ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง นครสวรรค์
![]() |
หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง นครสวรรค์ |
หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง หรือ พระครูพยุหานุศาสน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์เหลือง เจ้าคณะจังหวัดพยุหะคีรี ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
พระครูพยุหานุศาสน์ ท่านมีนามเดิมว่าเงิน พื้นเพท่านเป็นชาวพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๔ แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๐๔ หลวงพ่อเงินท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพระปรางค์เหลือง ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับฉายาว่า "ธัมโชติ" แต่ไม่ปรากฏนามพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระปรางค์เหลืองเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ภาษาบาลี และบทสวดมนต์ต่างๆ กับพระอาจารย์สำนักวัดพระปรางค์เหลือง
ต่อมาพระอธิการสี เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์เหลืองมรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเงินขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดพระปรางค์เหลือง เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านท่าน้ำอ้อย หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุทธบุรี จังหวัดนครสวรรค์ มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓๕ ไร่ ๙ งาน
วัดพระปรางค์เหลือง สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เดิมเป็นป่ารกชัฏ วัดอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา มีพระปรางค์เก่าแก่เป็นหลักฐาน ชาวบ้านมักจะเรียกนามวัดสั้นๆ ว่า "วัดพระปรางค์"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จประพาส ๒ ครั้ง วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามคือ
๑. หลวงพ่อขาว
๒. หลวงพ่อเขียว
๓. หลวงพ่อดำ
๔. หลวงพ่อสี
๕. พระครูพยุหานุศาสน์ (เงิน ธัมโชติ)
๖. พระครูพยุหานุสาสน์ (สิทธิ์ ไม่ทราบฉายา) ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านบน
๗. หลวงพ่ออ่อง
๘. หลวงพ่อนวล พุทธสโร
๙. พระครูนิสิตคุณากร (หลวงพ่อสนม อติธัมโม)
![]() |
ข่าวมรณภาพหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง นครสวรรค์ |
หลังจากที่หลวงพ่อเงินได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อเงิน ที่ท่านพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็น พระครูพยุหานุสาสน์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะเมืองพยุหะคีรี (เทียบเจ้าคณะจังหวัด)
ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ มีการรวมเมืองพยุหะคีรี ไปขึ้นกับมลฑลนครสวรรค์ จึงเปลี่ยนเป็นแขวงพยุหะคีรี
หลวงพ่อเงิน ท่านเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากของจังหวัดนครสวรรค์ ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
ที่พอสืบทราบได้คือ หลวงพ่อพวง วัดหนองกระโดน และท่านยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์ให้กับหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
เล่ากันว่าเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จประพาสต้นหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เคยเสด็จขึ้นไปนมัสการหลวงพ่อเงินที่วัด และในคราวนั้นหลวงพ่อเงินได้ทำน้ำพระพุทธมนต์ถวายแก่ท่านด้วย
หลวงพ่อเงินปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงมรณภาพลงด้วยโรคไข้ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๐ นับรวมสิริอายุได้ ๖๖ ปี ๔๖ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง
เหรีญหล่อหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๐ กว่าๆ หลังจากที่หลวงพ่อเงินมรณภาพแล้ว ลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง นครสวรรค์ ทองเหลือง |
![]() |
เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง นครสวรรค์ ทองเหลือง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเงินนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ที่ขอบเหรียญมีอักขระขอม
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น