โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง พระเกจิยุคเก่าของอยุธยา

ภาพถ่ายหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อยุธยา
หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อยุธยา

         หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง หรือ พระพุทธวิหารโสภณ อดีตเจ้าอาวาสวัดวงษ์ฆ้อง ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเกิดเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖  ณ บ้านสวนพริก แขวงรอบกรุง เมืองกรุงเก่า (ปัจจุบันคือ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา) มีนามเดิมว่าอ่ำ ภักดีวงศ์ โยมบิดาชื่อนายหอม ภักดีวงศ์ โยมมารดาชื่อนางห่อ ภักดีวงศ์ ที่บ้านมีอาชีพทำชาวนา มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น ๗ คน ประกอบด้วย

         ๑. นายนิ่ม ภักดีวงศ์

         ๒. นางเชื่อม สุคันธกุล

         ๓. หลวงพ่ออ่ำ ภักดีวงศ์

         ๔. นางปี ( ไม่ทราบนามสกุลใหม่ )

         ๕. นางขำ ธารีศรี

         ๖. นายไว ภักดีวงศ์

         ๗. นายวอน ภักดีวงศ์ 

         ส่วนเรื่องราวในช่วงเยาว์วัยไม่ปรากฏชัด เพราะเป็นที่รู้ในหมู่ญาติรุ่นหลังๆ เพียงว่า ท่านเข้ามาศึกษาเล่าเรียนอยู่กับ หลวงพ่อฟัก หรือ พระครูธรรมิกาจารคุณ วัดธรรมิกราช (หน้าพระราชวังโบราณ) ตั้งแต่อายุประมาณ ๑๐ ปีเศษ และต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนี้

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดธรรมิกราช ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอ พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับฉายาว่า "อินฺทปญฺโญ" โดยมี

         หลวงพ่อฟัก หรือ พระครูธรรมิกาจารคุณ วัดธรรมิกราช เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดธรรมิกราชเรื่อยมา เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคมต่างๆจากพระอุปัชฌาย์ นอกจากนี้ท่านยังเดินทางไปเรียนวิชากับหลวงพ่อศรี วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งถือเป็นสำนักตักกะศิลาของด้านคาถาอาคมชื่อดังในสมัยนั้น

         หลวงพ่ออ่ำ ท่านมีรูปร่างไม่สูงใหญ่ ไม่เจ้าเนื้อ ครองผ้าธรรมดา ไม่ใช่สีกรัก ไม่ใช่สีเหลืองสด ครองผ้าครองจีวรอยู่เสมอ ไม่ใช่นั่งรับแขกด้วยอังสะพาดไหล่นุ่งสบงเพียงแค่นั้น ท่านไม่ฉันหมาก ไม่สูบยา อาหารท่านฉันน้อยมาก ของหวานที่ท่านฉันบ่อยก็คือ ทองหยิบ ฝอยทอง

         หลวงพ่ออ่ำ ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระที่มีเมตตาสูง ในกุฎิของท่านมีสัตว์เต็มไปหมด เปรียบดั่งสวนสัตว์ในวัด ทั้งบนกุฏิทั้งใต้กุฏิ ทั้งหมา แมว วัว ควาย หมู ไก่ สารพัด ทั้งที่คนนำมาฝากวัด และท่านไปไถ่ชีวิตมาจากที่โรงฆ่าสัตว์ แม้แต่เป็นขี้เรื้อน ท่านก็ไม่เคยรังเกียจ

         นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระที่มีอภิญญา สัตว์ที่ท่านเลี้ยง ท่านมักบอกกับศิษย์ว่า เจ้านี่ชื่อนั้นตายมาจากแถบโน๊น ตายแล้วก็มาเกิดเป็นหมาแมวตัวนี้ ทั้งๆที่สถานที่ที่ท่านพูดก็อยู่ไกลจากวัด 

         บางครั้งลูกศิษย์เกิดอยากรู้ไปสอบถามชาวบ้าน ตามสถานที่ที่ท่านว่า ก็ปรากฏมีคนชื่อนั้นชื่อนี้ ตายไปในเวลาที่ท่านว่าจริงๆ บางครั้งท่านเผลอเรียกชื่อสมัยยังเป็นคน มันก็ขานรับ 

