โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ พระเกจิสายเหนียวของพระประแดง

ภาพถ่ายหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ
หลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ

           หลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม หรือ พระครูสังฆวุฒาจารย์อดีตเจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ พื้นเพท่านเป็นชาวรามัญบ้านทมัง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๑ ตรงกับวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด

          ท่านมีนามเดิมว่าเย่อ กงเพ็ชร์ โยมบิดาชื่อนายเกาะ กงเพ็ชร์ โยมมารดาชื่อนางสา กงเพ็ชร์ มีญาติพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๔ คน คือ นางหนู, นายบ๊ะ, หลวงปู่เย่อ, และนายเว่

         เนื่องด้วยโยมบิดาและโยมมารดาของท่านเป็นชาวรามัญ ที่เคร่งครัดต่อประเพณีนิยมและมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา 

         โยมบิดาจึงมักพาท่านไปทำบุญที่วัดอยู่เสมอๆ ทำให้หลวงปู่เย่อ ท่านมีความเลื่อมใสต่อบวรพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ มีจิตใจใคร่ศึกษาธรรม ฝักใฝ่ต่อการเรียนรู้

         ปี พ.. ๒๕๔๔ โยมบิดและโยมมารดาของท่านจึงนำท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอาษาสงคราม เมื่อถึงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยมีท่านพระมหาขันธ์เป็นอาจารย์ให้ศีลและอนุสัยบวชให้ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุได้เพียง ๑๓ ปี

         หลังจากบรรพชาเป็นสามเณร ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยทั้งไทยและรามัญ จนมีความชำนาญในด้านภาษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอักขระขอมรามัญ

         จึงทำให้ท่านสามารถค้นคว้าตำราและคัมภีร์ต่างๆ ของรามัญได้อย่างกว้างขวาง เกิดความรอบรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาแขนงต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา

         นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษษวิชาการแพทย์ตามแบบสมัยโบราณ ทั้งยังศึกษาวิชาสมุนไพร เพื่อช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย

         โดยครั้งที่ยังเป็นสามเณรน้อยนั้น ท่านดำรงตนเคร่งครัด อยู่ในศีล มีจริยาวัตรงดงาม ผ่องใสด้วยธรรมของพระพุทธองค์ จึงเป็นที่ปิติของบิดามารดาและบรรดาญาติพี่น้องเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นที่ชื่นชมของครูอาจารย์และชาวบ้านที่พบเห็น ซึ่งต่างก็ชื่นชมโดยทั่วกัน

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ หลวงปู่เย่อ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุย่าง ๒๐ ปีบริบูรณ์ โยมบิดาและโยมมารดาจึงนำท่านเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพญาปราบปัจจามิตร ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ติดกันกับวัดอาษาสงคราม (วัดอาษาสงครามสมัยนั้นยังไม่มีพระอุโบสถ) เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๑ ได้รับฉายาว่า "โฆสโก" โดยมี

         พระอธิการทอง วัดโมกข์ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการเกลี้ยง วัดพญาปราบปัจจามิตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระมหาโต วัดโมกข์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดอาษาสงครามดังเดิม เพื่อศึกษาทางพระพุทธศาสนา ทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จนมีความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ ท่านมีความสามารถมาก

         แต่ยังไม่ทันได้เข้าสอบสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีพระบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า (มุขปาฐะ) และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทยด้วย โดยเปลี่ยนให้สอบโดยการขีดเขียนแทน และใช้กันอยู่จนทุกวันนี้

ภาพถ่ายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

         ถึงแม้ท่านจะไม่ได้สอบ ไม่มีใบรับรองความรู้อย่างใดก็ตาม แต่ความสามารถทางธรรมของท่านก็แตกฉาน สามารถอบรมสั่งสอนลูกศิษย์และภิกษุสามเณร หยิบยกข้อธรรมวินัย ที่มีหลักธรรมและคติธรรมมาสั่งสอนอย่างแคล่วคล่อง

         ทำให้ผู้ได้รับการสั่งสอนมีความรู้ ความสบายใจ ซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง จนมีศิษย์ของท่านสามารถผ่านการสอบได้เปรียญสูงๆ มากองค์ด้วยกัน ชาวบ้านที่มีความทุกข์เดือดร้อน ท่านก็ใช้หลักธรรมกล่อมเกลาอบรมสั่งสอน

         จนคลายทุกข์เดือดร้อนได้ บางคนที่มีความประพฤติไม่ดีงาม ท่านก็สั่งสอนให้แก้ไขปรับปรุงให้กำลังใจเขาจนกลับตัวได้ มีชีวิตมั่งมีศรีสุขเจริญขึ้น เป็นเจ้าคนนายคนก็มีไม่น้อย

