ประวัติและวัตถุมงคลของหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ เจ้าของเบี้ยแก้อันดับหนึ่งเมืองอ่างทอง
หลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ อ่างทอง |
หลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ หรือ พระอธิการภักตร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ตำบลโพธิ์ม่วงพันธ์ อำเภอสามโก้ ท่านเป็นเจ้าของเบี้ยแก้อันดับหนึ่งเมืองอ่างทอง และเหรียญรูปเหมือนพระสงฆ์แพงอันดับหนึ่งเมืองอ่างทอง ความหายากของเหรียญท่านนั้นเอาเป็นว่าชี้ตัวคนมีกันได้เลยทีเดียว
วิชานิ้วเพชรท่านก็เป็นต้นวิชาที่แลกเปลี่ยนกับ หลวงพ่อเต่า วัดน้ำพุ ตะโพนงาแกะต้นตำรับดั้งเดิม ก็หลวงพ่อภักตร์ เขี้ยวเสือแกะ มีพยานและคนที่ทันหลวงพ่อหลายท่านเล่าตรงกันว่าท่านต้องเสกจนกระโดดกัดก้อนเนื้อ ถึงจะใช้ได้
หลวงพ่อภักตร์ ท่านมีนามเดิมว่า ภักตร์ บุญรอด เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ ปีมะเมีย ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ณ หมู่บ้านท่ามะขาม ตำบลดอนปรู อำเภอวิเศษชัยชาญ(ปัจจุบันเป็นอำเภอศรีประจันต์) จังหวัดอ่างทอง
โยมบิดาชื่อนายถมยา บุญรอด เป็นชาวบ้านอบทม โยมมารดาชื่อนางพุก บุญรอด เป็นชาวปทุมธานี (เป็นชาวรามัญ) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๘ คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๓
เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มโยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากไว้กับหลวงปู่เถื่อน เจ้าอธิการวัดหลวง จังวหัดอ่างทอง เพื่อเรียนหนังสือ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ หลวงพ่อภักตร์ ท่านมีอายครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพะรภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดอ้อย ตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ได้รับฉายาว่า "จณฺทสุวณฺโณ" โดยมี
พระอธิการเถื่อน วัดหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ติดตามพระพี่ชายคือท่านเจ้าคุณรัตนมุนี (เจ้าคุณบาง ซึ่งเป็นพระพี่ชายแท้ๆของหลวงพ่อ) ไปจำพรรษาที่วัดหงษ์รัตนาราม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทำนุบำรุง
ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ หลวงปู่เนตร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ได้มรณภาพลง ชาวบ้านจึงมานิมนต์ให้ท่านกลับไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์
ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ หลวงพ่อภักตร์ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์อย่างเป็นทางการ
วัดโบสถ์ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลโพธิ์ม่วงพันธ์ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
วัดโบสถ์ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายหลังเป็นวัดร้างมีสภาพทรุดโทรม ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๒๕
