โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ(บางสงบ) พระเกจิสายเหนียวของพระนครศรีอยุธยา

ภาพถ่ายหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา
หลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา

         หลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ หรือ พระอธิการจั่น วัดบางสงบ ตำบลบางนา อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของพระนครศรีอยุธยา ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๘๐ โยมบิดาชื่อนายทบ โยมมารดาชื่อนางทรัพย์ 

         ชีวิตเมื่อครั้งเยาว์วัยได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านอยู่กับวัด สมัยก่อนโรงเรียนหายากจึงเล่าเรียน กับพระตามวัด จนกระทั่งอ่านออกเขียนได้ ทั้งภาษาไทยและอักษรขอม

         ปี พ.ศ. ๒๔๐๓ หลวงพ่อจั่น ท่านมีอายุได้ ๒๓ ปี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดบางมอญ(บางสงบ) ตำบลบางนา อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับฉายาว่า "จันทสโร" โดยมี

         พระอาจารย์อินทร์ วัดตาลเอน เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระมหากระต่าย วัดระฆัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์จีน วัดบางมอญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางมอญเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและบทสวดมนต์ พระคาถาต่างๆ จากพระอาจารย์จีน

        นอกจากนั้นท่านยังได้เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมกับพระอาจารย์อินทร์ และพระมหากระต่าย จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย

         ต่อมาพระอาจารย์จีนได้ถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่วงเจ้าอาวาสวัดว่างลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อจั่นขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

        วัดบางมอญ หรือ ปัจจุบันเรียกว่า วัดบางสงบ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๔ ตำบลบางนา อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

         วัดบางมอญ สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๗ ช่วงแรกๆวัดไม่มีชื่อวัด แต่มีเรื่องเล่ากันต่อมาที่วัดแห่งนี้ในบางคืนจะได้ยินเสียงปีพาทย์ มโหรี และแว่วเสียงพูดคุยประชุมกัน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า "วัดเทพชุมนุม" 

         ต่อมาชาวบ้านในพื่นที่ได้เปลี่ยื่อวัดนี้ใหม่ว่า "วัดบางมอญ" เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อาศัยของชาวมอญ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งว่า "วัดบางสงบ" และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน วัดมีรายนามเจ้าอาวาสที่สืบค้นได้ดังนี้

         ๑. พระอาจารย์จีน

         ๒. พระอุปัชฌาย์จั่น จันทสโร

         ๓. พระอุปัชฌาย์แหยม

         ๔. หลวงพ่อเชียว ธรรมโชติ

         ๕. หลวงพ่อเมือง

         ๖. หลวงพ่อพวง ธรรมปัญโญ (เย็นสุข)

         หลังจากที่หลวงพ่อจั่นได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็ได้เริ่มพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จึงทำให้วัดบางมอญ มีเสนาสนะครบถ้วนสมบูรณ์ในสมัยท่าน และวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อจั่น ท่านมีอายุได้ ๕๕ ปี พรรษาที่ ๓๒ ท่านก็ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรอยู่ในเขตอำเภอมหาราช และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวดบางนา (เจ้าคณะตำบล) อีกตำแหน่งด้วย

         คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่าหลวงพ่อจั่น ท่านเป็นพระที่มีรูปร่างสูงใหญ่แบบคนโบราณ เก่งกาจเรื่องคาถาอาคม ท่านเป็นสหธรรมิกธรรมกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม หลวงปู่รอด วัดสามไถ และหลวงพ่อกรอง วัดเทพจันทร์ลอย 

         เหรียญหล่อของท่านที่สร้างไว้มีพุทธคุณคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด กันเขี้ยวงา เป็นที่เสาะแสวงหามาตั้งแต่โบราณ ใครห้อยติดคอไว้ไม่มีตายโหง

         หลวงพ่อจั่น ปกครองวัดเรื่อยมาจนแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันอาทิตย์ ปีเถาะ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เวลา ๔ โมง นับรวมสิริอายุได้ ๙๑ ปี ๖๘ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ

         เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา 2465 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองเหลือง ของคุณโทน บางแค

เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา 2465 ทองเหลือง-1ข้าง
เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองเหลือง ของคุณโทน บางแค

เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา 2465 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองเหลือง ของคุณโทน บางแค

เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา 2465 ทองเหลือง-2ข้าง
เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองเหลือง ของคุณโทน บางแค

          ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อจั่นนั่งเต็มองค์บนอาสนะมือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิมีรัดประคต 

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์




โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น