โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท

ภาพถ่ายหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท
ภาพถ่ายหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท

         หลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ หรือ พระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหารสุวิจารณ์สังฆปราโมกข์ (ช้าง อินทสรเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท

         พระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหารสุวิจารณ์สังฆปราโมกข์ ท่านมีนามเดิมว่าช้าง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โยมบิดาชื่อนายโชติ โยมมารดาชื่อนางบัว ท่านเป็นบุตรคนโต มีร่างกายใหญ่โตแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ 

         บิดาจึงตั้งชื่อว่าช้าง ท่านเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี มีเมตตากรุณามาตั้งแต่เป็นเด็ก การศึกษาเมื่ออายุได้ ๙ ขวบครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง โยมบิดาได้พาไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนอักขระขอมกับพระครูเมธังกร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุฯ

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ท่านมีอายุได้ ๑๓ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระครูเมธังกร เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้เริ่มเรียนภาษาบาลี เช่น คำภีร์มูลกัจจายธรรมบท และ มงคลทีปนีจนแตกฉานสามารถแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยได้อย่างเชี่ยวชาญ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๐๕ หลวงพ่อช้าง ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพระบรมธาตุ ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ได้รับฉายาว่า "อินทสโร" โดยมี

         พระครูเมธังกร (จู) วัดพระบรมธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูอินทชาติวรญาณ (อินทร) เจ้าคณะแขวงมโนรมย์ เป็นพระกรรมวาจารย์

         พระอธิการคง วัดบางกระพี้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระบรมธาตุเรื่อยมา เพื่อศึกษาด้านคันถธุระ พระธรรมวินัย บทสวดมนต์ต่างๆ จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมารย

         ท่านจึงมุ่งทางด้านปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน โดยได้รับการถ่ายทอดหลักการปฏิบัติธรรมจากพระครูอินทชาติวรญาณ พร้อมทั้งเชี่ยวชาญด้านอิทธิปาฏิหารย์ เช่น เสกของหนักให้เบาเหมือนนุ่น ย่นระยะทางให้สั้นได้ เป็นต้น

         ต่อมาหลวงพ่อช้างได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมในพระครูเมธังกร (จู) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ นามว่า พระใบฏีกาช้าง 

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ พระครูเมธังกรได้มรณภาพลง คณะสงฆ์จึงได้รับการแต่งตั้งให้หลวงพ่อช้างเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดพระบรมธาตุ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๖ ตำบลชัยนาท อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๒๔ ตารางวา

         วัดพระบรมธาตุ เดิมมีนามว่า "วัดพระธาตุ" และมีนามเรียกอีกนามหนึ่งว่า "วัดหัว- เมือง" สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอํานาจอยู่แถบลุ่มแม่น้ําเจ้าพระยา 

         ภายในวัดมีสิ่งที่สําคัญที่สุดคือ พระเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ ที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในองค์พระเจดีย์เป็นที่สําคัญ แต่ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง มีแต่ตำนานกล่าวกัน ต่อๆ มาว่าองค์พระเจดีย์ได้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งอินเดีย มีโครงสร้างเป็นศิลาแลง

         ครั้นสมัยสุโขทัยในรัชกาลที่ ๔ ตรงกับสมัยพระเจ้าลิไท ได้ทรงจัดการบำรุงและสมโภชพระบรมธาตุในสมัยอยุธยาในรัชกาลที่ ๑๖ สมัยพระมหาจักรพรรดิ เมื่อคราวข้าศึกมารุกรานบ้านเมือง ประชาชนเกิดการ ระส่ำระสาย วัดจึงถูกทอดทิ้ง ขาดการทะนุบํารุงได้ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๒๖๐ ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ รัชกาลที่ ๓๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์บรมธาตุ โดยได้รับการอุปถัมภ์จากสมเด็จพระติหมล พระเถระผู้ใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยา

         ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เนื้อที่กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร 

         ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ตามประกาศลงวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙ มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนาม คือ