         ครั้งหนึ่งมีหมาของท่านตาย ท่านว่าหมาตัวนี้ จะไปเกิดแล้ว ท่านก็บอกวันเดือนปี สถานที่จะไปเกิด ลูกศิษย์วัดก็อยากลอง จึงไปตามหาตามที่ท่านบอก ผลปรากฏว่ามีเด็กเกิด ณ วันเวลาเดียวกับที่หลวงพ่ออ่ำท่านบอกไว้จริงๆ จนชาวบ้านที่หาว่า ท่านเพี้ยน ต้องสงบปากสงบคำตามกันไป

         หลวงพ่ออ่ำ เมื่อมีคนไข้เป็นฝี มาให้ท่านรักษา ท่านก็จะถามว่า จะเอาแตกตรงนี้ หรือ แตกที่บ้าน ถ้าบอกแตกตรงนี้ ฝีก็จะแตกทันที ถ้าบอกแตกที่บ้าน เมื่อกลับถึงบ้านฝีก็จะแตกทันที 

         ท่านเป็นพระที่มีวาจาสิทธิ์ บางคนเจออุบัติเหตุหรือไม่สบายปางตาย แต่ท่านบอกไม่ตายหรอก ก็ไม่ตายทั้งที่อาการเกือบตาย

ภาพถ่ายหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อยุธยา
หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อยุธยา

         หลวงพ่ออ่ำ ท่านเป็นพระอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทางโหราศาสตร์ แพทย์ศาสตร์โบราณ ท่่านสามารถทำนายทายทักผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องนำคนไข้มาหาท่าน แต่สามารถให้ญาติมาจดชื่อยาไปซื้อตามร้านขายยาได้

         กิตติศัพท์ของท่านได้ทราบกันทั่วไปในสมัยนั้น ดังตัวอย่างก็คือคุณวิลาศ โอสถานนท์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในสมัยนั้นเรียกกรมโฆษณาการ 

         ไปขี่ม้าบังเอิญตกจากหลังม้ากระดูกสันหลังหัก ได้เข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งโดยนอนเข้าเฝือกลำตัวไว้ ต่อมาญาติของท่านได้ทราบถึงความสามารถของหลวงพ่อ จึงขึ้นรถไฟไปหาท่าน (สมัยนั้นไม่มีทางรถยนต์ มีแต่ทางรถไฟทางเดียว)

         หลวงพ่ออ่ำบอกว่า "เดี๋ยวก่อนไม่ต้องบอกว่าป่วยเป็นอะไร" ว่าแล้วท่านก็จุดเทียนขึ้นเล่มหนึ่ง ตั้งเทียนไว้ที่ปากบาตร ที่สำหรับทำน้ำมนต์ พอท่านนั่งหลับตาอยู่ครู่เดียว ท่านก็บอกว่า คนไข้ กระดูกสันหลังหักเสียแล้วให้เอาใส่เรือมาจอดที่หน้าวัดเลย จะรักษาให้ ญาติๆ ถึงกับตะลึงเพราะไม่ได้มีใครบอกท่านก่อนเลยว่า จะพาใครมาหาท่าน มาเรื่องอะไร

         เมื่อพันตรีวิลาศ โอสถานนท์ นอนในเรือมาถึงหน้าวัด ท่านได้รับยศพันตรีในระหว่างสงคราม พร้อมๆกับคุณควง อภัยวงศ์ หลวงพ่อก็สั่งให้เอาเฝือกที่เข้าไว้ตั้งแต่บั้นเอวจนถึงหัวเข้าทั้งสองออก แล้วก็ทำการรักษาตามวิธีที่ได้ร่ำเรียนมา 

