โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง พระอาจารย์ของหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว

ภาพถ่ายหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านต่าย ระยอง
หลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง

         หลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย หรือ พระครูวิจิตรธรรมานุวัติ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านค่าย ตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังของภาคตะวันออก

         หลวงพ่อวงศ์ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหนองตาเสี่ยง ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ โยมบิดาชื่อนายน้อย โยมมารดาชื่อนางเอี่ยม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ทั้งหมด ๙ คน โดยหลวงพ่อเป็นคนที่ ๔ 

         ครอบครัวมีอาชีพทำนา เมื่อหลวงพ่ออายุยังน้อย บิดาได้ตายจากไปเสียก่อน ท่านจึงได้ช่วยมารดาทำนาเลี้ยงน้องๆโดยกู้เงินเขามาซื้อควาย แล้วทำนาปลดหนี้กู้เขาจนหมดในปีเดียว

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๗ หลวงพ่อวงศ์ ท่านมีอายุได้ ๑๔ ปี โยมมารดาได้ท่านนำไปฝากเลี้ยงไว้ที่สำนักวัดบ้านค่ายเพื่อเรียนหนังสือ โดยนำไปฝากกับพระอาจารย์กลั่น วัดบ้านค่าย 

         ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีโรงเรียน เหมือนกับสมัยนี้ ใครจะเรียนหนังสือต้องไปเรียนที่วัด จังหวัดระยองในสมัยนั้นมีสภาพเป็นป่าเกือบทั้งจังหวัด ในตัวเมืองระยองก็มีบ้านอยู่ไม่กี่หลัง ถนนหนทางก็ไม่มี มีแต่ทางเกวียน จะไปกรุงเทพฯ ต้องไปลงเรือที่ปากน้ำระยอง นั่งเรือกันหลายวันกว่าจะไปถึงกรุงเทพฯ 

         ดังนั้นใครจะไปเรียนหนังสือ จะต้องมีความมานะพยายามเป็นอย่างดี หนังสือที่เรียนก็เป็นหนังสือ ขอมไทย แเละหนังสือไทย ความประสงค์ของกุลบุตรที่เข้ามาเรียนในวัด ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการบวช เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับหลวงพ่อ

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ หลวงพ่อวงศ์ท่านมีอายุครบบวช ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบ้านค่าย ตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยมี

         หลวงปู่สังข์เฒ่า วัดเก๋งจีน เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์ดี วัดบ้านค่าย เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์ห่วง วัดหนองกะบอก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู๋จำพรรษาที่วัดบ้านค่ายเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และคาถาอาคมต่างๆกับพระอาจารย์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระอาจารย์ดีเจ้าอาวาสวัดบ้านค่ายได้มรณภาพลง พระยาศรีสมุทรโภคโชคชัยชิตสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองในสมัยนั้น จึงมอบให้หลวงพ่อวงศ์เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ พระครูสมุทรสมานคุณ เจ้าคณะจังหวัดระยองในสมัยนั้น ได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อวงศ์เป็นเจ้าอธิการวัดบ้านค่าย มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ หลวงพ่อวงศ์มีพรรษาได้ ๒๔ พรรษา อายุ ๔๖ ปี สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมัยดำรงค์สมณศักดิ์เป็นที่ พระสุคุณคณาภรณ์ เจ้าคณะมณฑลจันทบุรี ได้นัดพระเถระผู้ใหญ่รวม ๒๐ วัด ที่วัดเก๋ง

         เพื่อแต่งตั้งให้หลวงพ่อวงศ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอ บ้านค่าย ซึ่งในวันแรกท่านไม่ยอมรับ ท่านเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี ก็ให้พระผู้ใหญ่ซึ่งมาประชุมในวันนั้นกลับไปก่อน และนัดให้มาประชุมใหม่ในวันรุ่งขึ้น

         วันรุ่งขึ้น เมื่อฉันเช้าแล้ว ตีระฆังเข้าประชุมในโบสถ์วัดเก๋งพร้อมกันแล้ว ท่านเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี ได้ประกาศต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ทั้งหมดว่า "ท่านวงศ์ ฉันให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในสามอย่างคือ ๑.ให้รับ ๒.ให้สึก ๓.ให้ไปเสียต่างเมือง"

         เมื่อหลวงพ่อวงศ์ถูกยื่นคำขาดเช่นนี้ ท่านจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมรับ เมื่อหลวงพ่อยอมรับพระสงฆ์ทั้งหมด ซึ่งมาประชุมกัน ณ ที่นั้น ก็สวดชะยันโตและอนุโมทนาสาธุขึ้นพร้อมกัน เป็นอันเสร็จพิธีแต่งตั้งเจ้าคณะแขวงบ้านค่าย หรือ เจ้าคณะอำเภอบ้านค่ายปัจจุบัน

