โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฎิ บางเค็ม เพชรบุรี อาจารย์ของหลวงปู่หนู วัดทุ่งแหลม ราชบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี
หลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม เพชรบุรี

          หลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ หรือ พระครูเกษมสุตคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดกุฏิ ตำบลบางเค็ม  อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า ชุ่ม ปุพนิมิต พื้นเพท่านเป็นคนบ้านกุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ หลวงพ่อชุ่ม ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทครั้งแรก ณ พัทธสีมาวัดกุฏิ ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยมี

         หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อนิล วัดกุฏิ ท่าแร้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการแฉ่ง วัดกุฏิบางเค็ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ที่ก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดกุฏิบางเค็มเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาคาถาอาคมต่างๆ ตลอดจนศึกษาภาษาบาลีตามแบบที่นิยมกันในสมัยนั้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ หลังจากที่หลวงพ่อชุ่มบวชได้ ๔ พรรษา ท่านก็ได้สึกมาแต่งงานกับนางสาวจีน ชาวบ้านนามอญ จนมีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน ชื่อทุเรียน โดยท่านประกอบอาชีพเดินเรือค้าขายข้าวระหว่างเพชรบุรี-กรุงเทพฯ

         ครั้งถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๐ ปี ได้พาเมียและลูกน้อยวัย ๕ เดือนเศษ เดินเรือไปซื้อขายข้าวที่กรุงเทพฯ ระหว่างทางไปนั้นเรือของท่านได้ถูกพายุพัดล่มที่ปากอ่าวบางตะบูน ท่านพาเมียและลูกว่ายน้ำเข้าฝั่งจนพบเรือประมงของชาวบ้านช่วยไว้จนสามารถรอดตายกลับมาได้

ภาพถ่ายหลวงพ่อนิล วัดกุฏิ ท่าแร้ง เพชรบุรี
หลวงพ่อนิล วัดกุฏิ ท่าแร้ง เพชรบุรี

         เมื่อเดินทางกลับมาหาญาติที่บ้านกุ่ม ซึ่งเป็นเวลากลางคืนจึงร้องเรียก แต่ไม่มีใครตอบรับและเปิดประตูให้ด้วยเข้าใจว่าเป็นผีที่ตายทั้งครอบครัวมาเรียก จนเช้าถึงทราบว่ารอดชีวิตมาได้

         ตั้งแต่เหตุการณ์นั้นมา ทำให้ฐานะครอบครัวของท่านยากจนลง จึงย้ายถิ่นฐานมาอยู่กับญาติที่ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ประกอบอาชีพค้าขาย

         จนภรรยาของท่านท้องลูกคนที่ ๒ ภรรยาของท่านเกิดสังหรณ์ใจว่าจะเสียชีวิต จึงได้ขอร้องให้ท่านบวชให้ และบวชแบบไม่สึก ท่านก็รับปากเรื่องบวช แต่เรื่องสึกไม่รับรอง ในที่สุดภรรยาท่านก็เสียชีวิตและเป็นการเสียชีิวตแบบตายทั้งกลม

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ หลวงพ่อชุ่ม ท่านมีอายุได้ ๓๓ ปี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทครั้งที่ ๒ ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์บางเค็ม ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "เขโม" โดยมี

         พระปลัดจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการแฉ่ง วัดกุฏิ บางเค็ม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการอาจ วัดโพธิ์ บางเค็ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดกุฏิ ท่าแร้ง เพื่อศึกษาวิชาต่างๆกับหลวงพ่อนิล จนมีความรู้ความสามารถเป็นที่นับถือของชาวบ้านในระแวกนั้นเป็นอย่างมาก

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อแฉ่ง วัดกุฎิ บางเค็มได้ลาสิกขา ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกุฏิว่างลง ชาวบ้านในพื้นที่จึงพร้อมใจกันเดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อชุ่ม มาเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงโดยชาวบ้านได้นิมนต์ท่านถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา ท่านจึงยอมมาเป็นเจ้าอาวาส

         วัดกุฏิบางเค็ม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี สันนิษฐานกันว่าเดิมคือ วัดกาจับ เป็นวัดโบราณสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งถูกกองทัพพม่าทำลาย 

         ประชาชนได้ย้ายโบราณวัตถุบางอย่างมาสร้างวัดขึ้นใหม่ เป็นวัดกุฏินี้ วัดจัดตั้งเป็นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕ วัดได้รับวิสุงคามสีมา ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ มีรายนามเจ้าอาวาสที่มีการจดบันทึกไว้ดังนี้

         ๑. หลวงพ่อเทียน 

         ๒. หลวงพ่อเปี่ยม

         ๓. หลวงพ่อแฉ่ง

         ๔. พระครูเกษมสุตคุณ (ชุ่ม ปุพนิมิต เขโม)

         ๕. พระครูสุชาตเมธาจารย์ (พระมหาหน บุญมี ฐานกโร)

         ๖. พระครูวิจิตรวัชรธรรม (ไพเราะ บัวแก้ว สิริภัทฺโท)

