โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลเสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส เจ้าของเสือโลหะหลักแสนของกรุงเทพฯ

ภาพหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ
หลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ

         หลวงพ่อวงษ์  วัดปริวาส หรือ พระครูขันตยาภิราม อดีตเจ้าอาวาสวัดปริวาส แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ท่านมีนามเดิมว่า วงศ์ เจริญกุล พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านบางโพงพาง อำเภอบ้านทวาย (ยานนาวาในปัจจุบัน) กรุงเทพฯ ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕ โยมบิดาชื่อนายเลียบ เจริญกุล โยมมารดาชื่อนางจั่น เจริญกุล มีพี่น้องร่วมกัน ๘ คน โดยท่านเป็นคนที่ ๕ 

         ในวัยเยาว์ โยมบิดาได้พาท่านไปฝากเรียนหนังสือกับพระที่วัดปริวาส จนสอบไล่ได้เทียบชั้นระดับประถมศึกษา ๔ (สูงสุดในสมัยนั้น)

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี ก็ถูกเกณฑ์เป็นทหารเรือที่กรมสรรพาวุธ บางนา จนท่านปลดประจำการ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านมีอายุได้ ๒๓ ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดปริวาส แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับฉายาว่า "วังสปาโล" โดยมี

         พระครูวินยานุบูรณาจารย์ (หลวงพ่อเชย) วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระปลัดไม้ วัดปริวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการน้อย วัดด่าน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดปริวาสเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย บทสวดมนต์ และพระคาถาต่างๆจากพระอาจารย์

ภาพถ่ายหลวงพ่อเชย วัดโปรดเกศเชษฐาราม กรุงเทพ
หลวงพ่อเชย วัดโปรดเกศเชษฐาราม กรุงเทพ พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อวงษ์

         หลวงพ่อวงษ์ ท่านชอบเป็นพระนักปฏิบัติ ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา โดยได้ศึกษาเพิ่มเติมที่วัดทองธรรมชาติ, วัดสามปลื้ม และวัดมหาธาตุฯ จนได้นักธรรมชั้นตรี ท่านชำนาญทางด้านบาลีแบบมูลกัจจายน์ และภาษาขอมบาลี, ขอมไทย 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระปลัดไม้ เจ้าอาวาสวัดปริวาส ได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อวงศ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทน ตำแหน่งที่ว่างลง ท่านจึงได้หยุดการศึกษาและการสอบนักธรรม เพื่อจะได้บริการงานภายในวัดได้อย่างเต็มที่

         วัดปริวาสราชสงคราม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 

         วัดปริวาสราชสงคราม เดิมชื่อ วัดปริวาส สันนิษฐานว่าสร้างราวปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์หรือวัดเล็กๆ อยู่กลางสวน ไม่ทราบนามผู้สร้าง 

         ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒–๓ มีหลักฐานว่า พระยาเพชรพิชัย(เกษ) และพระยาราชสงคราม(ทัต) ร่วมกันเป็นแม่กองงาน ได้รับมอบหมายในการสร้างพระนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) รวมถึงวัดต่างๆ หลายวัด เช่น วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร และวัดโปรดเกศเชษฐาราม 

         แล้วจึงเห็นว่ามีวัดปริวาสที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำมีสภาพทรุดโทรม จึงได้นำวัสดุที่เหลือมาทำการบูรณะใหม่จนสวยงามแล้วตั้งชื่อว่า วัดปริวาสราชสงคราม ตามบรรดาศักดิ์ของท่านลงท้ายชื่อวัดนี้ด้วย วัดมีรายนามเจ้าอาวาสที่ปกครองวัด ตามที่มีผู้สืบค้นไว้มีอยู่ ๙ รูป ได้แก่

         ๑. หลวงปู่ม่วง

         ๒. หลวงปู่สุข

         ๓. พระอธิการเฮ้า

         ๔. พระอธิการเปลี่ยน

         ๕. พระอธิการโคก

         ๖. พระปลัดไม้

         ๗. พระครูขันติยาภิราม (พระอุปัชฌาย์วงษ์)

         ๘. พระครูใบฏีกาเจียม สุขิโต

         ๙. พระครูพิศาลพัฒนพิธาน

         หลังจากที่หลวงพ่อวงษ์ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ หลวงพ่อวงษ์ได้รับประกาศแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฏร์ชั้นตรีเป็นที่ พระครูขันตยาภิราม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