ภายในวัดมีอุโบสถเก่าแก่สมัยอยุธยามีรูปแบบทรงมหาอุด ที่ชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงให้ความนับถือ ซุ้มประตูและกรอบหน้าต่างไม่เหมือนลักษณะการตกแต่งใดๆ ได้รับการซ่อมแซมจนรูปแบบผิดแผกไปจากเดิมจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม
คงเหลือแต่เพียงประตูทางเข้าด้านหน้า ๑ ช่อง และหน้าต่างด้านละ ๒ ช่อง ซึ่งพอจะยืนยันได้ว่าเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยา รอบอุโบสถมีใบเสมาหินทรายคู่อยู่ในซุ้มตามแบบศิลปะจีน
สิ่งที่หน้าสนใจของวัดนี้คือ คือ พระปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถที่ยังเป็นของเดิม แต่เนื่องจากไม่การบูรณะซ่อมแซมจึงทรุดโทรมมากจนไม่อาจศึกษารูปแบบได้
แต่จากโครงสร้างที่ยังคงเหลืออยู่ สังเกตได้ว่าลักษณะของพระปรางค์องค์นี้เหมือนกับพระปรางค์ที่สร้างในสมัยอยุธยาทั่วไป เรือนธาตุเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก มีซุ้มนำยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ ด้านตะวันออกเจาะเป็นช่องคูหาขนาดใหญ่
แต่มีคนลักลอบขุดจนชำรุดทรุดโทรมมาก นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทรายสีแดงและเทาจำนวนมาก มีขนาดหน้าตักกว้างตั้งแต่ ๐.๓๐ - ๑.๐๐ เมตร จากศิลปะที่ปรากฏบนองค์พระพอประมาณอายุได้ว่าอยู่ในราวต้นพุทธ-ศตวรรษที่ ๒๑ และพุทธศตวรรษที่ ๒๒
หลังจากที่หลวงพ่อภักตร์ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก
ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบล)
หลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ อ่างทอง |
ในด้านการศึกษาวิชาอาคมนั้น เริ่มแรกท่านได้ศึกษาจากอาจารย์วาต หรือ ครูวาต ซึ่งเป็นคฤหัสถ์และเป็นลูกผู้พี่ของท่านเอง โดยพื้นเพของครูวาตเป็นชาวบ้านท่ามะขาม อดีตเคยเป็นมหาโจรอยู่แถวชานเมืองอ่างทองและสุพรรณบุรี
เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยชรา จึงได้เลิกลาจากการเป็นโจรสรรพวิชาต่างๆ ที่ได้เรียนมาท่านถ่ายทอดให้หลวงพ่อภักตร์ทั้งหมดเช่น วิชาการทำเบี้ยแก้ ทำตะกรุดโทน ทำผ้ายันต์แดง เป็นต้น
อาจารย์ต่อมาคือหลวงปู่บุญ หรือครูบุญ เป็นภิกษุเรืองอาคมธุดงค์มาปักกรด บริเวณวัดโบสถ์ หลวงพ่อภักตร์ท่านรับรู้ถึงวิทยาคม จึงนิมนต์ท่านมาจำพรรษาที่วัดโบสถ์
ภายหลังเมื่ออายุมากหลวงปู่บุญท่านสึกออกมา หลวงพ่อภักตร์ท่านก็อุปถัมภ์ดูแลจนกระทั่งครูบุญเสียชีวิต (เรื่องครูบุญนี้มีเหตุ พบศพครูบุญฝังไว้ในโอ่งใต้ดินพร้อมกับตำราของท่าน ตอนถางที่ขยายโรงเรียนวัดโบสถ์)
วิชาที่ได้รับการถ่ายทอดมา ได้แก่วิชาการปลุกเสกเขี้ยวเสือแกะ การเสกงาช้าง วิชาตระกรุดพญาคชสาร พอกด้วยผงงาช้าง และอีกหลายวิชา
นอกจากนี้ท่านยังศึกษาจากตำราเก่าดั้งเดิมที่หลวงพ่อท่านสืบสายมาจากสายของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งหลวงพ่อภักตร์ท่านก็ถือเป็นศิษย์ต่างจังหวัดอีกรูปหนึ่ง
