเข้าใจกระจ่างว่า เหตุใดท่านจึงให้ความสนใจดูแลต้นไม้ทั้งสองนี้เป็นพิเศษ

         เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตได้ที่ท่านจึงดูฤกษ์ยามทำพิธีพลีและสังเวยก่อนแล้วลงมือขุดด้วยตัวเอง จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วให้ช่างแกะเป็นรูปหนุมานจนหมด รวบรวมห่อด้วยผ้าขาวใส่บาตรเพื่อปลุกเสกในกุฏิ 

         จนถึงวันเสาร์ซึ่งถือว่าเป็นวันแรง ท่านก็จะเข้าไปปลุกเสกในอุโบสถ จนครบกระบวนการ จึงเก็บไว้แจกจ่ายบรรดาลูกศิษย์และผู้ถวายปัจจัยในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด

         ซึ่งนอกจากหนุมานแกะที่ทำจากต้นรักและต้นพุดซ้อนแล้ว หลวงพ่อสุ่นยังได้แกะหนุมานจากงาช้างด้วย แต่สร้างในรุ่นหลัง ไม่ค่อยได้พบเห็นกันนัก และสนนราคาค่อนข้างสูง

         นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อสุ่นยังเป็นหนึ่งในพระคณาจาจารย์ผู้ลงอักขระบนแผ่นทองแดงใช้เป็นมวล สารในการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกวัดราชบพิธฯ ครั้งที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๘๑) 

         ชาวบ้านนนทบุรีจะทราบกันดีว่า หลวงพ่อสุ่น เป็นสหธรรมิกของหลวงพ่อกลิ่น วัดสะพานสูง โดยท่านมีอายุมากกว่าหลวงพ่อกลิ่นประมาณ ๕ ปี

         หลวงพ่อสุ่น ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุล

         หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุล

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ลักษณะเป็นหนุมานไม้แกะด้วยไม้รักและไม้พุดซ้อน นอกจากนี้ยังมีที่แกะด้วยงาช้างอีกด้วย งานแกะของท่านจะเป็นงานศิลป์ที่ไม่ซ้ำกัน โดยช่างแกะจะแกะอยู่ ๓ แบบ คือ แบบหน้าโขนทรงเครื่อง ,แบบหน้าลิงหัวค่ำ และหน้าลิงกระบี่ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

         หลวงพ่อสุ่น ท่านได้รับสมญาว่า ขุนกระบี่วานร ฤทธิเกริกไกร หนึ่งในสยาม ในวงการพระเครื่อง หนุมาน หลวงพ่อสุ่น ถือว่าเป็นสุดยอดของขลังหนึ่งในชุดเบญจภาคี ที่นักสะสมต้องหามาไว้ครอบครองบูชา

หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ไม้รัก
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ศิลป์หน้าโขนทรงเครื่อง
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ไม้รัก
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ศิลป์หน้าโขนทรงเครื่อง

         ท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงมากและน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก หลวงพ่อสุ่นท่านเป็นต้นตำรับของตำนานการสร้างหนุมานที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีอานุภาพคุ้มครองป้องกันภัย และเมตตามหานิยม

         แก่ผู้ที่มีไว้ครอบครอง มีผู้คนมักถามว่าทำไมหนุมานของท่านถึงมีอานุภาพมาก ลูกศิษย์ของท่านคนนึงเล่าให้ฟังว่า การปลุกเสกหนุมานของหลวงพ่อสุ่นมีความพิเศษ มีความแปลกเเละพิศดารเป็นอย่างมาก ก่อนที่ท่านจะลงมือทำการปลุกเสกหนุมาน

         ในตอนเช้า หลวงปู่สุ่นท่านจะให้ลูกศิษย์ไปตัดต้นไม้ที่มีหนามมาไว้มากๆ ส่วนมากจะเป็นจำพวกต้นไผ่ ต้นมะขามเทศ ต้นพุทธา ส่วนช่วงค่ำท่านก็จะทำวัตรกับพระลูกวัดตามปกติเหมือนทุกวัน หลังจากที่ท่านทำวัตรเสร็จเเล้ว 

หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ไม้พุดซ้อน
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ศิลป์หน้ากระปี่ ของคุณตั้ง สะสมทรัพย์
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ไม้พุดซ้อน
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ศิลป์หน้ากระปี่ ของคุณตั้ง สะสมทรัพย์