         ๑. พระพุทธสรีระ ประมาณ พ.ศ. ๒๒๒๐ - ๒๒๓๐ สมัยอยุธยา 

         ๒. พระอาจารย์ขั้น

         ๓. พระอาจารย์ป่า

         ๔. พระสมุห์เปรม

         ๕. พระครูเมธังกร (จู)

         ๖. พระอินทโมลี (ช้าง)  พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๖๐

         ๗. พระวินัยคํา ติสฺสเกร พ.ศ. ๒๔๖๔ - ๒๔๗๑

         ๘. พระชัยนาทมุนี (หรุ่น) พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๘๕

         ๙. พระปลัดล่ำ รักษาการ พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๕

         ๑๐. พระครูบริรักษ์บรมธาตุ พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๕๐๙

         ๑๑. พระชัยโสภณ (บุญส่ง ภททาจาโร) พ.ศ. ๒๕๑๑ - ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อช้างได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

ข่าวเลื่อนสมณศักดิ์หลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท
ข่าวเลื่อนสมณศักดิ์หลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีพระราชทินนามว่า พระครูอินทโมฬี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองชัยนาท ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓ เล่ม ๑๗ หน้า ๔๙๒ พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหารสุวิจารณ์สังฆปาโมกข์ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท

         ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อช้างดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ และเจ้าคณะอำเภอเมืองชัยนาท ท่านได้พัฒนาวัดโดยการบูรณะก่อสร้างกุฏิวิหาร และสนับสนุนการศึกษาตลอดมา

         การปฏิบัติธรรมของท่านได้รับการยกย่องว่า เคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่ ถือสันโดด ยึดมั่นในระเบียบวินัยกฎเกณฑ์สังฆาณัติคณะสงฆ์และประเพณี จนเป็นที่เกรงขามกันโดยทั่วไป

         ตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองบ้านเมืองคือเจ้าเมืองชัยนาทได้ไปตรวจราชการผ่านมา ขี่ม้ามาในเขตวัดกลับจากการตรวจเยี่ยม เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขราษฏรในเขตท้องที่เป็นเวลาเย็นแล้ว เข้ามาในเขตวัดไม่ได้ถอดหมวก พระอินทโมลีฯได้พบเข้า จึงเรียกตัวขึ้นไปบนกุฏิท่านเข้ามาในเขตวัดไม่เคารพสถานที่ พระอินทโมลีฯได้ใช้อาชญาวัด ใช้ไม้ตีเจ้าเมือง 

         พร้อมทั้งถามว่า เข้ามาในเขตวัดทำไมไม่ถอดหมวก เราเป็นเจ้าหน้าที่ทำเสียเอง เมื่อย่างเหยียบเข้ามาในเขตวัดแล้ว ต้องแสดงความเคารพ แล้วให้เจ้าเมืองกลับไป ต่อมานายอำเภอเมืองไปตรวจราชการมาตอนเย็น เข้ามาในบริเวณวัดไม่ถอดหมวก พระอินทโมลีฯก็เรียกขึ้นไปหาบนกุฏิ แล้วใช้อาญาวัดตีนายอำเภอเช่นกัน 

          สอบสวนแล้วให้กลับไป นายอำเภอไม่พอใจนำความเรื่องนี้ไปเล่าให้เจ้าเมืองฟัง ท่านเจ้าเมืองตอบกลับนายอำเภอว่า เรื่องนี้จะว่าแต่คุณเลย ผมเองก็โดนมาแล้ว เพราะขาดสติเราเป็นผู้นำ ท่านทำของท่านก็ถูกแล้ว ท่านลงอาญาก็ไม่หนักหนาสาหัสอะไร ต่อไปเราต้องควรระวังและต้องมีสติอยู่เสมอ เพราะเราเป็นผู้ปกครองเขา

         ในสมัยนั้นมีอาญาวัด คนดื่มเหล้าเมาสุราเข้ามาใกล้เขตวัดแล้ว เงียบเสมือนคนดี พอออกจากเขตวัดแล้วเสียงดังถนนสามวาไม่พอจะเดิน