         นับได้ว่า ท่านเป็นผู้คงแก่เรียนผู้หนึ่งทีเดียว มีความชำนิชำนาญแม่นยำ ทั้งภาษาไทยและภาษารามัญ ผู้ใดมีปัญหาติดขัด ข้องใจปัญหาหลักภาษาหรืออักขระอย่างไร ท่านก็จะช่วยเหลือชี้แจง อธิบายให้จนแจ่มแจ้งเข้าใจได้อย่างถูกต้อง

         ต่อมาท่าน พิจารณาเห็นว่า สิ่งที่จะทำให้ล่วงพ้นความทุกข์ไปได้นั้นก็คือ การมุ่งศึกษาทางปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ท่านจึงมุ่งกลับไปศึกษา ทางวิปัสสนากรรมฐานโดยการค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราภาษารามัญจนมีเข้าใจเป็นอย่างดี

         จึงแสวงหาอาจารย์ผู้ทรงคุณในทางปฏิบัติ ท่านจึงเดินทางไปศึกษากับหลวงพ่อหลิม วัดทุ่งบางมด ปัจจุบันคือวัดทุ่งโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความสามารถทางวิปัสสนาสูง และเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางพุทธเวทย์วิทยาคม อันมีชื่อเสียงเกรียงไกรในยุคนั้น

         หลวงพ่อหลิมนั้นท่านสร้างเครื่องรางของขลังแจกจ่ายประชาชน ของของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ใช้ได้ผล ทางเมตตามหานิยมนับว่ายอดเยี่ยมมาก เป็นต้นว่า นางกวัก ของท่านปัจจุบันมีค่าหาได้ยาก

         โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัก-ยม ของหลวงพ่อหลิมนั้น ไม่มีอาจารย์ผู้ใดทำได้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนของท่าน หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อหลิม จนหลวงพ่อหลิมออกปากชมว่า หลวงปู่เย่อมีความเพียรพยายามดีมาก

         แม้จะมีอุปสรรคกีดขวางอย่างไร ก็พยายามฟันฝ่าเดินทางไปศึกษาโดยมิยอมลดละ ซึ่งในสมัยนั้น ถนนหนทางไม่ได้สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ การเดินทางจากพระประแดงไปวัดทุ่งบางมด ต้องใช้เรือแจวไปกว่าจะถึงก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมงทีเดียว

         เมื่อสำเร็จวิชาการวิปัสสนาจนมีความเชี่ยวชาญชำนาญดีแล้ว หลวงพ่อหลิมซึ่งมีความเมตตาหลวงปู่เย่อมาก จึงได้ให้เรียนวิชาทางพุทธเวทย์วิทยาคมต่อ 

         หลวงปู่เย่อก็พยายามศึกษาเวทย์มนต์คาถาที่หลวงพ่อหลิมประสิทธิ์ประสาทให้ด้วย ความขยันหมั่นเพียร จนเกิดความชำนาญสามารถทำเครื่องรางของขลังได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

         หลังจากนั้นท่านจึงไปขอศึกษาวิชาจากพระอาจารย์กินรี วัดบ้านเชียงใหม่ และพระอาจารย์พันธ์ วัดสกา ซึ่งพระอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ เป็นเถราจารย์ชาวรามัญที่มีความแก่กล้าทางคาถาอาคมไสยเวทย์มาก 

         พระอาจารย์พันธ์ วัดสกา ท่านมีชื่อทางสีผึ้งเมตตามหานิยม ที่ทำจากน้ำมันช้างพลายตกมัน คือเอาน้ำมันตรงซอกหูช้างที่ไหลขณะตกมัน มาเคี่ยวกับสีผึ้งใต้ร้านบวบด้วยพระเวทย์ สีผึ้งนั้นใช้ทางเมตตามหานิยมเป็นเยี่ยม

         ส่วนพระอาจารย์กินรี วัดบ้านเชียงใหม่ ท่านมีความชำนาญทั้งทางคงกระพันและเมตตา ทางคงกระพันท่านสร้างผ้าประเจียดสีแดงสวมต้นแขน เล่ากันว่าคงกระพันชาตรีชนิดแมลงวันไม่ได้กลิ่นเลือดทีเดียว (วัดบ้านเชียงใหม่ และวัดสกา ปัจจุบันได้รวมเป็นวัดเดียวกันชื่อว่า วัดกลาง)

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พระครูอาทรธรรมกิจ(พร้อม) เจ้าอาวาสวัดอาษาสมครามได้ถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดว่างลง และในปีเดียวกันนี้นี่เองที่ หลวงปู่เยอ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆวิจารณ์ ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) ครั้งเมื่อยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชบพิตร เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ 