         นับว่าหลวงพ่อวงศ์เป็นเจ้าคณะแขวงองค์แรก ของอำเภอบ้านค่าย มีวัดในเขตปกครองของอำเภอบ้านค่าย ๑๖ วัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ เป็นที่ "พระครูวิจิตรธรรมานุวัติ"

ภาพถ่ายหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง
หลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง

         สำหรับมนต์คาถาและวิชาแพทย์โบราณนั้น ท่านได้รับการสอนประสาทวิชาจากพระภิกษุรูปหนึ่งคือหลวงพ่อกง ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวเขมรลูกครึ่งลาว ซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ที่เมืองเขมร

         หลวงพ่อวงศ์สมัยเป็นพระภิกษุหนุ่ม ได้ออกเดินธุดงค์แสวงหาครูบาอาจารย์ ท่านผู้รู้วิชาทั้งหลาย ทั้งยังได้ฝึกปฏิบัติทางจิต ให้เกิดอำนาจเกิดพลัง 

         เเต่การออกเดินธุดงค์กรรมฐานของหลวงพ่อวงศ์นั้นท่านได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงพ่อกง ท่านจึงเดินธุดงค์เข้าเมืองพนมเปญ เเละได้ไปพักอยู่ที่วัดของหลวงพ่อกง เพื่อขอศึกษาเล่าเรียนวิชาด้วยเป็นเวลานาน

         วิชาที่หลวงพ่อกงได้ประสิทธิ์ให้หลวงพ่อวงศ์นั้น เป็นวิชาทางโลกทั้งสิ้น ทั้งเรียนวิชาที่เกี่ยวกับ เวทย์มนต์คาถา วิชาที่เกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุ เรียนการทำน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งจะทำให้วันอันเป็นมงคล ซึ่งสุดเเต่ว่าจะเป็นงานอะไร

         นอกจากนี้ท่านยังเรียนวิชาเเพทย์เเผนโบราณ ท่านได้ศึกษาตัวยาสมุนไพรในป่าจนเกิดความชำนาญ สามารถรู้จักรักษาเฉพาะโรคได้

         ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านป่วยเป็นจำนวนมาก ได้นำตัวไปรักษาพยาบาลภายในบ้านค่ายจนล้น เพราะสถานที่คับเเคบ สมัยนั้นยังนายแพทย์ประจำคอยรักษาคนไข้ นอกจากตัวของหลวงพ่อวงศ์เองที่เป็นทั้งหมอ เป็นทั้งพยาบาล เป็นทั้งผู้ปรุงยา 

         ส่วนคนไข้อีกประเภทหนึ่ง พวกนี้ถูกผีป่า เจ้าเขา เข้าสิงร่าง สิงดวงใจ หลวงพ่อต้องอาศัยธรรมะ เข้าอบรมวิญญาณนั้นให้มาพูดคุยด้วย จนรู้เหตุของการเข้าสิงเเล้ว ท่านจะขอบิณฑบาตไม่ให้จองเวรจองกรรมกันอีกต่อไป

         เมื่อท่านอบรมด้วยอำนาจเเห่งจิตที่ทรงสมาธินั้นเเล้ว ท่านก็ทำพิธีกรรมอีกครั้ง คือ พรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ นับจากนั้น โรคภัยก็หายขาดไม่เกิดขึ้นอีกเลย

         น้ำพระพุทธมนต์ที่หลวงพ่อวงศ์ได้กระทำพิธีขึ้นนี้ เเม้ได้ยินชื่อก็ศรัทธาเสียเเล้วคือ พระเจ้า ๕ พระองค์ หรือน้ำมนต์ดอกบัวบาน การที่หลวงพ่อวงศ์ จะสร้างน้ำพระพุทธมนต์วิเศษนั้น มิใช่ว่าทำได้ทุกวันเหมือนอย่างสำนักต่างๆ 

         น้ำมนต์ของท่านนั้น ในช่วง ๑ ปี ท่านจะทำเพียงครั้งเดียว คือวันบูชาครู เเละอุปัชฌาย์ อาจารย ์ผู้ให้กำเนิดคือ เมื่อวันอันเป็นสิริมงคลมาถึง ท่านก็จะกระทำน้ำพระพุทธมนต์ เอาน้ำใส่โอ่งมังกร พร้อมทั้งนำเทียนไขมา

         เเล้วบริกรรมภาวนาจนจิตสงบเป็นสมาธิ ความอัศจรรย์นั้นคือน้ำตาเทียนที่หยดลงมานั้นจะเเตกเป็น ๕ กลีบ มีลักษณะคล้ายดอกบัวบาน โดยในเเต่ละหยดของน้ำตาเทียนจะมีลักษณะเหมือนกันหมด มองดูเหมือนดอกบัวบานชูช่อ กลางสระน้ำฉันนั้น

