โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เจ้าของพระเนื้อแร่ผงกรุสายเหนียวของเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี
หลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี

         หลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านโพธิ์สองต้น จังหวัดเพชรบุรี ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ แต่ไม่มีการบันทึกชื่อของโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

          ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ หลวงพ่อหวาด ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจังได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดลาด ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้รับฉายาว่า "มาโฆ" โดยไม่ปรากฏนามที่แน่ชัดของพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด แต่อย่างใด

         หลังจากที่ท่านอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดลาดเรื่อยมา เพื่อศึกษาเล่าเรียนในสำนักวัดลาดเป็นเวลาถึงปี ๖ ปี ซึ่งวัดลาดแห่งนี้ถือเป็นสำนักเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีในสมัยนั้น ท่านได้ศึกษาวิชาทั้งด้านคันถะธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนวิชาช่างฝีมืออีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๓ หลังจากที่หลวงพ่อหวาด อุปสมบทได้ ๖ พรรษา ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเพชรพลีได้ว่างลง คณะสงฆ์จึงทำการแต่งตั้งให้หลวงพ่อหวาดไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเพชรพลี ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดเพชรพลี เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยก่อนบริเวณที่ตั้งวัดเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าได้รับวัฒนธรรมเขมรโบราณ จึงมีวัดเก่าแก่อยู่หลายวัด 

         สำหรับวัดเพชรพลีนี้ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หลักฐานทางด้านสิ่งก่อสร้างได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก บ้างสันนิษฐานได้ว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๗๒-๒๗๓ โดยใช้ชื่อว่าวัดพลิบพลี 

         ตามชื่อเมืองที่พระโสณณะได้แนะนำพระนางสิริงามตัวเทวี พระมเหสีพระเจ้าตวันธิราชว่าควรสร้างเมืองเพื่อให้คนระลึกถึง พระปุณณะ ผู้นำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแพร่และหลังจากพระโสณณะนิพพานไปแล้ว ๑๒ วัน พระนางสิริงามตัวเทวีก็ได้สร้างเมืองขึ้นชื่อว่า เพชรพลิบพลี และต่อมามีการสร้างวัดชื่อ วัดพลิบพลี และได้เพี้ยนมาเป็นวัดเพชรพลีในปัจจุบัน

         วัดเพชรพลีน่าจะเป็นเทวสถานที่สร้างในสมัยสุโขทัย ที่พุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่มายังสุวรรณภูมิ พร้อม ๆ กับอีกหลายแห่งในกลุ่มบริเวณนี้ เช่น วัดกำแพงแลง วัดสนามพราหมณ์ ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาในสมัยขอม มีเทวาลัย ก่อนจะมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนา 

         วัดเพชรพลีมีสิ่งสำคัญที่มีชื่อเสียงคือ เสาชิงช้า และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ยังปรากฏจากหลักฐานในนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ ปัจจุบันพระครูวัชรชัยธรรม (พระมหาศุภชัย ชยธมโม) เจ้าอาวาสได้จัดสร้างเสาชิงช้าขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐

         เสนาสนะและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัดคือ เสมาของวัดนี้เป็นเสมาขนาดใหญ่ จำหลักลายแบบศิลปะอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา 

         นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ พระสุวรรณเจดีย์ อยู่ทางทิศตะวันตกของอุโบสถ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง น่าจะสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง 

         ต่อมาได้ต่อเติมโดยเสริมปล้องไฉนปลียอด และยกพื้นชานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรอบองค์เจดีย์ บริเวณมุมมีซุ้มเจดีย์ พร้อมแขวนระฆังไว้ทั้ง ๔ มุม และทางวัดได้สร้างรางน้ำรอบองค์เจดีย์ 

         นอกจากนี้วัดยังประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน ๕ องค์ ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุฉัทพัณรังสี พระบรมธาตุทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) พระเสมหธาตุ พระบรมสารีริก ธาตุขนาดต่างๆ และพระธาตุของพุทธสาวกอรหันต์ทั่วๆ ไป โดยทั้งหมดประดิษฐานในบุษบก 

         นอกจากนั้นภายในวัดยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ด้วยซึ่งบ่อน้ำนี้ตั้งอยู่ตรงหน้าหลวงพ่อเพ็ชร บริเวณริมกำแพงวัดใกล้กับสุวรรณเจดีย์ ซึ่งบ่อน้ำนี้มีชื่อเรียกว่า บ่อน้ำเพชรมหาไชย กล่าวกันว่ามีตาน้ำซึมมาจากแม่น้ำเพชรบุรี 

          ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มีส่วนสำคัญสำหรับพิธีการสำคัญมาแต่โบราณ บริเวณปากบ่อเป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อเพ็ชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตัก ๒๐ นิ้ว และมีพิพิธภัณฑ์ชิระปราสาท เป็นอาคารทรงไทย ๒ ชั้น มียอดปราสาทอยู่ตรงกลาง ลักษณะคล้ายปฐมเจดีย์ 

         ซึ่งพระครูพิศิษฎ์ ศิลปาคม เป็นผู้ออกแบบการก่อสร้าง ชั้นบนเป็นที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปในสมัยต่างๆ จำนวนมาก เช่น สมัยทราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระพุทธรูปแบบสุวรรณภูมิ