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หลังจากที่จัดการงานปลงศพพระครูอาทรธรรมกิจ(พร้อม) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางคณะกรรมการวัดและคณะสงฆ์พร้อมด้วยชาวบ้าน จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่เย่อ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดอาษาสงคราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีชื่อว่าเภี่ยงเกริงสละ เป็นภาษามอญ แปลว่า วัดคลองจาก 

         วัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓ โดยท่านสมิงอาสาสงคราม หลังรบชนะข้าศึกได้ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัดเป็นการล้างบาปและตั้งนามวัดตามราชทินนาม วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๖

         หลังจากที่ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการปรับปรุงเสนาสนะต่างๆ และการสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด ควบคู่กับการอบรมชาวบ้านในพื้นที่ให้อยู่ในศีลในธรรมประกอบสัมมาอาชีพสุจริต

         นอกจากนี้ท่านยังสนับสนุนทางด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณรให้มีความรู้ โดยการจัดตั้งให้มี การเรียนการสอนทางด้านพระปริยัติธรรม 

         สิ่งก่อสร้างที่หลวงปู่สร้างไว้เพื่อให้ชาว บ้านได้ใช้ประโยชน์มีหลายอย่างเช่น เมรุฌาปนสถานและศาลาการเปรียญซึ่งใหญ่โตสวยงาม โดยหลวงปู่ใช้เวลาสร้างเพียงปีเดียวก็สำเร็จ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีผู้ศรัทธาหลวงปู่มาร่วมแรงร่วมใจกันอย่างดียิ่ง

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูสังฆวุฒาจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ 

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่เย่อ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นโท โดยใช้ราชทินนามเดิมเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

         หลวงปู่เย่อปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ นับรวมสิริอายุได้ ๙๔ ปี ๗๓ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน โดยมี น.อ.ประสิทธิ ศิริบุญ เป็นผู้จัดทำโดยว่าจ้างกองกษาปณ์สร้าง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๒,๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่นแรก 2508 อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวิจารณ์ (เย่อ) อายุครบรอบ ๗๘ ปี" 

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ข้างและบนรูปหลวงพ่อโตมีอักขระยันต์มอญ ใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อโต วัดอาษาสงคราม ๒๘ พ.ค. ๐๘"

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกในคราวทำบุญอายุหลวงพ่อครบ ๘๐ ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า จำนวน ๒๐๐ เหรียญ และเนื้อทองแดง จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 2 2510 อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 2 2510 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อครึ่งองค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวุฒาจารย์  (เย่อ โฆสโก) อายุครบรอบ ๘๐ ปี" 

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหยิปุระ(โต) วัดอาษาสงคราม"

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่น สรงน้ำ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ คณะศิษย์ตลาดพระประแดงเพื่อจแแจกในงานสรงน้ำหลวงพ่อโต ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน(ไม่ทราบจำนวน) และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้าง ๑,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น สรงน้ำ 2513 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่นสรงน้ำ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวุฒาจารย์ (เย่อ) วัดอาษาสงคราม" 

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ข้างรูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกสรงน้ำหลวงพ่อโต๑๓ เมษายน ๒๕๑๓"

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่นแรก (เสริม)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน โดยมีคุณอรุณ พุ่มหิรัญ อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้สร้าง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัวแบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรก มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๓,๐๐๐ เหรียญ 

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่นแรกเสริม 2514  อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่นแรก(เสริม) ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวิจารณ์ (เย่อ) อายุครบรอบ ๗๘ ปี" 

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ข้างและบนรูปหลวงพ่อโตมีอักขระยันต์มอญ ใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อโต วัดอาษาสงคราม ๒๘ พ.ค. ๐๘"

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่น อายุ ๘๖ ปี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยนายแพทย์วิฑูรย์ บุษสายสร้างถวายหลวงปู๋ เพื่อจแแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อนวะโลหะ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น หมอสร้าง 2517 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น อายุ๘๖ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวุฒาจารย์ (เย่อ) อายุ ๘๖ ปี" 

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ข้างและบนรูปหลวงพ่อโตมีอักขระยันต์มอญ ใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อโต วัดอาษาสงคราม ๒๕๑๗"

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยคณะกรรมการวัดขอหลวงปู่สร้าง เพื่อหาปัจจัยสร้างเมรุของทางวัด ผลิตโดยกองกษาปณ์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ซึ่งในสมัยนั้นออกทำบุญเหรียญละ ๒๕ บาท จำนวนการสร้าง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 3 2519 อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวุฒาจารย์ (เย่อ) อายุ ๘๘ ปี" 