         สมัยที่หลวงพ่อวงศ์เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านค่ายนั้น เเม้ว่าใครก็ตาม มีความประสงค์จะให้ท่านลงนะ โดยการเเผ่เมตตาจิตลงยังธูปหอม เเล้วนำกลับไปบูชาพระพุทธรูปที่บ้าน 

         หลวงพ่อวงศ์จะทำให้ด้วยความยินดี วิธีของท่านคือ นำธูปทั้งซองมาถวายท่าน ท่านรับเอาไปเเล้ว ก็เขียนตัว นะ เป็นภาษาขอม

         จากนั้นท่านก็ตบเบาๆ ปรากฏว่าภายในซองที่บรรจุธูปทุกดอกจะติดเป็นอักขระ นะ ทุกดอก ตอนนี้แหละเป็นช่วงสำคัญ หลังจากจุดธูปบูชาพระเเล้ว ขี้ธูปนั้นเองเป็นยาวิเศษมหาประสาน 

         ใครเป็นเเผลก็เอาขี้ธูปมาปิดบาดเเผลจะหายวันหายคืน ถ้าใครถูกมีดบาด เลือดไหลไม่หยุด ก็เอาขี้ธูปทาตรงบาดเเผลเข้าเลือดจะหยุดไหลทันที

         หลวงพ่อวงศ์นับได้ว่าเป็นพระเกจิที่น่าทึ่ง น่าเลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะท่านมีความสามารถยิ่งรูปหนึ่งในวงการพระสงฆ์ไทย ความชำนาญของหลวงพ่อเท่าที่ศึกษามาทั้งหมด ดูเหมือนว่าท่านกระทำได้ทุกอย่าง เเละมีความชำนาญเสียด้วย

         ปีตกสิณ คือ การเพ่งสีเหลือง เเล้วอธิฐานจิต ให้กลายสภาพเป็นอย่างอื่นนี้ ในประวัติของท่านได้กล่าวไว้ว่า คราวใดถ้ามีพระสหธรรมิก ผู้สนิทชื่นชอบกันเดินทางมาเยี่ยมเยือน หรือมาเพื่อเเลกเปลี่ยนวิชาความรู้กันนั้น ท่านมักจะทำอะไรพิเศษๆให้ดู เเละโอกาสนี้บรรดาลูกศิษย์ที่อยู่ปรนนิบัติ ก็พลอยเป็นบุญตาไปด้วย ดังคราวหนึ่ง

         หลวงพ่อวงศ์ท่านได้หยิบใบพลูสดๆ สีเขียวมาจากเชี่ยนหมาก เเล้วก็วางไว้บน ขวามือ มืออีกข้างหนึ่งมาประกบไว้ ปากก็บริกรรมคาถา มือท่านก็ถูใบพลูไปมา ครู่เดียวเท่านั้น ความอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น คือใบพลูที่สีเขียวสดนั้นบัดนี้ได้กลายเป็นสีทองเหลืองอร่าม 

         ท่านส่งไปให้พระสหธรรมิกชม ส่งไปดูกันรอบๆ กลับมาถึง ท่านเเล้ว ท่านได้โยนลงกระโถนพร้อมพูดว่า นี่มันเป็นของไม่จริง เราสร้างขึ้นเอง อำนาจของปีตกสิณ สามารถกระทำสิ่งใดก็ได้ตามที่ใจปราถนา

         นอกจากนี้บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระเณรฆราวาส ก็ยังได้ดูของวิเศษหลายอย่างอีกด้วย เช่น ท่านเอาผ้าเช็ดปาก เช็ดน้ำหมาก เพราะท่านฉันหมากพลู มาถือ บริกรรมชั่วครู่เดียวท่านก็โยนผ้าลงไป กลายเป็นตะขาบตัวเขื่อง คลานวนเวียนไปมา 

         บางคราวท่านก็เอาผ้าอีกนั้นเเหละ เสกบริกรรมชั่วครู่เดียว กระต่ายสีขาววิ่งไปมาทั่วกุฏิของท่าน และนี่คือความจริง ที่หลวงพ่อได้กระทำให้เกิดขึ้นมาเเล้ว ตั้งเเต่อดีต

         นอกจากนี้ท่านยังรู้กาลมรณะ ในวันมรณภาพนั้น หลังจากท่านฉันเช้าเเล้ว ท่านพูดพึมพำว่า ถึงเวลาแล้วก็กลับไป แเล้วสั่งว่า ถ้าท่านมรภาพเวลาปลงศพให้ใส่เปลือกข่อยลงไปด้วย หลังจากนั้นหลวงพ่อก็ถือพิมพ์ยา 