         หลวงพ่อวงษ์ ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาปรุงยาสมุนไพร และสูญฝีด้วยปูนกินหมาก รวมทั้งการจับยามสามตาจาก (พระปลัดไม้) ซึ่งมีผู้ป่วยและลูกศิษย์มารับการรักษาอยู่เสมอ 

         นอกจากนี้ท่านยังเรียนรู้ วิชาการเล่นแร่แปรธาตุ การต้มปรอท การรักษาโรค การเขียนผงลบผง โดยเฉพาะผงนะปถมัง และผงอิทธิเจ การอาบน้ำมนต์ และการวิปัสสนากรรมฐาน จากปู่เนียน สังข์เนตร ฆราวาสแห่งอาศรมบางวัว 

          และได้ศึกษาการวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ซึ่งพระบวชใหม่ในแถบบางโพงพางช่วงนั้น ถ้าจะออกธุดงค์ต้องมาขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อพุ่ม ก่อนออกเดินธุดงค์ทุกครั้ง

ภาพหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ
หลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ

         วัตถุมงคลยุคต้นหลวงพ่อวงษ์ เริ่มสร้างวัตถุมงคลประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นพระพิมพ์สมเด็จเนื้อผง ท่านเขียนผงได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง ๓๐ ปี ท่านเขียนผง นะปถมัง และผงอิทธิเจ 

         ซึ่งหลวงพ่อใช้เวลาเขียนลบผงทั้ง ๒ อย่างกว่า ๑๐ ปี จนได้ผงพอสมควรแล้ว ท่านก็เริ่มทำพระผงพิมพ์สมเด็จ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงพ่อตำผงผสมผงพิมพ์พระ แต่ได้พระไม่มากเท่าไหร่ เพราะว่าท่านผสมผง นะปถมังและผงอิทธิเจมาก จึงเปลืองผงมากเนื้อพระก็มีมวลสารน้อยเพราะมีผงมาก 

         และพระของท่าน จะถูกน้ำไม่ได้จะละลายเป็นก้อน พระของท่านมีดินสอพองเป็นหลัก มีกล้วยเป็นตัวประสาน มีข้าวสุกตากแห้ง พระของท่านจึงมีกลิ่นหอม ถ้าเก็บรักษาไม่ดีจะมีแมลงกัดแทะ ทำให้พระของท่านเหลือมาถึงปัจจุบันน้อยมาก

         พระพิมพ์สมเด็จของท่าน เป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก มักจะมีผู้ที่ชอบขูดขอบพระบ้าง เจาะด้านหลังบ้าง แช่น้ำบ้าง เพื่อนำผงของพระไปใช้ในทางเสน่ห์เรื่องผู้หญิง และใช้ได้ผลดี จนมีเรื่องมาถึงท่านหลวงพ่อต้องคอยแก้ไข จนท่านต้องเอ่ยปากแช่งผู้ที่นำผงไปใช้แล้ว ได้ผลแต่ไม่รับผิดชอบเลี้ยงดู "ขอให้ฉิบหาย" ท่านจึงนำพระผงที่เหลือไปบรรจุในเจดีย์ 

         วิชาการสร้าง และปลุกเสกเสือหล่อโลหะของหลวงพ่อวงษ์ ที่สร้างตั้งแต่รุ่น ๑ ถึงรุ่น ๖ ซึ่งเริ่มสร้างในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ถือเป็นวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ของนักสะสมเครื่องรางของขลังในรูปแบบเสือ 

         ทั้งแบบปั๊มโลหะและหล่อโบราณ ที่หลวงพ่อวงษ์ ท่านได้สร้างไว้ พระเกจิอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถ ในการสร้างและปลุกเสกเสือตามแบบที่ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย ซึ่งหลวงปู่ปานได้ศึกษาวิชาการสร้างเสือมาจากหลวงปู่แตง วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในด้านวิชาต่างๆ มากมายในสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

         สำหรับวิชาการสร้างเสือและปลุกเสกเสือนั้น หลวงพ่อวงษ์ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่ปาน ทางนิมิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นระยะเวลาหลายปี จนกระทั่งสำเร็จวิชาการสร้างเสือ 

         หลวงพ่อวงษ์จึงได้สร้างเสือครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และทุกครั้งที่มีการสร้างเสือ หลวงปู่ปานจะมาร่วมพิธีด้วยการผ่านร่างประทับทรง จนถึงรุ่นหก ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ 