โดยหลวงปู่เนตรได้แนะนำให้หลวงพ่อภักตร์ไปกราบขอเรียนวิชา ซึ่งในช่วงวัยหนุ่ม สรรพวิชาของหลวงปู่ศุข ที่หลวงพ่อภักตร์ท่านใช้คือ ยันต์ตัวนะ ท่านใช้สักกระหม่อม
ซึ่งในยุคแรกๆ หลวงพ่อท่านถือเป็นอาจารย์สักมือฉมัง เพราะสักแล้วต้องลองด้วยขวาน หรือมีดดาบประจำตัวท่าน การสักนั้นต้องสักในโบสถ์เท่านั้น และต้องตั้งเครื่องบูชาชุดใหญ่ หัวหมูซ้ายขวา เมื่อสักแล้ว ท่านจะปลุกให้ทันที และต้องลองทุกครั้ง
การลองนั้นจะลองตอนรู้ตัวก็ดีไม่รู้ตัวก็ดี บางครั้งเมื่อลูกศิษย์เดินออกจากโบสถ์ ท่านจะเอาขวานขว้างตามหลังไปเลย หรือไม่ก็อีดาบฟันเข้ากลางหลัง และท่านสั่งไว้นักหนาว่า สักกับท่านถ้าเจอศัตรูต้องสู้ห้ามหนี เพราะหนังดี หนีเขามันเสียชื่อลูกศิษย์วัดโบสถ์
มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนมาขอสักกับหลวงพ่อ พอสักแล้วรู้ว่าหลวงพ่อต้องลองแน่ ขณะนั้นเกิดอะไรไม่ทราบ จึงลุกหนีหลวงพ่อ หลวงพ่อโมโหมาก คว้าขวานขว้างเข้ากลางหลังเต็มแรงจนถึวกับคว่ำหน้า แต่ก็ไม่ระคายผิว
ดังนั้นท่านจึงสั่งกำชับว่า สักกับท่านห้ามหนี ในสายวิชาวัดโบสถ์นั้น ยันต์สำคัญๆที่ถือเป็นยันต์ครู ยันต์หนึ่ง คือยันต์หนุมาน ซึ่งมีหลายยันต์ประกอบกัน และยันต์พรหมสี่หน้า ซึ่งการเสกนั้นไม่เหมือนใคร
ยกตัวอย่างเช่นยันต์หนุมาน ต้องเสกในโบสถ์เจ็ดวันเจ็ดคืน เสกกลางวันต้องให้อาทิตย์ทรงกลด เสกกลางคืนต้องให้ดาวตามตำราขึ้น จึงจะถือว่าสำเร็จ
อีกประการหนึ่ง วิชาสายนี้เน้นมากด้านการหนุนธาตุ การเสกให้มีชิวิต เสกให้ขยับได้ ไม่ว่าวัตถุมงคลนั้นจะเป็นประเภทใด ต้องเสกให้ขยับ จึงจะถือว่าสำเร็จ
ในสมัยก่อนนอกจากการสักแล้ว เครื่องรางของหลวงพ่ออีกอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อ คือตระกรุด ท่านจะนำตะกั่วลงยันต์แล้วหลอมให้เป็นน้ำ ทำให้เป็นแผ่นโดยการเทเข้าไปในใบลานแล้วปิดทับ ให้แบน พอตะกั่วแห้งก็จะแบนตามรูปใบลาน(ใบลานที่ใช้เทศ) หลังจากนั้นจึงเอาแผ่นตะกั่วเอามาลงอักขระ
เมื่อเสร็จแล้วก็จะถักเชือกบ้าง ไม่ถักบ้าง บางครั้งท่านก็ร้อยเชือกทำเป็นตระกรุดเป็นเอวและร้อยไปพร้อมกับเบี้ยแก้ก็มี แจกไปเดี่ยวๆก็มี มีลูกศิษย์ทางบ้านโพธิ์ศรีเคยได้ไปหนึ่งเอว พุทธคุณนั้นเหนียวเป็นเลิศ นอกจากนั้นก็จะมีพิรอดแขน ผ้าประเจียด ผ้ายันต์ ลูกกลองตะโพน สิงห์งาแกะ เป็นต้น
หลวงพ่อภักตร์นั้น ท่านเป็นพระที่ดุ และดุแบบนักเลงโบราณ คือถึงเนื้อถึงตัวกันเลย ท่านจะมีมีดดาบและขวานประจำตัว บางครั้งท่านก็นั่งทับไว้ ถ้าใครบุ่มบ่ามหรือเข้ามาวุ่นวาย ไม่โดนฤทธิ์ดาบก็โดนขวาน แค่หลวงพ่อหยิบออกมาก็วงแตก
สำหรับหลวงพ่อถ้าจะลองก็ลองกันจริงๆ ครั้งหนึ่งท่านแจกตระกรุดให้กับลูกศิษย์คนหนึ่ง ท่านแกล้งทำตระกรุดหล่นลงไปในร่องกุฏิ ร่วงลงไปใต้ถุน ท่านสั่งให้ลูกศิษย์คนนั้นลงไปเก็บ พอลงไปแล้วกำลังก้มลงหยิบตระกรุด หลวงพ่อท่านเอาแหลนกระทุ้งลงไปจากบนกุฏิ เข้าเต็มกลางหลัง แต่ก็ไม่เข้า