         ไปกดพิมพ์เป็นลูกกลอน เมื่อกดพิมพ์ได้พอสมควรเเล้ว ก็มานั่งปั้นเป็นลูกกลอน ขณะที่ปั้นอยู่นั้นหลวงพ่อวงศ์ท่านนั่งตะเเคงมรณภาพ ด้วยอาการสงบ ตรงกับที่หลวงพ่อเคยปรารถไว้ทุกประการ

         ในการปลงศพของหลวงพ่อวงศ์นั้น เมื่อจุดไฟประชุมเพลิงปรากฎว่าจุดไฟไม่ติด ได้พยายามจุดกันหลายหนก็ไม่ติด จนนายไหลซึ่งเป็นศิษย์นึกถึงคำสั่งของหลวงพ่อวงศ์ก่อนมรณภาพ จึงไปถากเปลือกข่อย มาสุมไฟจึงติดเเละประชุมเพลิงได้ 

         ในขณะที่ไฟกำลังลุกอยู่นั้น บรรดาผู้ที่มาร่วมกันประชุมเพลิง ได้เห็นไก่ขาว บินจากทางทิศเหนือผ่านซุ้มประตู ข้ามเมรุ บินหายเข้าไปกุฏิหลวงพ่อ จากเหตุที่ไก่ขาวบินเข้าไปในกุฏิหลวงพ่อนั้นเป็นนิมิตทำนองบอกใบ้ไว้ว่า

         ถัดจากหลวงพ่อวงศ์จะมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษอีกท่านหนึ่ง มาอยู่ที่วัดบ้านค่าย นั้นก็คือหลวงพ่อดิ่ง ซึ่งเป็นศิษย์องค์เเรกที่หลวงพ่อวงศ์อุปสมบทให้

         หลวงพ่อวงศ์ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี  ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อวงศ วัดบ้านค่าย

         เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย รุ่นแรก (บัวผุด)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพื่อจแกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านต่าย ระยอง 2472 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณปอ เหมวงศ์วิทยา

เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านต่าย ระยอง 2472 ทองแดงกระไหล่ทอง-ขอบ
เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณปอ เหมวงศ์วิทยา

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธชินราชประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ข้างพระเศียรขององค์พระมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ เหนืออักขรยันต์มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้อักขรยันต์มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อิ สะ วา สุ" ภายในยันต์สี่เหลี่ยมมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ตรงกลางยันต์มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อะ ระ หัง อัง อิง อะ"

         เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย รุ่นแรก (บ้านใข้)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เพื่อแจกให้กับผู้ทีบริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๓๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านต่าย ระยอง รุ่นแรก 2477 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง รุ่นแรก (บ้านใข้ นิยม) ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เนื้ออัลปาก้า ของคุณอุทัย เรืองสุรัตน์

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อวงศ์ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ บนขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบ้านใข้" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่น รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิจิตรธรรมานุวัตติ (วงศ)"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ห้า ที่นอกอักขรยันต์มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขรยันต์มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ภายในยันต์ห้ามีอักขระขอมอ่านได้ว่า "ยะ นะ ธา โม พุท" 

         เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยคณะคหบดีจากปากน้ำและตัวเมืองระยองสร้างถวายหลวงพ่อ เพื่อแจกให้กับคหบดีที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงินโบราณเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง รุ่น 2 2478 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อเงิน ของคุณธิดี ปานแก้ว

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อวงศ์ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ บนขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบ้านค่าย" รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิจิตรธรรมานุวัตติ (วงศ)"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ใบพัดอ่านได้ว่า "อุ มะ อะ"

         เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย รุ่น ๓ แจกแม่ครัว

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เพื่อแจกให้กับแม่ครัวที่มาช่วยงานในวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปห้าเหลี่ยมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ถือเป็นเหรียญหายากเพราะสร้างน้อย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง รุ่น3 แจกแม่ครัว 2478 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง รุ่น ๓ แจกแม่ครัว ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อเงิน ของคุณธิดี ปานแก้ว

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อวงศ์ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีลวดลายกนก

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย รุ่น ๔ (อายุ ๘๐ ปี)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยหลวงพ่อดิ่ง บางวัว ร่วมกับคณะกรรมการวัดบ้านค่าย จัดสร้างขึ้นเพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านต่าย ระยอง รุ่น 4 2485 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ระยอง รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อวงศ์นั่งเต็มองค์ องค์หลวงพ่อค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิมีรัดประคตครึ่งเดียว รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวงศ์ อายุ ๘๐ ปี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ "นะโมตัสสะ ภควโต อรหะโต สัมมา่ สัมพุทธะสิ" แบบถอยหลัง เขียนเป็นอักขระขอมจำนวน ๓ บรรทัด

 

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น