         ในการสร้างและปลุกเสกเสือนั้น หลวงพ่อวงษ์จะนั่งปลุกเสกเสือจนกระทั่ง เสือโลหะนั้นกระโดดได้เหมือนมีชีวิต จึงหยุดปลุกเสก บรรดาศิษย์ที่ศรัทธาในยุคนั้น เห็นท่านปลุกเสกเสือกระโดดได้เป็นเรื่องปกติ จึงศรัทธาเลื่อมใสมาก 

         โดยท่านได้กล่าววาทะอันเป็นที่รู้กันในหมู่ศิษย์ของท่านว่า "ตอนกูปลุกเศกเสือรุ่น ๑ นั้น กูเพิ่งจบชั้นประถม แต่เสือรุ่น ๖ นั้น กูจบปริญญาแล้ว พวกมึงว่ารุ่นไหนจะดีกว่ากัน"

         จากบันทึกถ้อยคำบอกเล่าของปู่เสงี่ยม เถื่อนอิ่ม ที่มีอายุ ๙๑ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยเล่าว่าตนเองเคยบวชที่วัดปริวาสนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เล่าว่า สมัยก่อนคนมาเที่ยวงานประจำปีจะมีแต่เรื่องทะเลาะวิวาทเป็นประจำ หลวงพ่อวงษ์จึงตัดชื่อท้าย "ราชสงคราม" ออกเสียคงไว้แต่ชื่อ "วัดปริวาส" ให้ใช้เรียกกันเท่านั้น (แต่ในทางราชการยังใช้ชื่อเดิม)

         หลวงพ่อวงษ์ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส

         เสือโลหะหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเสือโลหะปั๊ม สร้างจากเนื้อทองผสมที่เหลือจากรูปเหมือนหลวงปู่ปาน(วัดบางเหี้ย) ที่เทหล่อเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑  โดยหลวงพ่อได้นำชนวนโลหะที่เหลือไปผสมปั้มเป็นเสือเนื้อทองผสมทองเหลือง แล้วทำพิธีปลุกเศกในอุโบสถวัดปริวาสฯ มีหลวงพ่อและหลวงปู่ปานผ่านร่างประทับร่วมปลุกเศก จนเสือโลหะเคลื่อนไหวได้จึงเสร็จพิธี และได้ออกให้ลูกศิษย์บูชาองค์ละ ๑๐ บาท จำนวนการสร้าง ๕๐๐ องค์

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่นแรก 2501 ทองผสม
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองผสม ของคุณไพศาล คล้ายทอง

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่นแรก 2501 ทองผสม-ข้าง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองผสม ของคุณไพศาล คล้ายทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปเสือคล้ายกับพิมพ์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย มีอักขระยันต์จมลึกลงไปในพิมพ์ 

         ด้านหลัง ตอกโค้ดตัว "เฑาะห์" และโค้ดตัว "พุท" ก้นเรียบและมีรอยประกบพิมพ์

         เสือโลหะหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเสือโลหะปั๊มแบบเดี่ยวกับเสือรุ่นแรก โดยหลวงพ่อได้ทำพิธีปลุกเศกในอุโบสถ มีหลวงพ่อและหลวงปู่ปานผ่านร่างประทับร่วมปลุกเศก จนเสือโลหะเคลื่อนไหวได้จึงเสร็จพิธี และได้ออกให้ลูกศิษย์บูชาองค์ละ ๒๐ บาท มีสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๑,๐๐๐ องค์

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 2 2504 ทองแดง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้อทองผสม ของคุณอัครเดช ลิ้มประดิษฐากร

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 2 2504 ทองแดง-ข้าง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้อทองผสม ของคุณอัครเดช ลิ้มประดิษฐากร

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปเสือคล้ายกับพิมพ์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย มีอักขระยันต์จมลึกลงไปในพิมพ์ 

         ด้านหลัง ไม่ตอกโค้ด ก้นเรียบและมีรอยประกบพิมพ์

         เสือโลหะหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเสือโลหะปั๊ม โดยคุณโมรา เอี๋ยววัฒนะ เป็นผู้ติดต่อได้เปลี่ยนช่าง โดยหลวงพ่อได้ทำพิธีปลุกเศกในอุโบสถ มีหลวงพ่อและหลวงปู่ปานผ่านร่างประทับร่วมปลุกเศก จนเสือโลหะเคลื่อนไหวได้จึงเสร็จพิธี และได้ออกให้ลูกศิษย์บูชาองค์ละ ๒๐ บาท มีสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๒,๕๐๐ องค์

