โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ศิษย์เอกพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม

ภาพถ่ายหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี
หลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี

         หลวงพ่อพราย วัดมะขาม หรือ พระอธิการพลาย ถาวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดมะขาม ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ท่านเป็นพระอริยสงฆ์เชื้อสายรามัญที่ไม่ค่อยมีจดบันทึกไว้มากนัก หลวงพ่อพลายพื้นเพท่านเป็นคนปทุมธานีมาแต่กำเนิด ท่านเกิดเมื่อวันที ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๓ แต่ไม่มีการบันทึกถึงโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เมื่อท่านมีอายุครบบวช ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมะขามใต้ (วัดชินวรารามวรวิหาร) ตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ได้รับฉายาว่า "ถาวโร" โดยมี

         พระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว หลวงพ่อพลายได้อยู่จำพรรษาที่วัดมะขามใต้ (วัดชินวรารามวรวิหาร) เพื่อเล่าเรียนวิชาอาคมต่างๆกับหลวงพ่อเปิง ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน 

         โดยท่านได้ศึกษาวิปัสนากรรมฐาน สูตรมูลกัจจายน์ วิธีเขียนและลบผงวิเศษต่างๆ เช่น ผงอิทธิเจ ผงปถมัง และพระเวทย์วิทยาคมต่างๆกับเป็นเวลาถึง ๕ พรรษา

         หลังจากที่ท่านได้ศึกษาวิชาอาคมต่างๆแล้ว ท่านก็ได้เริ่มออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติม และยังเป็นการเพิ่มพูลความรู้ในด้านต่างๆอีกด้วย

ภาพถ่ายพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี
พระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมะขามได้ว่างลง คณะสงฆ์จึงเห็นพ้องกันให้หลวงพ่อพลาย ไปดำรงเจ้าอาวาสวัดมะขาม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดมะขาม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๓ บ้านมะขาม ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี อยู่ใกล้กับวัดศาลเจ้า 

         วัดสร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๑๗๐ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย 

         สันนิษฐานว่าสถานที่สร้างน่าจะมีต้นมะขามอยู่มาก บ้างก็่ว่าเป็นชื่อบ้านเดิมมาจากเมืองมอญ จึงได้ชื่อว่า "วัดมะขาม" ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากแม่น้ำที่ขุดลัดผ่านมีขนาดกว้างขึ้น แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมตื้นเขิน จึงได้สร้างวัดขึ้นใหม่หันหน้าสู่แม่น้ำสายใหม่ 

         ทำให้มีวัดมะขามสองวัด เรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะขามนอก หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วัดมะขามเหนือ ส่วนวัดมะขามเดิมเรียกว่า วัดมะขามใน 

         ต่อมาในสมัยพระครูปทุมสารธรรม(วงศ์) วัดมะขามในซึ่งเป็นวัดเดิมได้ร้างลง และชำรุดผุพังเกินกำลังที่จะบูรณะขึ้นมาใหม่ได้ จึงได้ยุบรวมกันเป็นวัดเดียวและตัดคำว่า "เหนือ" ออกไป เป็น "วัดมะขาม" ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ 

         อนึ่งในพื้นที่จังหวัดปทุมธานียังมีวัดมะขามอีกแห่ง คือ "วัดมะขามใต้" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนนามวัดมาเป็นวัดชินวรารามวรวิหาร

         หลังจากที่หลวงพ่อพลายได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ จนวัดเจริญขั้นตามลำดับ ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด และสร้างเสนาสนะต่างๆ อีกด้วย

         นอกจากนี้ท่านยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในพื้นที่ ใครมีปัญหาเดือดร้อนเรื่องใดก็เดินทางมาให้ท่านช่วยแทบทั้งสิ้น

         และด้วยที่หลวงพ่อพลายท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิทยาคมแกร่งกล้ามากอีกรูปปทุมธานี และท่านเป็นพระที่มีพลังจิตสูงมาก แม้แต่หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ ยังเคยชมเชยและบอกว่า "ต้องมีพลังจิตเข้มแข็งอย่างพระอธิการพลาย จึงจะทำผงเมตตามหานิยมได้ขลังนัก"

         หลวงพ่อพลายท่านได้เริ่มสร้างพระเครื่องแจกให้กับชาวบ้านในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เรื่อยมา ตอนแรกๆที่แจกไป ไม่ใคร่มีใครสนใจเท่าไรนัก ได้กันไปคนละองค์สององค์ เก็บไว้ใช้บ้าง แจกต่อไปบ้าง 

         มาในตอนหลังจนมีผู้นำไปใช้แล้วเกิดประสบการณ์ด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเป็นเยี่ยม เช่น ติดต่อการงาน เข้าหาผู้ใหญ่มักจะประสพความสำเร็จ เด็กตกน้ำไม่จม รถคว่ำไม่เป็นไร ผู้คนเลยแห่กันมาวัดมะขาม เพื่อขอพระเครื่องของท่านไปบูชาเป็นการใหญ่ จนสร้างไม่ทันแจก

         หลวงพ่อพลาย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงด้วยอาพาธเป็นโรคลำไส้พิการ เมื่อวันพุธที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๖ นับรวมสิริอายุได้๖๓ ปี ๔๓ พรรษา ร่างกายหาได้เน่าเปื่อยไม่.