ภาพถ่ายหลวงพ่อหวาดและพระภิกษุสามเณร วัดเพชรพลี เพชรบุรี
หลวงพ่อหวาดและพระภิกษุสามเณร วัดเพชรพลี เพชรบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อหวาดได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการซ่อมแซมและก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด ด้วยที่ท่านมีฝีมือเชิงช่างเป้นอย่างดี จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ในสมัยก่อนเล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อหวาดท่านชอบรวบรวมพระบูชา และพระเนื้อชินที่ชำรุดแตกหักจากกรุต่างๆ อาทิ กรุวัดปากน้ำ กรุวัดกำแพง กรุสวนพริก(ท่าหิน) กรุค้างคาว ฯลฯ

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ หลวงพ่อหวาด ท่านได้พบพระกรุค้างคาว ซึ่งท่านค้นพบจากลายแทงของชาวบ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคนหนึ่งที่ได้มอบไว้ให้ ซึ่งเป็นกรุพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วสมัยลพบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ทางราชการได้ทำการตัดถนนจากท่าน้ำระหว่างบ้านของขุนวิเชียรพานิช (วิเชียร ประจวบเหมาะ) กับบ้านหลวงบริบาลคีรีมาศ (เลื่อน เกสะวัฒนา) บริเวณบ้านศาลาจีนบ้านจีน ผ่านประตูเมือง วัดลาด ศาลหลักเมือง ป่าช้าจีน ไปจดทางรถไฟหน้าวัดนาค โดยถนนที่ตัดให้ชื่อว่า ถนนสุรพันธ์

         ถนนสายนี้ได้ตัดผ่านบริเวณวัดศรีสรรเพชญ์ ซึ่งได้พบพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อหวาดได้เก็บรวบรวมส่วนที่ชำรุดไว้ จากนั้นจึงได้พระเครื่องและพระพุทธรูปที่ชำรุดมาบดหลอมสำหรับใช้เป็นมวลสารในการสร้างพระเครื่องขึ้นมา

         พระเครื่องที่หลวงพ่อหวาดได้สร้างขึ้นมานั้น มีด้วยกันหลายพิมพ์ทรง หากที่จะกล่าวถึง เป็น พระปิดตา มีด้วยกัน ๒ เนื้อหา คือ เนื้อผงผสมแร่ชิน และเนื้อแร่ชินผสมรัก ซึ่งเนื้อแร่ก็คือ โลหะที่ได้จากพระพุทธรูป และพระเครื่องที่ชำรุด นำมาบดสร้างพระเครื่องขึ้นมาใหม่นั่นเอง

         หลวงพ่อหวาด ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๒ พรรษา โดยท่านครองวัดเพชรพลีนานถึง ๕๗ ปี.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี

         พระปิดตาหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อหลวงพ่อหวาดได้รับนิมนต์จากพระสุวรรณมุนี (ชิต สุวณฺณโชติ) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ร่วมในพิธีฉลองพระปรางค์ห้ายอดที่ได้รับการบูรณะแล้วเสร็จ หลวงพ่อหวาดจึงได้นำพระเครื่องเข้าร่วมในพิธีปลุกเสกครั้งนั้น ลักษณะเป็นพระปิดตาเนื้อผงใบลานผสมแร่พระกรุเนื้อชิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี 2480 เนื้อผงใบลานผสมแร่
พระปิดตาหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อผงใบลานผสมแร่ ของคุณรัตนะ พุ่มพวง

พระปิดตาหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี 2480 เนื้อผงใบลานผสมแร่
พระปิดตาหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อผงใบลานผสมแร่

         ด้านหน้า จำลองเป็นพระปิดตาภควัมบดี

         ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

         พระนาคปรกหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อหลวงพ่อหวาดได้รับนิมนต์จากพระสุวรรณมุนี (ชิต สุวณฺณโชติ) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ร่วมในพิธีฉลองพระปรางค์ห้ายอดที่ได้รับการบูรณะแล้วเสร็จ หลวงพ่อหวาดจึงได้นำพระเครื่องเข้าร่วมในพิธีปลุกเสกครั้งนั้น ลักษณะเป็นพระนาคปรกเนื้อแร่เผสมเนื้อชินพระกรุ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระนาคปรกหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี 2480 เนื้อผงใบลานผสมแร่
พระนาคปรกหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อผงใบลานผสมแร่

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธเจ้าปางนาค ๗ เศียร ประทับนั่งปางสมาธิ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         พระมอญโพกผ้าหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อหลวงพ่อหวาดได้รับนิมนต์จากพระสุวรรณมุนี (ชิต สุวณฺณโชติ) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ร่วมในพิธีฉลองพระปรางค์ห้ายอดที่ได้รับการบูรณะแล้วเสร็จ หลวงพ่อหวาดจึงได้นำพระเครื่องเข้าร่วมในพิธีปลุกเสกครั้งนั้น ลักษณะเป็นพระเนื้อแร่เผสมเนื้อชินพระกรุ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระมอญโพกผ้าหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี 2480 เนื้อผงใบลานผสมแร่
พระนาคปรกหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อผงใบลานผสมแร่ ของร้านฟ้าประทาน

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         เหรียญนาคปรก หลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปจอบแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อสามกษัตริย์ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญนาคปรกหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี 2490 สามกษัตริย์
เหรียญนาคปรกหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อสามกษัตริย์

เหรียญนาคปรกหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี 2490 ทองแดง
เหรียญนาคปรกหลวงพ่อหวาด วัดเพชรพลี เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธเจ้าปางนาค ๗ เศียร ประทับนั่งปางสมาธิ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง


ไม่มีความคิดเห็น