         เนื่องจากกระดูกสันหลังหักและเคลื่อนไปจากที่เดิม หลวงพ่อจึงต้องทำการรักษาอยู่ ๓ ครั้ง คือ ๓ วัน พอครบ ๓ วัน กระดูกที่หักของคุณวิลาศ ก็ติดเป็นปกติ หลวงพ่อจึงสั่งให้ผู้ป่วยยืนขึ้น และเดินมาหาท่านผู้ป่วยก็ปฏิบัติตามด้วยอาการปกติ เหมือนกับไม่เคยมีอาการหัก ณ ที่ใดมาก่อนเลย

         หลักจากนั้น คุณวิลาศก็ลากลับและไปตรวจเอกซเรย์อีกครั้ง ที่โรงพยาบาลที่ท่านเคยเข้าไปรับการรักษาในครั้งแรกที่กระดูกหักใหม่ๆ แต่ปรากฏว่ากระดูกไม่มีรอยหัก ณ ที่ใด ยังความประหลาดใจแก่แพทย์ผู้ทำการรักษาทุกท่านเป็นอย่างมาก ตอนนี้จึงทำให้กิตติศัพท์ของหลวงพ่อยิ่งกระฉ่อนไปอย่างไม่มีใครยั้งได้

         หลวงพ่ออ่ำ นอกจากจะพระที่มีวิชาอาคมมากแล้ว ยังเป็นพระที่เก่งทางด้านวิชาช่าง แม้แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังยอมรับในฝีมือ และได้ร่วมบริจาคปัจจัยบูรณะวัดหน้าพระเมรุ ร่วมกับหลวงพ่ออ่ำ ซึ่งขณะนั้นได้รับสั่งจากทางคณะสงฆ์ให้มาบูรณะวัดหน้าพระเมรุ

ภาพถ่ายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

         ครั้งหนึ่งท่านโดนต้องอธิกรณ์ จากพระที่ไม่พอใจท่าน เพราะท่านเป็นที่เคารพของคนทั่วไป แม้แต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังนับถือ วันหนึ่งท่านบอกศิษย์ว่า "จะสบายแล้ว ไม่ต้องรับชอบงานหนัก" 

         หลังจากพูดได้วันเดียวก็มีการปล้นบ้านเศรษฐี ตำรวจตามมาก็พบทรัพสิน ซ่อนไว้ในวัด ทำให้ศาสนจักรพวกที่ไม่พอใจหลวงพ่ออ่ำ กล่าวหาว่าท่านทำอธิกรณ์ฟ้องร้องหลวงพ่ออ่ำ จนท่านต้องย้ายจากวัดหน้าพระเมรุ มาอยู่วัดวงษ์ฆ้อง

         แต่ท่านก็ไม่เคยคิดแค้นหรืออาลัยอาวรณ์ ในสมณะศักดิ์ที่ถูกถอดไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนไปมาหาสู่ท่านมิได้น้อยลงไปแม้แต่นิด แต่กลับจะมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะท่านเป็นพระใจดี ได้เงินมาก็เอาไปแจกจ่ายให้ญาติโยมที่ยากจน ไปไถ่ชีวิตวัว ควายตลอดจนท่านมรณภาพ

         หลวงพ่ออ่ำ ท่านรู้กาลมรณภาพล่วงหน้า โดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านมรณภาพในท่านั่งหลับทำสมาธิโดย ท่านได้บอกลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่รับใช้ท่านอยู่ว่า พรุ่งนี้ไม่ฉันเช้า ไม่ฉันเพล ไม่ต้องปลุก เพลแล้วจึงค่อยเข้าไปหาในกุฏิ 

         ก่อนจะไปหาในห้อง ให้หาอาหารให้นก ให้ไก่ ให้แมว ให้สุนัข และสัตว์ที่ซื้อชีวิตเขามาเลื้ยงไว้ในถุนกุฏิ ให้อิ่มเสียก่อนด้วย (ทั้งนี้เพราะสัตว์เป็นอันมากที่ท่านสงเคราะห์ชีวิตไว้ อยู่กันเต็มไปหมดทั้งบนกุฏิและใต้กุฏิ) 

         วันรุ่งขึ้น ลูกศิษย์ก็ปฏิบัติตามที่ท่านสั่งอย่างเรียบร้อย เหมือนกับที่ปฏิบัติมาทุกวัน แต่ก็นึกแปลกใจว่า วันนี้ทำมัยหลวงพ่อไม่ตื่นออกมาฉันเช้าและฉันเพล ทั้งๆที่อยากรู้ แต่ก็ไม่กล้าถามท่าน 

