ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง ศิษย์เอกหลวงพ่อทองสุข พระเกจิดังของเพชรบุรี
![]() |
หลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง เพชรบุรี |
หลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง หรือ พระครูภาวนาวัชโรภาส อดีตเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ท่านเป็นศิษย์สายของหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เกจิชื่อดังของเพชรบุรี
หลวงพ่อแผ่ว ท่านมีนามเดิมว่า แผ่ว ม่วงมงคล พื้นเพเป็นชาวบ้านตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม เวลา ๐๗.๐๐ ตรงกับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ โยมบิดาชื่อนายชั้ว ม่วงมงคล โยมมารดาชื่อนางเรือน ม่วงมงคล มีพี่น้องรวมกัน ๓ คน
เมื่อเยาว์วัยท่านเป็นเด็กที่เฉลี่ยวฉลาดรักการเรียน โยมบิดาจึงนำท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดโตนดหลวง จนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงพ่อแผ่วมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโตนดหลวง ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "ปณฺฑิโต" โดยมี
หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดโตนดหลวงเรื่อยมา เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย สมถกัมมัฏฐาน และได้รับการถ่ายทอดวิธีการปรุงยาแผนโบราณจากหลวงพ่อทองสุข ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านสอบได้นักธรรมตรี
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงพ่อทองสุขได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อแผ่วขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
![]() |
หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เพชรบุรี |
วัดโตนดหลวง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ในหมู่บ้านโตนดหลวง หมู่ที่ ๙ ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคอยุธยาตอนปลายถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
วัดไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่มีหลักฐานที่เห็นอยู่ปัจจุบันคือ พระอุโบสถมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา มีประตูเดียวหันหน้าไปทางทศตะวันออก มีหน้าต่าง ๒ บาน อุโบสถลักษณะนี้นั้น เป็นรูปลักษณะศิลปะในสมัยอยุธยา และเรียกอุโบสถลักษณะนี้ว่า "อุโบสถมหาอุด"
วัดโตนดหลวง มีตำนานเล่าขาน ในหนังสือประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช ที่พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่อรพินท์ สังข์กังวาน และคุณน้าผิว คล้ายปาน ณ เมรุวัดหัวรำโพง กรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๔ พฤษภคม พ.ศ. ๒๕๒๙
ได้กล่าวไว้ในหน้าที่ ๕ บรรทัดที่ ๕ เมื่อเสียกรุงครั้งหลังในปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระสังฆราชท่านอายุเพียง ๖ ขวบเท่านั้น มารดาได้พาหลบหนีภัยสงครามมาอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงกอบกู้บ้านเมืองขึ้นมาในปีนั้น ท่าน(สมเด็จพระสังฆราช) จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโตนดหลวง แขวงชะอำ เมืองเพชรบุรี
ในระหว่างนั้นท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมไปตามกาลสมัย และได้เดินทางขึ้นลงระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเพชรบุรีอยู่เสมอ จนกระทั้งอายุครบอุปสมบท ได้ทำการอุปสมบทที่วัดยาง แขวงบ้านหม้อ เมืองเพชรบุรี และจำพรรษาที่วัดยาง ๒-๓ พรรษา
แล้วจึงเดินทางเข้าศึกษาพระธรรมบาลีที่กรุงศรีอยุธยา ถึงแม้ขณะนั้นเมืองหลวงได้ย้ายเข้าอยู่ที่กรุงธนบุรีแล้วก็ตาม แต่ภาระพระศาสนานั้นยังเป็นหลักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
สมัยก่อนเชื่อกันว่า วัดโตนดหลวงตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๔๖ หรือก่อนหน้านั้น แต่มาพบหลักฐานทะเบียนวัดที่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้บันทึกไว้ว่า วัดประกาศตั้งวัดโตนดหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๐ แต่วันเดือนไม่ปรากฏ
สำหรับเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง ตั้งแต่อดีต ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดนี้มีกี่รูปแล้วไม่มีหลักฐานหรือบันทึกไว้ แต่เท่าที่มีหลักฐานจากคำบอกล่าของ คุณพ่อพุ่ม คุณแม่เนียม คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าลำดับ เจ้าอาวาสปกครองวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๒ จนถึงปัจจุบันมีดังนี้
๑. หลวงพ่อผลัด พ.ศ. ๒๔๑๒ - ๒๔๓๐
๒. หลวงพ่อเทียน พ.ศ. ๒๔๓๐ - ๒๔๕๗
๓. พระครูพินิจสุตคุณ (หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต) พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๕๐๐
๔. พระครูภาวนาวัชโรภาส (หลวงพ่อแผ่ว ปณฺฑิโต) พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๓๘
๕. พระครูพิพัฒน์นพกิจ (หลวงพ่อย้อน ธมฺมวํโส) พ.ศ. ๒๕๓๘ - ปัจจุบัน
![]() |
พระอุโบสถ วัดโตนดหลวง เพชรบุรี |
หลังจากที่หลวงพ่อแผ่วได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้อยู่ในศีลในธรรมประกอบสัมมาอาชีพสุจริต
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรีที่ พระครูภาวนาวัชโรภาส
หลวงพ่อแผ่วเป็นพระนักพัฒนามองการณ์ไกลและเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนให้เปิดโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลเป็นแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ โรงเรียนวัดโตนดหลวงวิทยา และจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร
ท่านได้รับโล่เกียรติยศในฐานะผู้สนับสนุนการศึกษาดีเด่นจากกระทรวงศึกษาธิการ จัดคลองส่งน้ำ สระน้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนขยายเขตจัดไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านโตนดหลวงและหมู่บ้านใกล้เคียง
ท่านได้บูรณะโบสถ์เก่า ศาลาการเปรียญ กำแพงวัด ตลอดจนเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างโบสถ์วัดโตนดหลวงหลังใหม่อยู่ในเรือสำเภา มีความสวยงาม ด้วยสถาปัตยกรรมของเพชรบุรี ซึ่งเป็นการสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสครองราชย์ครบรอบ ๕๐ ปี อีกด้วย
ทั้งยังเป็นพระที่เคร่งครัดต่อสัจจะวาจาเป็นอันมาก นับว่าหลวงพ่อแผ่ว ท่านได้สร้างคุณประโยชน์แก่วัดโตนดหลวง โรงเรียนวัดโตนดหลวง โรงเรียนวัดโตนดหลวงวิทยา และชุมชน ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำเร็จฌานชั้นสูง สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้
ท่านเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนคนทั่วไป และที่สำคัญยิ่ง นอกจากท่านจะส่งเสริมให้วัดโตนดหลวงเป็นสถานที่สำคัญทางการประกอบศาสนกิจแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งสำคัญด้านสถาปัตยกรรมปูนปั้นที่งดงาม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวเพชรบุรีอีกด้วย
หลวงพ่อแผ่วปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ นับรวมสิริอายุได้ ๖๔ ปี ๓๙ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง
เหรียญหลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้ออัลปาก้า |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้ออัลปาก้า |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อแผ่วครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูภาวนาวัชโรภาส (แผ่ว)"
ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ วัดโตนดหลวง พ.ศ. ๒๕๑๗"
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น