         สมัยนั้นไม่ว่าโจรผู้ร้าย จะเคารพพระเห็นพระแล้วเลี่ยงทางยกมือไหว้ ประชาชนราษฏรทั่วๆไป ถือว่าวัดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีใครมารบกวน ขายข้าวได้เกวียนละ ๑๘–๒๐ บาท พร้อมทั้งสร้อยแหวนของมีค่านำไปฝากวัดไว้จะไม่มีใครรบกวน

         สมัยก่อนไม่มีธนาคารจึงอาศัยวัดเป็นที่พึ่ง มีสมบัติฝากวัดไว้ปลอดภัย เหตุการณ์ดังกล่าวมานี้เป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้นวัดเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และกฎหมายได้กำหนดให้มีอาญาวัดด้วย

         หลวงพ่อช้าง ท่านได้เล่าเรียนศึกษา ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากพระครูอินทชาติวรญาณทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐานวิชาไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา วิธีปลุกเศก และอธิฐานจิตต่างๆ จนเป็นที่พอใจของอาจาย์แล้ว

          ท่านก็ได้ทำหน้าที่พระอาจารย์สอนวิชาดั่งกล่าว จนมีคนมาขอเป็นศิษย์เพื่อศึกษากับท่านมากมาย และตัวท่านเองก็มีวิชาอาคมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข ) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท 

         ถึงกับคนเก่าๆของเมืองชัยนาทเล่าสืบกันมาว่าหลวงพ่อช้างกับหลวงปู่ศุขท่านชอบพอกัน แต่หลวงพ่อช้างท่านมีอายุมากกว่าเล็กน้อย มีวิชาด้วยกันทั้งคู่ เคยทดสอบวิชากัน เช่น หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าปลุกเศกใบไม้เป็นเสือสมิง หลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุฯ ปลุกเศกสร้างควายธนู ลองฤทธิ์กัน ต่างก็ทำอะไรกันไม่ได้หมายความว่ามีวิชาพอๆกันทั้งสององค์

ข่าวมรณภาพหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท
ข่าวมรณภาพหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท

         จากคำบอกเล่าของ "หลวงตากุ๋ย" ที่บวชเมื่ออายุมากแล้ว และมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ อายุ ๘๙ ปี ท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อท่านเป็นเด็ก เป็นลูกศิษย์วัดพระบรมธาตุฯเด็กสมัยนั้นเป็นขี้กลากกันมาก  รักษาไม่ค่อยหาย 

         ท่านเล่าว่าเด็กหลายคนพอเห็นหลวงพ่อช้างสรงน้ำบนกุฏิ ก็ชวนกันไปอยู่ใต้กุฏิ พอหลวงพ่อช้างสรงน้ำลงมาก็เอาหัวรับน้ำที่หลวงพ่อช้างสรงน้ำถูตามเนื้อตามตัว ปรากฏว่าขี้กลากหายกันหมดทุกคน 

         หลวงตากุ๋ยท่านเล่าให้ฟังอย่างนี้ก่อนที่จะมรณภาพ จะเป็นความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ของท่านก็ไม่ทราบได้แม้แต่น้ำสรงของท่าน ทำให้โรคขี้กลากรักษาด้วยยาไม่หาย แต่พอได้น้ำที่ท่านสรงแล้ว รองรับมาถูเนื้อถูตัวก็หายกันหมดทุกคนพูดแล้วไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นไปแล้วตามคำบอกเล่า

         หลวงพ่อช้าง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่กาลมรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ

         เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว เข้าใจกันว่าเหรียญได้รับการปลุกเสกจากหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก 2465 เงิน
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก 2465 เงิน
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก 2465 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก 2465 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก 2465 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อช้าง วัดพระบรมธาตุ ชัยนาท รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อช้างนั่งเต็มองค์มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิมีรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีโบภายในโบมีภาษาขอม

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอิทรโมลี ศรีบรมธาตุบริหาร สุวิจาร ณ สังฆปาโมกช ๒๔๖๕"



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น