โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เจ้าของเหรียญเบญจภาคีหลักล้านของเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี
หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี

         หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม หรือ พระสุวรรณมุนี นรสีห์ธรรมทายาทสังฆปาโมกข์ อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาราม ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน มีลูกศิษย์ ลูกหา ทั่วเมืองเพชร เเละจังหวัดใกล้เคียง

         หลวงพ่อฉุย ท่านมีนามเดิมว่า ฉุย ยังอยู่ดี พื้นเพท่านเป็นคนเพชรบุรีมาแต่กำเนิด เกิดที่บ้านสะพานช้าง ตำบลต้นมะม่วง แขวงคลองกระแชง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๑ ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ ๔ โยมบิดาชื่อนายนง ยังอยู่ดี โยมมารดาชื่อนางนก ยังอยู่ดี หลวงพ่อท่านเป็นบุตรคนโต จากจำนวนพี่น้อง ๕ คน

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึงได้เข้ารับการแุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดคงคาราม ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี  ได้รับฉายา "สุขภิกขุ" โดยมี

         พระพิศาลสมณกิจ (สิน) เจ้าอาวาสวัดคงคาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระปลัดอบ วัดคงคาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์ครุฑ วัดมหาธาตุ เป็นอนุสาวนาจารย์

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดคงคารามเรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาและเรียนภาษาบาลีต่างๆจนชำนาญ

         หลวงพ่อฉุย ท่านได้มุ่งศึกษาทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ โดยเฉพาะด้านวิปัสสนาธุระ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ครุฑ วัดมหาธาตุ ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อร่ำเรียนวิชาวิปัสสนาธุระ และคาถาอาคมต่างๆ จนสำเร็จวิชา

         ต่อมาหลวงพ่อฉุย ท่านได้มุ่งทางพุทธภูมิเป็นจุดหมายปลายทาง ท่านจึงได้กระทำอย่างตั้งใจเต็มที่ ด้วยความอุตสาหะวิริยะพากเพียรอย่างเเรงกล้า ตลอดเวลาติดต่อกัน ๗ พรรษาไม่ว่างเว้น แต่ในด้านวิปัสสนาธุระของท่านได้บรรลุถึงความสำเร็จได้อภิญญาสมดังที่มุ่งหมายตามที่ท่านตั้งใจ

         ต่อมาพระพิศาลสมณกิจ(ริด) เจ้าอาวาสวัดคงคารามได้มรณภาพลง ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคงคารามได้ว่างลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อฉุยขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

         วัดคงคารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๐ 

         จากจารึกที่หน้าหอสวดมนต์ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒๓๙๔ พระองค์ทรงยกเงินพระคลังข้างที่จำนวนหมื่นชังกับทองร้อยชั่ง ไว้สำหรับการปฏิสังขรณ์พระอาราม วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

ภาพถ่ายหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี นั่งเก้าอี้หวาย
หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี (นั่งเก้าอี้หวาย)

         หลังจากที่หลวงพ่อฉุย ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการบูรณปฏิสังขรณ์ การสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ เสนาสนะที่เห็นเด่นชัดและยังคงเห็นได้ในปัจจุบันคือ 

         พระมณฑป ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่มีหลังคาลดถึง ๕ ชั้น เป็นทรงสูงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงจอมแหเหยียบมุขจตุรมุข มีเครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง มีระเบียงรอบ มีบันไดขึ้นสี่ทิศ เสาผนังก่ออิฐถือปูน

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อฉุย ที่ท่านพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่พระครูสุวรรณมุนี เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นโท ขึ้นเป็นที่ พระสุวรรณมุณี นรสีห์ธรรมทายาท สังฆปาโมกน์ และเลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี

          หลวงพ่อฉุย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ นับสิริรวมอายุ ๖๕ ปี ๔๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม

         เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อแจกในงานฉลองมณฑปของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ข้างกระบอก มีหูเชื่อมด้วยนํ้าประสานเงิน เหรียญแบ่งออกไปเป็น ๒ พิมพ์ คือบล็อกโมมีไส้และบล็อกโมไม่มีไส้ โดยพิจารณาที่ตัวอักขระขอมคำว่า "โม" ถ้ามีขีดขวางตรงกลางคือ "บล็อกโมมีไส้" แต่ถ้าไม่มีขีดขวางตรงกลางก็คือ "บล็อกโมไม่มีไส้" มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี รุ่นแรก 2465 โมมีใส้ ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ บล็อกโมมีใส้ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี รุ่นแรก 2465 โมมีใส้ ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ บล็อกโมมีใส้ เนื้อทองแดง ของนายแพทย์มาณพ
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี รุ่นแรก 2465 โมไม่มีใส้ ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ บล็อกโมไม่มีใส้ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉุยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญจะแกะลวดลายดอกไม้และโบประดับอย่างสวยงาม ในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ." ด้านบนขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๖๕" ด้านล่างซ้ายมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุวร" และด้านล่างขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รณมุณี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ คล้ายยันต์กระบองไขว้อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ตรงกลางยันต์เป็นอักขระขอมอ่านว่า "สะ"

         เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อ โดยพระครูวิสุทธิเมธาจาร์ย(หลวงพ่อกรานต์) เจ้าอาวาสรูปถัดมา โดยมีการสร้างพร้อมกับรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงของท่าน เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ข้างกระบอก มีหูเชื่อมด้วยนํ้าประสานเงิน ปลุกเสกโดยหลวงพ่อมงคลมณีปัญญา หลวงพ่อแฉง และพระเกจิคณาจารย์จังหวัดเพชรบุรีในสมัยนั้น  มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี รุ่นสอง 2467  ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี รุ่นสอง 2467  ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองแดง

        ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉุยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญจะแกะลวดลายดอกไม้และโบประดับอย่างสวยงาม ในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ." ด้านบนขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๖๗" ด้านล่างซ้ายมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุวร" และด้านล่างขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รณมุณี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ คล้ายยันต์กระบองไขว้อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ตรงกลางยันต์เป็นอักขระขอมอ่านว่า "สะ"

         เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม ออกวัดบ้านไผ่

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดบ้านไผ่ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว บางเหรียญเป็นหูเชื่อม ปลุกเสกโดยพระเกจิคณาจารย์จังหวัดเพชรบุรีในสมัยนั้น มีการสร้างด้วยเนื้อองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี รุ่นออกวัดบ้านไผ่ 2512 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม ออกวัดบ้านไผ่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดง

        ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉุยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญจะแกะลวดลายดอกไม้และโบประดับอย่างสวยงาม ในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ." ด้านบนขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๖๗" ด้านล่างซ้ายมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุวร" และด้านล่างขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รณมุณี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ คล้ายยันต์กระบองไขว้อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ตรงกลางยันต์เป็นอักขระขอมอ่านว่า "สะ"

         เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นครบรอบ ๕๐ ปี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ปลุกเสกโดยพระเกจิคณาจารย์จังหวัดเพชรบุรีในสมัยนั้นอาทิ หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ หลวงพ่ออบ วัดถ้ำแก้ว หลวงทองสุข วัดบันไดทอง หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี ฯลฯ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี รุ่นครบ 50 ปี 2516 เงิน
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นครบรอบ ๕๐ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี รุ่นครบ 50 ปี 2516 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม รุ่นครบรอบ ๕๐ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดง

        ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉุยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญจะแกะลวดลายดอกไม้และโบประดับอย่างสวยงาม ในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ." ด้านบนขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๖๕" ด้านล่างซ้ายมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุวร" และด้านล่างขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รณมุณี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ คล้ายยันต์กระบองไขว้อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ตรงกลางยันต์เป็นอักขระขอมอ่านว่า "สะ" ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ครบรอบ ๕๐ ปี ๒๕๑๖"

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เป็นคำนำไว้ในหนังสือที่เเจกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อฉุย ว่า

          "ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะรับเป็นธุระ รู้สึกว่าได้มีส่วนช่วยงานศพพระสุวรรณมุนี ซึ่งเป็นผู้ที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยชอบพอมาช้านาน ตั้งแต่ท่านเป็นพระครูอยู่ในรัชกาลก่อน เป็นอาจารย์วิปัสสนา มีศิษย์หามากกว่าใครๆ ทั้งเมืองเพชรบุรี และเป็นผู้มีอัชฌาศัยเรียบร้อยมั่นคงในพระธรรมวินัย

         แม้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประธานสกลมหาสงฆ์ ยังทรงยกย่องในวัตรปฎิบัติของท่าน เเละโปรดมาแต่ครั้งนั้น"

         จากข้อความที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงไว้นี้ ย่อมมีคุณค่าเเละน้ำหนักยิ่งกว่าคำขีดเขียนใดๆ ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 

         แม้แต่พระครูญาณวิลาส (หลวงพ่อแดง) วัดเขาบันไดอิฐ เคยกล่าวไว้ว่า "อาจารย์ท่านมีองค์เดียว" คือหลวงปู่ฉุย วัดคงคาราม ที่ประสาทวิชากรรมฐานให้โดยสมบูรณ์ และยังพกเหรียญหลวงปู่ฉุย ติดย่ามตลอดเวลา 


อ้างอิง :  หนังสืออนุสรณ์งานครบรอบมรณภาพ ๗๐ ปี พระสุวรรณมุนี(ฉุย)

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น