ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพรชบุรี พระอาจารย์ของหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง
![]() |
หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพชรบุรี |
หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง ตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพรชบุรี ท่านมีนามเดิมว่าหนึ่ง จาบทอง ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ พื้นเพท่านเป็นคนบ้านห้วยโรง ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา โยมบิดาชื่อนายหลำ จาบทอง โยมมารดาชื่อนางอินทร์ จาบทอง โดยท่านเป็นบุตรคนโตจากจำนวนพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๓ คน ในวัยเด็กท่านได้ศึกษาร่ำเรียนวิชาที่วัดห้วยโรงจนอ่านออกเขียนได้
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อหนึ่ง ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี บริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดห้วยโรง ตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้รับฉายาว่า "คํคสุวณฺโณ" โดยมี
หลวงพ่อสิน วัดห้วยโรง (ก่อนย้ายไปวัดปรกสุวรรณาราม) เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อร้าย วัดเขายี่สาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อคง วัดศรัทธาราษฎร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดห้วยโรง เพื่อปฏิบัติสมณกิจ ศึกษาวิชาเขียนอ่านภาษาไทย-ภาษาขอมและพระธรรมวินัยจนแตกฉาน
ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อสิน เจ้าอธิการวัดห้วยโรงได้ย้ายไปเป้นเจ้าอาวาสวัดปรกสุวรรณาราม ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อหนึ่ง ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยโรง ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดห้วยโรง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๙๘/๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยโรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา
เป็นวัดเก่าในยุครัตนโกสินทร์ วัดสร้างเมื่อ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๕ และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้
๑. พระสิน
๒. พระอธิการหนึ่ง คํคสุวณฺโณ
๓. พระครูสุขุมธรรมวิจารณ์ (นิ่ม)
๔. พระครูสิริวัชรคุณ (ถนอม สิริวณฺโณ)
๕. พระครูพัชรธรรมมงคล (พรเทพ)
หลังจากที่หลวงพ่อหนึ่งได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจอำเภอบ้านแหลม และอำเภอเขาย้อย ทรงเสด็จถึงวัดห้วยโรง เวลา ๒ ทุ่มล่วงแล้วของวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ (นับตามปีไทยเดิมคือ ปี พ.ศ. ๒๔๕๘) เสด็จลงประทับที่ปะรําหน้าศาลา มีพวก ราษฎรพากันมาฟังธรรมมากมาย จนที่ในปะรําไม่พอกันนั่ง
จึงโปรดให้ ย้ายพระที่ประทานพระธรรมเทศนาออกไปตั้งใต้ร่มไม้ เสด็จไปประทับ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนราษฎรเหล่านั้น ด้วยหน้าที่อันผู้เป็นพลเมืองดีควร ประพฤติ จบแล้ว ประทานด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือเด็ก เวลายามเศษ เสด็จขึ้น ฯ
ทรงบันทึกไว้ว่า "วัดห้วยโรงนี้ มีภูมิฐานพอใช้ได้ มีบริเวณกว้างใหญ่ มีโบสถ์ วิหาร เป็นเครื่องไม้ มีกุฎีมากหลัง หลังใหญ่ ๆ ก็มี มีพระสงฆ์ถึง ๓๕ รูป เป็นวัด ที่มีพระมากในตําบลนี้ พระอธิการหนึ่ง พรรษา ๒๓ อายุ ๔๓ เป็นเจ้าอาวาส เป็นผู้เอาใจใส่ดูแลรักษาวัดอยู่ ทั้งรู้จักผูกสามัคคีทั่วถึงทั้งชาววัดทั้งชาวบ้าน" ได้ประทานมูลค่าช่วยการปฏิสังขรณ์ ๑๐๐ บาท และประทานจีวรแพรเป็นประสาทการฯ
วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เวลาเช้า (นับตามปีไทยเดิมคือ ปี พ.ศ. ๒๔๕๘) เสด็จรับบิณฑบาตตามหมู่บ้าน ราษฎรแล้ว เสด็จเลยไปทอดพระเนตรห้วยโรง อันอยู่เหนือวัดขึ้นไปราว ๑๕ เส้น เป็นลําห้วยกว้างขนาด ๒ วาเศษ แต่ยาวไปไกลอยู่ ได้ยินว่ามีน้ํา เสมอทุกฤดูไม่ขาด พวกชาวบ้านได้อาศัยใช้น้ําในลําห้วยนี้เอง
แล้วเสด็จกลับมาประทับเสวยเช้าที่วัดพร้อมด้วยพระสงฆ์ มีราษฎรชายหญิงนํา สํารับคาวหวานมาถวายประมาณ ๒๐๐ ราย เสวยแล้ว เสด็จขึ้นพลาง พอพวกชาวบ้านบริโภคอาหารเสร็จแล้ว เสด็จลงประทานพระธรรมเทศนา อนุโมทนาภัตตทานของทายกทายิกาด้วยจักร ๔ ประการ จบแล้ว ทรงนํา อนุโมทนา ประทานของแจกแล้ว เสด็จขึ้น ฯ
เวลาบ่าย ๓ โมงครึ่ง เสด็จลงประทับที่ปะรำ ประทานนามสกุลแก่ ผู้ที่ทูลขอ ประทานของแจกแก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับ และประทานพระรูปไว้ที่ วัดนี้เป็นที่ระลึก เวลาบ่าย ๕ โมง แล้วจึงเสด็จไปวัดท้ายตลาด อันเป็นที่ประทับแรมต่อไป
หลังการตรวจเยี่ยมวัดห้วยโรงครั้งนั้น ท่านจึงได้เสด็จออกพระสงฆ์บนศาลาการเปรียญ วัดท้ายตลาดโปรดให้ พระครูญาณวิสุทธิ์ เจ้าคณะแขวง นำเจ้าคณะหมวดในแขวงนี้เฝ้า ตรัสถาม ความเป็นไปแห่งวัดและพระสงฆ์ในหมวดนั้นๆ
โดยเฉพาะทรงไล่เลียงถึง การตั้งเจ้าคณะหมวด เพราะในบางหมวด เช่น ในหมวดห้วยโรง เจ้าคณะ หมวดอ่อนแอ ไม่ได้การได้งาน เจ้าอาวาสดีกว่าก็มี แต่เหตุไฉนไม่ได้เป็น ทรงทราบว่าเจ้าคณะหมวดเคยอยู่วัดใด เมื่อว่างตัวลง คงเลือกเจ้าอาวาส ใหม่แห่งวัดนั้นให้รับตําแหน่งต่อมา
ทรงตรัสว่า "อํานวยการไม่ถูก ตําแหน่ง เจ้าคณะหมวดไม่จําต้องตั้งยืนที่อยู่วัดเดียว ย้ายไปตั้งที่วัดอื่นก็ได้ ควรถือ เอาความสามารถของผู้เป็นนั้นแลเป็นประมาณ" ตรัสให้ "งดพระอธิการวัน วัดโพบางเค็ม ผู้ตั้งเสีย ให้พระอธิการหนึ่ง เป็นผู้ตั้งคณะหมวดห้วยโรงต่อไป" แล้วทรงประทานย่ามและหนังสือธรรมแจกแก่เจ้าคณะหมวดและเจ้าอาวาสเหล่า
ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ (นับตามปีไทย พ.ศ. ๒๔๕๘) หลวงพ่อหนึ่ง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และรับตำแหน่งเจ้าคณะหมวดห้วยโรง (เจ้าคณะตำบลในสมัยนี้) ตามรับสั่งของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงพ่อหนึ่ง ท่านได้เล็งเห็นคุณค่าของการศึกษาของบุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ ท่านจึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านที่มีความรู้จัดตั้งโรงเรียนวัดห้วยโรงขึ้น โดยในช่วงแรกได้อาศัยศาลาการเปรียญของทางวัดเป็นสถานที่สอน โดยหลวงพ่อหนึ่ง ท่านรับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสืออีกด้วย
ต่อมาได้มีการร่วมมือกับทางราชการและเริ่มว่าจ้างครูมาสอนหนังสือ และเปิดทำการสอนจนกลายเป็นโรงเรียนวัดห้วยโรง (หนึ่งนฤมิตรพิทยาคาร) ในปัจจุบัน
หลวงพ่อหนึ่ง ท่านมีวาจาสิทธิ์พูดอย่างไรจะเป็นอย่างนั้น ในช่วงชีวิตท่านได้ปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังไว้มากมาย อาทิ ผ้าเช็ดหน้านะเมตตามหานิยม ตะกรุดโทน ตะกรุดชุด ๙ ดอก ตะกรุดชุด ๗ ดอก ตะกรุดชุด ๔ ดอก พระนามปี (ด้านหน้าเป็นรูปพระ ด้านหลังเป็นรูปนักษัตรปีต่างๆครบ ๑๒ ปี) แหวนทองเหลือง เสื้อยันต์ ลูกอม (ทำด้วยใบโพธิ์ผสมรัก บรรจุกระดาษลงยันต์ข้างใน)
หลวงพ่อหนึ่ง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๔ พรรษา
ยังความเศร้าโศกมายังพระเณรและศิษยานุศิษย์ของท่าน งานศพท่านได้ตั้งเมรุไว้ ๓ วัน ๓ คืน มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาร่วมงานศพของท่านมากเป็นประวัติการณ์ และมีประชุมเพลิงในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑
วัตถุมงคลของหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สมัยเจ้าอธิการนิ่มเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยกัน ๒ บล็อก คือพิมพ์ยันต์ทะลุ และพิมพ์ยันต์ชน มีการสร้างด้วยเนื้อทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก ยันต์ทะลุ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก ยันต์ชน ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดง |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก ยันต์ชน ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดง ของคุณชาตรี ทางรัตนสุวรรณ |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก ยันต์ชน ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณขวัญชัย สวัสดี |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง" ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๑"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหนือยันต์ห้าเป็นยันต์องค์พระ ๓ องค์ ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม เหนือขึ้นไปเป็นอักขระยันต์ขอม ๔ ตัว อ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้อักขระยันต์ห้า มีอักขระยันต์คงกระพันชาตรีอ่านได้ว่า "อิติปิอรหัง อุดทังอัดโท โทอุดทังอัด นึ มึ พึง หึ" ในพิมพ์ยันต์ชนจะแอ่นเป็นท้องกะทะ ส่วนในพิมพ์ยันต์ทะลุหลังจะเรียบ
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก (ย้อนยุค)
สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับวัดนั้นๆ โดยวัดที่ออกเหรียญรุ่นนี้นั้นมีการสร้างด้วยกันหลายวาระ โดยใช้เหรียญรุ่นแรกเป็นแม่แบบในการสร้าง เช่น วัดสว่างอารมณ์ หรือแม้กระทั้งวัดห้วยโรงเองก็เคยสร้างย้อนยุคออกมาในสมัยของหลวงพ่อถนอมอีกด้วย ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก (ย้อนยุค) ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก (ย้อนยุค) ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง" ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๑"
ด้านหลัง เรียบไม่แอ่นเป็นท้องกะทะ ตรงกลางมีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหนือยันต์ห้าเป็นยันต์องค์พระ ๓ องค์ ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม เหนือขึ้นไปเป็นอักขระยันต์ขอม ๔ ตัว อ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้อักขระยันต์ห้า มีอักขระยันต์คงกระพันชาตรีอ่านได้ว่า "อิติปิอรหัง อุดทังอัดโท โทอุดทังอัด นึ มึ พึง หึ"
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่น ๒๕๐๕
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพชรบุรี รุ่น ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง พ.ศ. ๒๕๐๕"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหนือยันต์ห้าเป็นยันต์องค์พระ ๓
องค์ ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม เหนือขึ้นไปเป็นอักขระยันต์ขอม ๔ ตัว อ่านได้ว่า "พุท
ธะ สัง มิ" ใต้อักขระยันต์ห้า มีอักขระยันต์คงกระพันชาตรีอ่านได้ว่า "อิติปิอรหัง อุดทังอัดโท โทอุดทังอัด นึ มึ พึง หึ"
รูปหล่อหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ สมัยเจ้าอธิการถนอม เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดเพื่อสร้างรูปหล่อหลวงพ่อหนึ่งขนาดเท่าองค์จริง ซึ่งรูปหล่อหลวงพ่อนั้นได้ทำการหล่อ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๐๐.๒๐ น. ลักษณะเป็นรูปหล่อปั๊มสูง ๑ นิ้ว ๒ หุน มีการสร้างด้วยเนื้อทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้![]() |
รูปหล่อหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหนึ่งนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหนึ่ง"
ด้านหลัง มีริ้วจีวรสวยงาม แต่ไม่ปรากฏอักขระใดๆที่ฐานเขียง ใต้ฐานมีรอยกลึงและรอยอุดผงอัฐิด้วยทองแดงโดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น