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ข้างและบนรูปหลวงพ่อโตมีอักขระยันต์มอญ ใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อโต วัดอาษาสงคราม พ.ศ. ๒๕๑๙"

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่น ๔ ครึ่งองค์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมีพิธีพุทธาภิเษก ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ แรกเริ่มนั้นทางกรรมการวัดได้ขอหลวงปู่สร้าง แต่ท่านไม่ยอมให้สร้าง เพราะจะเป็นการค้าขายเชิงพาณิชย์ แต่คณะผู้สร้างได้ขอร้องโดยอ้างเหตุผลว่าต้องหาปัจจัยเพื่อสร้างศาลาที่ยังไม่เสร็จ และยังมีลูกศิษย์ต้องการจำนวนมาก ขออยู่ ๓ เดือน หลวงปู่จึงอนุญาตให้สร้าง แต่ว่าสั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้สร้างอีก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน(ไม่ทราบจำนวน) เนื้อนวะโลหะ (ไม่ทราบจำนวน) และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้าง ๒๐,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 4 2521 เงิน.jpg
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๔ (ครึ่งองค์) ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 4 2521 นวะโลหะ
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๔ (ครึ่งองค์) ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อนวะโลหะ
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 4 2521 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๔ (ครึ่งองค์) ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อครึ่งองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวุฒาจารย์ (หลวงปู่เย่อ โฆสโก) วัดอาษาสงคราม พระประแดง" ที่สังฆาฏิตอกโค้ด "๙๐" ซึ่งคืออายุของหลวงปู๋

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ขอบเหรียญและใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระยันต์มอญ

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่น ๔ หัวใจ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมีพิธีพุทธาภิเษก ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ แรกเริ่มนั้นทางกรรมการวัดได้ขอหลวงปู่สร้าง แต่ท่านไม่ยอมให้สร้าง เพราะจะเป็นการค้าขายเชิงพาณิชย์ แต่คณะผู้สร้างได้ขอร้องโดยอ้างเหตุผลว่าต้องหาปัจจัยเพื่อสร้างศาลาที่ยังไม่เสร็จ และยังมีลูกศิษย์ต้องการจำนวนมาก ขออยู่ ๓ เดือน หลวงปู่จึงอนุญาตให้สร้าง แต่ว่าสั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้สร้างอีก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหัวใจแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 4 หัวใจ 2521 เงิน
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๔ (หัวใจ) ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 4 หัวใจ 2521 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๔ (หัวใจ) ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อครึ่งองค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่เย่อ โฆสโก วัดอาษาสงคราม"

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่น ๔ เต็มองค์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมีพิธีพุทธาภิเษก ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ แรกเริ่มนั้นทางกรรมการวัดได้ขอหลวงปู่สร้าง แต่ท่านไม่ยอมให้สร้าง เพราะจะเป็นการค้าขายเชิงพาณิชย์ แต่คณะผู้สร้างได้ขอร้องโดยอ้างเหตุผลว่าต้องหาปัจจัยเพื่อสร้างศาลาที่ยังไม่เสร็จ และยังมีลูกศิษย์ต้องการจำนวนมาก ขออยู่ ๓ เดือน หลวงปู่จึงอนุญาตให้สร้าง แต่ว่าสั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้สร้างอีก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 4 เต็มองค์ 2521 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๔ (เต็มองค์) ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๒๑" เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวุฒาจารย์ หลวงปู่เย่อ อายุ ๙๐ ปี" 

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระยันต์มอญ เหนือรูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อโต วัดอาษาสงคราม"

         เหรียญหลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม รุ่น ๔ (ลายกนก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมีพิธีพุทธาภิเษก ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ แรกเริ่มนั้นทางกรรมการวัดได้ขอหลวงปู่สร้าง แต่ท่านไม่ยอมให้สร้าง เพราะจะเป็นการค้าขายเชิงพาณิชย์ แต่คณะผู้สร้างได้ขอร้องโดยอ้างเหตุผลว่าต้องหาปัจจัยเพื่อสร้างศาลาที่ยังไม่เสร็จ และยังมีลูกศิษย์ต้องการจำนวนมาก ขออยู่ ๓ เดือน หลวงปู่จึงอนุญาตให้สร้าง แต่ว่าสั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้สร้างอีก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น 4 เต็มองค์ลายกนก 2521 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่เยอ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ รุ่น ๔ (ลายกนก) ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เย่อนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยไทยเขียนว่า "ศิษย์สร้างถวาย อายุครบ ๙๐" เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆวุฒาจารย์ (เย่อ โฆสโก) " 

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ใต้รูปหลวงพ่อโตมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อโต วัดอาษาสงคราม ๒๑"

 


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น