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 3 2508 ทองแดง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง ของคุณโทน บางแค

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 3 2508 ทองแดง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง ของคุณโทน บางแค

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปเสือคล้ายกับพิมพ์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย มีอักขระยันต์จมลึกลงไปในพิมพ์ 

         ด้านหลัง ก้นเรียบและมีรอยประกบพิมพ์

         เสือโลหะหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเสือหล่อโบราณ โดยหลวงพ่อได้จ้างช่างติ่ง(จ่าติ่ง) ท่านนำแบบตัวอย่างไปให้สั่งทำราคาองค์ละ ๑ บาท จำนวน ๒,๐๐๐ องค์ แต่ช่างทำไม่ทันตามฤทษ์ที่ท่านกำหนด โดยหลวงพ่อได้ทำพิธีปลุกเศกในอุโบสถ มีหลวงพ่อและหลวงปู่ปานผ่านร่างประทับร่วมปลุกเศก จนเสือโลหะเคลื่อนไหวได้จึงเสร็จพิธี และได้ออกให้ลูกศิษย์บูชาองค์ละ ๕๐ บาท มีสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๑,๒๐๐ องค์

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 4 2512 ทองแดง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองเหลือง

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 4 2512 ทองเหลือง-ข้าง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปเสือคล้ายกับพิมพ์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย มีอักขระยันต์จมลึกลงไปในพิมพ์ ตอกโค้ดตัว "เฑาะห์" 

         ด้านหลัง ตอกโค้ดตัว "พุท" ก้นเรียบ

         เสือโลหะหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส รุ่น ๕

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเสือหล่อโบราณ แบบเดียวกับรุ่น ๔ โดยหลวงพ่อได้ทำพิธีปลุกเศกที่วิหาร เพราะโบสถกำลังบูรณะอยู่ มีหลวงพ่อและหลวงปู่ปานผ่านร่างประทับร่วมปลุกเศก จนเสือโลหะเคลื่อนไหวได้จึงเสร็จพิธี และได้ออกให้ลูกศิษย์บูชาองค์ละ ๕๐ บาท มีสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ องค์

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 5 2514 ทองเหลือง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองเหลือง ของคุณกิตติ โพธิ์พิสุทธิ์

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 5 2514 ทองเหลือง-ข้าง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองเหลือง ของคุณกิตติ โพธิ์พิสุทธิ์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปเสือคล้ายกับพิมพ์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย มีอักขระยันต์จมลึกลงไปในพิมพ์ ตอกโค้ดตัว "๙" ไทย

         ด้านหลัง ตอกโค้ดตัว "พุท" ก้นเรียบ มีรอยประกบพิมพ์

         เสือโลหะหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส รุ่น ๖

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเสือโลหะปั๊มแบบเดี่ยวกับเสือรุ่น ๓ โดยพระพิมล อิทธิเตโช เป็นผู้ติดต่อร้านทำในราคาองค์ละ ๑.๕๐ บาท สั่งทำจำนวน ๕๐,๐๐๐ องค์ แต่เพราะแม่พิมพ์แตก ต้องใช้แม่พิมพ์ถึง ๘ อัน ทำให้ทางร้านต้องคืนงานหลวงพ่อ เนื่องจากร้านขาดทุน เพราะเสียค่าแม่พิมพ์มาก โดยหลวงพ่อได้ทำพิธีปลุกเศกในอุโบสถ มีหลวงพ่อและหลวงปู่ปานผ่านร่างประทับร่วมปลุกเศก จนเสือโลหะเคลื่อนไหวได้จึงเสร็จพิธี และได้ออกให้ลูกศิษย์บูชาองค์ละ ๑๐๐ บาท มีสร้างด้วยเนื้อเงิน จำนวน ๒๙ องค์ เนื้อทองแดงและเนื้อทองแดงอาบปรอท จำนวน ๓๗,๕๐๐ องค์

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 6 2519 เงิน
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๖ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเงิน

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 6 2519 เงิน-ข้าง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๖ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเงิน
เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 6 2519 ทองแดง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๖ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

เสือหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น 6 2519 ทองแดง-ข้าง
เสือหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส กรุงเทพ รุ่น ๖ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปเสือคล้ายกับพิมพ์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย มีอักขระยันต์จมลึกลงไปในพิมพ์

         ด้านหลัง ไม่ตอกโต้ดใดๆ ก้นมีรอยตะเข็บและมีรอยตัด



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

 บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น