         พอได้เวลาเลยไปแล้ว คณะลูกศิษย์ก็เปิดประตูกุฏิเข้าไปหาท่านตามสั่ง จึงพบว่า ท่านได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว ในลักษณะนั่งสมาธิบนเบาะพิงหมอนขวาน มือทั้งสองของท่านวางที่หน้าตัก ศีรษะเอียงไปข้างหนึ่ง

         เมื่อท่านมรณะภาพลงแล้ว ชาวบ้านต่างมากันทั่วทุกสารทิศ เพื่อกราบนมัสการด้วยความเคารพและอาลัย วัดวงษ์ฆ้อง ในขณะนั้นแน่นขนัดไปด้วยสาธุชนที่เคารพในตัวท่าน บุคคลที่เคยได้รับอนุเคราะห์จากท่าน

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่ไปขอความเมตตาจากท่านนับด้วยสิบๆปี เพราะท่านได้แผ่เมตตาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่เลือกว่ายากดีมีจน ร่ำรวยหรือยากจนเข็ญใจ 

         แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน จะเห็นได้ว่า ทั้งเป็ด ทั้งไก่ ทั้งหนู เต็มไปทั้งใต้ถุนกุฏิ รวมทั้งวัว ควาย ที่เขาจะฆ่า พอท่านทราบเข้า ท่านก็จะขอบิณฑบาตชีวิตไว้ ถึงจะต้องเสียปัจจัยในการซื้อชีวิตนี้เท่าใดก็ตาม เวลาฉันจึงเห็นจะมีแมวและสุนัข นอนหมอบอยู่ แล้วก็มีจิ้งจกคลานมาขอเม็ดข้าวจากท่าน พอฉันเสร็จลูกศิษย์ก็ยกอาหารใส่ถาดมาวางข้างนอก 

         ตอนนี้จะมีแมว สุนัข นก มารุมกันกินอาหารที่เหลือจากหลวงพ่อมากมายหลายตัวมากจริงๆ แต่ละตัวต่างก็นั่งกิน นอนกินกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งวิวาทกันเลย 

          ตอนนี้หลวงพ่อมักจะออกมานั่งพิงบานประตูดูสัตว์กินอาหารกันด้วยความเมตตา เศษอาหารที่เหลือจากคนกิน ก็เป็นของหมูใต้ถุนกุฏิที่ท่านขอซื้อชีวิตมา วัวควายกินหญ้า กินผัก ที่มีคนมาให้ นี่ก็เป็นกิจวัตรของท่าน

         หลวงพ่ออ่ำ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง

         เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปทรงกลมขอบสตางค์มีหูชื่อม จัดสร้างโดยคณะศิษย์พระนครที่ว่าจ้างโรงกษาปณ์ในสมัยนั้นให้ผลิตให้ มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อยุธยา รุ่นแรก 2460 ทองเหลือง
เหรียญพระพุทธชินราชหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของพระพุทธชินราชแต่เป็นปางสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีซุ้มรัศมีสวยงาม

         ด้านหลัง จำลองเป็นรูปมลฑปมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน ด้านบนรูปมีอักขระ

         เหรียญพระแก้วมรกตหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ข้างเลื่อย แบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระแก้วมรกตหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อยุธยา รุ่นแรก 2460 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระแก้วมรกตหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า  เป็นรูปจำลองของพระแก้วมรกต ประทับนั้่งบนฐานบัวหงายมีฐานชุกชีรองรับ ข้างองค์พระมีอักขระยันต์ มีช่อมะกอกสวยงาม

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.อ"

         เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อยุธยา  2493 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า  เป็นรูปจำลองของหลวงพ่ออ่ำครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานศพหลวงพ่อวัดวงษ์ฆ้อง หลวงพ่ออ่ำ ภักดีวงษ์ พระนครศรีอยุธยา ๒ เมษา ๒๔๙๓"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

 

 

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น