การจะขอวัตถุมงคลในยุคแรกๆนั้นไม่ง่าย เพราะขอเสร็จอาจโดนขวานโดยไม่รู้ตัว คนจึงกลัวกันมาก แม้แต่พระเณรก็ยำเกรงหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าเอ่ยถึงหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ คงหนีไม่พ้น เบี้ยแก้ ซึ่งเบี้ยแก้ของหลวงพ่อมีประสบการณ์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน หรือเรียกว่ายุคระดมพลตามคนท้องถิ่นเรียกกัน
สมัยนั้นหลวงพ่อท่านทำเบี้ยออกมาจำนวนไม่น้อย เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน และทหาร ที่ออกสงคราม มีทั้งแบบถักเชือกและไม่ถักเชือก เบี้ยของท่านมีอิทธคุณ เป็นมหาอุตม์ คงกระพันกันเขี้ยวงา และกันคุณไสยคุณคนคุณอัปมงคลต่างๆได้อย่างที่เรียกว่า มีความเชื่อถือกันแบบสุดๆ
เพราะเจอกันมากับตัว เห็นกันมากับตาก็หลายท่าน มีด ปืน กระทั่งขวาน โดนกันมาหมดครับ เบี้ยแก้ท่านไม่มีใครคัดของออกได้ ไม่มีเสื่อม ใส่กระเป๋ากางเกง พกชายผ้าซิ่นได้สบายๆ คือใช้ง่ายพกติดตัวง่าย เบี้ยแก้ถ้าเสื่อมง่ายโดนเขาคัดของออกง่ายก็หมดท่า เสียเวลาเสกปล่าวๆ
เบี้ยหลวงพ่อภักตร์จึงเป็นที่เชื่อถือและมีราคาแพงเป็นเบี้ยแก้เบอร์หนึ่งของเมืองอ่างทองมานานตั้งแต่ยุคก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เพราะว่าตำรับตำราต่างๆที่สายวิชาเบี้ยในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญหรือเมืองอ่างทองนี้ ล้วนแต่ได้รับการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนวิชามาจากหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ทั้งสิ้น เช่น หลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน เป็นต้น
ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองมีความสนิทสนมกับหลวงพ่อภักตร์และมีความเกี่ยวดองกันเครือญาติเสียด้วยซ้ำไป นอกจากความศักสิทธิ์ในสายวิชาแล้ว วิธีการสร้างหรือการทำเบี้ยของหลวงพ่อก็มีความชำนาญมากแบบทำได้อย่างใจนึกเลยทีเดียว
เรื่องราวนี้ได้รับการยืนยันจากหลวงพ่อหรุ่ม วัดบางจักร หรือ พระภาวนานุสิฐเถระ พระเกจิอาจารย์ผู้มีเชื่อเสียงในด้านวิปัสนาธุระ และวิทยาคมเป็นที่เลื่อมใสของศิษย์ยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งปัจจุบันท่านมรณะภาพไปแล้วด้วยพรรษา ๘๐ กว่าพรรษา อายุร้อยกว่าปี เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยที่ท่านยังพรรษากาลไม่มาก ท่านได้ติดตามพระครูวิเศษสังฆการ หรือ หลวงพ่อจันทร์ เกสโร วัดบางจักร ซึงสมัยนั้นหลวงพ่อจันทร์ท่านเป็นเจ้าคณะแขวงวิเศษชัยชาญ
ท่านได้เดินทางไปตรวจการคณะสงฆ์ที่วัดโบสถ์ ครั้งนั้นท่านจำวัดที่วัดโบสถ์ ๓ คืนด้วยกัน พอตกช่วงค่ำของคืนวันหนึ่งหลวงพ่อจันทร์กับหลวงพ่อภักตร์ ท่านก็สนทนาธรรมกันตามปกติในฐานะสหธรรมมิกที่สนิทสนมกันมาก
หลวงพ่อจันทร์ท่านกระเซ้าหลวงพ่อภักตร์ว่า เบี้ยแก้นี่มันทำยากไหม ท่านก็นิ่งและก็พูดออกมาว่า ก็ไม่เห็นมันจะยาก ก็เอาเบี้ยมาวาง พลางท่านหยิบฝาบาตรมาหงายและเอาเบี้ยแก้วางลงบนฝาบาตร อีกมือหนึ่งหยิบขวดปรอทเทลงไปในฝาบาตร