         ๗. พระอธิการระวี ชื่นชม สุจิตฺโต

ภาพถ่ายพระอุโบสถไม้ วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี
พระอุโบสถไม้ วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อชุ่ม ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นวัดได้ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก ท่านจึงก็ได้พัฒนาวัดทั้งการซ่อมแซมกุฏิ หอฉัน หอสวดมนต์ และศลาการเปรียญ โดยท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้เริ่มสร้างพระอุโบสถไม้สักแกะสลัก แกะสลักโดยนายระย่อม ช่างเมืองเพชรบุรีทั้งหมดคนเดียว โดยนำไม้สักจากจังหวัดนครสวรรค์มาก่อสร้าง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระอุโบสถจึงสร้างเสร็จ ลักษณะเป็นอาคารไม้ขนาด ๗ ห้อง เชิงฝาเป็นคอนกรีต ปรุงฝาไม้เป็นแผงห้องละ ๑ แผง 

         แต่ละแผงแกะสลักภาพเรื่องทศชาติชาดก มหาเวสสันดรชาดก และไซอิ๋ว รวม ๒๑ แผง หน้าบันสร้างเป็นมุขประเจิด ลายหน้าบันด้านหน้าแกะสลักเป็นรูปเงินตราพระมหามงกุฏ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

         ส่วนด้านหลังเป็นรูปเงินตราในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โครงหลังคามีมุขประเจิดด้านหน้าและหลังละ ๑ ชั้น ด้านข้างมีตับหลังคาปีกนกลาดลง ๒ ชั้น 

         เครื่องลำยองเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประดับกระจกปีกนกแผ่กว้างและลดต่ำลง มีลวดลายแกะสลักกันแดด เสาแปดเหลี่ยมรับเชิงชาย ๓๒ ต้น เสามุขเป็นเสาเหลี่ยม ๒๘ ต้น รวมทั้งสิ้น ๖๐ ต้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านได้สร้างกุฏิไม้

         สมัยก่อนมีเรื่องเล่าถึงความเก่งกาจในวิชาอาคมของหลวงพ่อชุ่ม ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า คราวหนึ่งระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์ผ่านตลาดสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในขณะนั้นที่มีเสือลายพาดกลอนตัวใหญ่พลัดหลงจากป่าเข้ามาในตัวตลาด

         ทำให้เสือวิ่งไล่ชาวบ้านกันโกลาหล กระทั่งเสือวิ่งมาประจันหน้ากับหลวงพ่อชุ่ม แต่แทนที่ท่านจะตกใจ ท่านกลับยืนสงบนิ่งแล้วเป่าคาถาสะกดเสือจนแข็งทื่อ จากนั้นท่านก็เอาผ้ารัดอกไปมัดคอเสือแล้วจูงมันกลับเข้าป่าไป เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่เรื่องลือไปทั่ว

         หลวงพ่อชุ่ม ท่านเป็นที่ศรัทธาของชาวบางเค็มเป็นอย่างมาก แต่ท่านเป็นพระที่เก็บตัว กระทั่งวันหนึ่งท่านได้เดินทางไปเยี่ยมหลวงพ่อทอง วัดเขากระจิว พระอาจารย์ของหลวงพ่อตัด วัดชายนา 

         และได้เสกปลักขิกกระโดดต่อหน้าต่อตาคนหลายๆคน หลวงพ่อตัดเห็นเช่นนั้นจึงศรัทธาในตัวหลวงพ่อชุ่มเป็นอย่างมาก จึงฝากตัวเป็นศิษย์ขอเรียนวิชานี้กับท่านในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นั้นเอง 

         นอกจากนี้ท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่หนู วัดทุ่งแหลม ราชบุรี และหลวงพ่อช่อ วัดโคกเกตุ สมุทรสงคราม อีกด้วย

รูปถ่ายหลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิติ์ สมุทรสงคราม
หลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิติ์ สมุทรสงคราม

         รวมทั้งยังเป็นพระเกจิรุ่นพี่ของหลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิติ์ ที่บวชอยู่ที่วัดกุฏิบางเค็ม และได้เรียนวิชาพุทธาคมกับหลวงพ่อแฉ่ง เจ้าอาวาสวัดกุฎิในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อแฉ่ง มีหลวงพ่อชุ่มเป็นศิษย์ที่มีวิชาอาคมเข้มขลังอีกรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของหลวงพ่อโต โดยมีอายุมากกว่าหลวงพ่อโต ๘ ปี

         หลวงพ่อชุ่ม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ นับรวมสิริอายุได้ ๘๘ ปี.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม

         เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหยดน้ำแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี รุ่นแรก 2496 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี รุ่นแรกเสริม 2496 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม เพชรบุรี รุ่นแรกเสริม (๙๖ ติด) ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเกษมสุตคุณ ๒๔๙๖"  

         ด้านหลัง ไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์

         เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี รุ่น 2 2502  ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเกษมสุตคุณ ๒๕๐๒"  

         ด้านหลัง ไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์

         เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิบางเค็ม รุ่น ๓ (แจกงานศพ)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัวแบบเดียวกับเหรียญรุ่น ๒ โดยใช้บล็อกด้านหน้าของเหรียญรุ่น ๒ มาใช้แล้วแกะบล็อกด้านหลังใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี รุ่น 3 แจกงานศพ 2507 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม เพชรบุรี รุ่นแจกงานศพ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเกษมสุตคุณ ๒๕๐๒"  

         ด้านหลัง ไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ๒๕๐๗" 


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น