         ท่านก็จะเข้าไปในกุฎิประมาณหนึ่งชั่วโมงท่านก็จะออกมา พร้อมกับอุ้มบาตรออกมา เเล้วเรียกลูกศิษย์ให้อุ้มบาตรเข้าไปในโบสถ์ (ท่านกำชับบอกลูกศิษย์ว่าห้ามเปิดบาตรเด็ดขาด ท่านมักพูดลอยๆว่า "ขี้เกียจจับ") 

         เเละท่านก็จะกลับมานั่งทำวัตรอีกครั้ง เมื่อทำวัตรเสร็จเเล้วหลวงปู่สุ่นท่านก็นั่งหันหลังให้พระประธานเเล้วเอาบาตรตั้งไว้ด้านหน้าจากนั้นก็จะให้ลูกศิษย์นำกิ่งไม้มีหนามที่เตรียมไว้

         มาสุมไปที่ตัวท่านให้เต็มจนหาทางเข้า-ออกไม่ได้ ท่านก็จะให้ลูกศิษย์ออกจากโบสถ์เเล้วลั่นกลอนปิดประตูโบสถ์ไว้ และห้ามผู้ใดเข้าออก ครั้นเมื่อถึงเวลาประมาณตี ๔ ท่านจะเรียกลูกศิษย์ให้เข้าไปในโบสถ์

         เพื่อเก็บหนุมานที่ท่านปลุกเสกไว้ติดอยู่กับกิ่งไม้เเละหนามที่สุมตัวท่าน ตัวไหนที่หล่นอยู่กับพื้นให้เเยกไว้ต่างหาก ท่านว่ายังใช้การไม่ได้เพราะปลุกไม่ขึ้น สิ่งที่คาใจในลูกศิษย์คือหนุมานขึ้นไปติดกับกิ่งไม้เเละหนามได้อย่างไร

         ที่สำคัญท่านออกมาจากกองหนามกิ่งไม้ที่สุมตัวท่านได้อย่างไร โดยทุกอย่างอยู่ในสภาพเดิมทั้งสิ้น หนุมานที่หลวงพ่อสุ่นปลุกเสก จะมีด้วยกันสามเนื้อคือ เนื้อไม้ เนื้องาช้าง เเละเนื้อเขี้ยว ลูกศิษย์หลวงพ่อสุ่นยังเล่าให้ฟังอีกว่า

         การใช้หนุมานให้ได้ผลควรจะมีคาถากำกับด้วย เริ่มด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ เเล้วว่ากล่าวว่า "โอม หะนุมานะ นะอย่าทำนะ" หลวงปู่สุ่นยังบอกอีกว่าเวลาไปไหนมาไหน ให้ภาวนาในใจโดยไม่มีหนุมานก็ได้

หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ไม้พุดซ้อน
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ศิลป์หน้ากระปี่ ของคุณตั้ง สะสมทรัพย์
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ไม้พุดซ้อน
หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นนทบุรี ศิลป์หน้ากระปี่ ของคุณตั้ง สะสมทรัพย์

         หนุมานของหลวงปู่สุ่นนับเป็นสุดยอดของขลังในชุดเบญจภาคี เป็นเครื่องรางของขลังที่นักสะสมเฝ้าใฝ่หาไว้มาครอบครองบูชาไม่แพ้เขี้ยวเสือแกะของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

         หลวงพ่อสุ่นท่านเรียนวิชาปลุกเสกหนุมาน จากพระนาคทัศน์ ซึ่งมีคาถากำกับหนุมานให้ว่า "นะมัง เพลิง โมมังปากกระบอก ยะมิให้ออก อุดธังโธอุด ธังอัด อะสังวิสุโรปุสะพูพะ มะอะอุ โอมยะพุทธา ทะโยสตรี สตรี นิสังโห"

         หนุมานหลวงพ่อสุ่นเป็นงานที่แกะขึ้นด้วยมือล้วนๆไม่มีบล๊อกแม่พิมพ์ การพิจารณาดูว่าแท้หรือไม่จึงต้อง เน้นการอ่านฝีมือช่างให้ออก

         ส่วนที่หลวงพ่อสุ่น ท่านไม่ค่อยได้ทำตะกรุด นั้นเป็นไปได้ว่า ท่านไม่ต้องการให้ซ้ำกับสหมิกธรรมร่วมอาจารย์เดียวกันของท่านคือ หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง เพราะเกจิยุคเก่านั้นท่านถือมากเรื่องการทำทับรอยซึ่งกันเเละกัน หรือว่า การทำทับรอยอาจารย์.



ไม่มีความคิดเห็น