ระหว่างที่ท่านทำท่านก็คุยกับหลวงพ่อจันทร์ไปด้วย พอเทปรอทลงฝาบาตรเสร็จท่านก็เอานิ้วเคาะข้างๆฝาบาตร และท่านก็พูดว่า เอ้าเฮ้ยเข้าๆ เข้าๆ ทันใดนั้น ปรอทสีขาววิ่งเป็นเส้นเข้าไปในตัวเบี้ยแก้อย่างน่าอัศจรรย์
หลวงพ่อภักตร์ท่านก็ยกเบี้ยขึ้น อีกมือหนึ่งหยิบชันนะโรงมาปิดปากเบี้ย และโยนเบี้ยเข้าไปในบาตรพระ พักเดียวเสียงเบี้ยในบาตรพระดังเกรียวกราว เหมือนกันมีคนมาเขย่า เหตุการณ์การนี้หลวงพ่อหรุ่มท่านเห็นตลอด
แต่ที่น่าแปลกคือ ระหว่างที่หลวงพ่อภักตร์ท่านเริ่มต้นขั้นตอนทั้งหมดจนถึงการเสกเบี้ย ท่านคุยกับหลวงพ่อจันทร์ไปตลอด มิได้หยุดกำหนดจิตรเสกเลย ความว่องไวของจิต และความชำนาญในการแยกกระแสจิตท่านมีความชำนาญอย่างยิ่ง
หลวงพ่อภักตร์ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นับรวมสิริอายุได้ ๖๐ ปี ๔๐ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์
เบี้ยแก้หลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นเบี้ยแก้ภายในบรรจุปรอทปิดทับด้วยชันโรง แล้วถักด้วยเชือกลงรัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
แต่เชื่อกันว่าหลวงพ่อท่านทำเบี้ยออกมาจำนวนไม่น้อยมาก เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนและทหาร ที่ออกสงคราม มีทั้งแบบถักเชือกและไม่ถักเชือก
เบี้ยแก้หลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ อ่างทอง ของคุณป๊อป ธีระ |
เบี้ยแก้หลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ อ่างทอง ของคุณป๊อป ธีระ |
เบี้ยของท่านมีอิทธคุณโดดเด่นในด้านมหาอุตม์ คงกระพันชาตรี กันเขี้ยวงา และกันคุณไสยคุณคนคุณอัปมงคลต่างๆ ได้อย่างดี
ผู้ที่ได้รับเบี้ยไปจากท่านต่างมีความเชื่อถือกันแบบสุดๆ เพราะเจอกันมากับตัว เห็นกันมากับตาก็หลายท่าน มีด ปืน กระทั่งขวาน
เล่ากันว่าเบี้ยแก้ท่านไม่มีใครคัดของออกได้ ไม่มีเสื่อม สามารถใส่กระเป๋ากางเกง พกชายผ้าซิ่นได้สบายๆ คือใช้ง่ายพกติดตัวง่าย
เหรียญหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)มหาอำมาตย์นายก (อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล) ซึ่งท่านเป็นผู้สนับสนุนในการสร้างเหรียญเพื่อถวายหลวงพ่อภักตร์ ถือเป็นเหรียญรูปเหมือนที่ทันท่านเสกเพียงรุ่นเดียว ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ อ่างทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อเงิน ของคุณเจี๊ยบ ใบหยก |
เหรียญหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ อ่างทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อเงิน ของคุณเจี๊ยบ ใบหยก |
เหรียญหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ อ่างทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อทองแดง ของคุณหนึ่ง คลองพระอุดม |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อภักตร์นั่งมารวิชัยเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏินีรัดประคต
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น