         พระอธิการพลาย ท่านเป็นพระเถระเชื้อสายรามัญที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก แม้ในยามสิ้นชีวิตไปแล้ว ก็ยังแสดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักรแก่สายตาของผู้คน โดยเฉพาะร่างกายของท่านหลังจากสิ้นลมไปแล้วไม่เน่าเปื่อย

         วันที่นำร่างท่านขึ้นสู่เมรุ และจุดไฟเผาไปได้หลายชั่วโมง ทางคณะกรรมการวัดและพระมหาประสิทธิ์ ปัญญาพโล เจ้าอาวาสรูปต่อมา ได้เปิดดูที่เตาเผาเพราะคาดว่าร่างของท่านคงกลายเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว

         แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือ ไม่เพียงแต่ร่างท่านที่ยังปกติ แต่จีวรของท่าน เปลวไฟที่ลุกโชนก็ไม่สามารถที่จะเผาผลาญได้เลยแม้แต่น้อย จนพระมหาประสิทธิ์ได้จุดธูปขอขมาท่าน 

          ทันทีที่ปักธูปลงกระถาง จีวรก็ลุกพรึบพร้อมกับร่างที่มอดไหม้ในทันที ตอนเช้าเมื่อข่าวได้แพร่ออกไป ก็ทำให้คนส่วนใหญ่เข้ามาเช่าบูชาพระเครื่องของท่านจนแทบหมดสนาม แม้ในปัจจุบันก็หาพระเครื่องของท่านแทบจะไม่เจอกันแล้ว

        พระอธิการพลาย ถาวโร ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านเป็นพระเถระที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม สนับสนุนการศึกษา และศึกษาค้นคว้าธรรมมะ นำมาสอนศิษย์และชาวบ้านให้ประพฤติอยู่ในธรรมเสมอ ดำรงตนอยู่ในสมณวิสัย ตั้งแต่บรรพชา กระทั่งได้อุปสมบถ จวบจนถึงกาลมรณภาพ.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม

         พระปิดตาหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม

         สร้างขึุ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาเนื้อผง โดยสร้างจากผงอิทธิเจ ผงปถมัง ที่ท่านได้เขียนสะสมเอาไว้ ผสมกับว่านอีกหลายชนิดซึ่งถูกบดและกรอง นำมาคลุกกับน้ำรัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี 2489 เนื้อผงคลุกรัก
พระปิดตาหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อผงคลุกรัก

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี ประทับนั่งบนฐานเขียง

         ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ขอบองค์พระมีเนื้อปริ้นตามรอยประกบพิมพ์ 

         พระพุทธห้าเหลี่ยมหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม

         สร้างขึุ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระเนื้อผงพิมพ์ห้าเหลี่ยม โดยสร้างจากผงอิทธิเจ ผงปถมัง ที่ท่านได้เขียนสะสมเอาไว้ ผสมกับว่านอีกหลายชนิดซึ่งถูกบดและกรอง นำมาคลุกกับน้ำรัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระพุทธพิมพ์ห้าเหลี่ยมหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี 2489 เนื้อผงคลุกรัก
พระพุทธห้าเหลี่ยมหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อผงคลุกรัก

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐาน ๒ ชั้น

         ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ขอบองค์พระมีเนื้อปริ้นตามรอยประกบพิมพ์

         พระนางพญาหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม

         สร้างขึุ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระเนื้อผงพิมพ์สามเหลี่ยมแบบพระนางพญา โดยสร้างจากผงอิทธิเจ ผงปถมัง ที่ท่านได้เขียนสะสมเอาไว้ ผสมกับว่านอีกหลายชนิดซึ่งถูกบดและกรอง นำมาคลุกกับน้ำรัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระนางพญาหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี 2489 เนื้อผงคลุกรัก
พระนางพญาหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อผงคลุกรัก

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธเข่าบ่วงหูบายศรี ประทับนั่งปางมารวิชัย ที่ขอบขององค์พระมีเส้นบังคับพิมพ์เป็นเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย

         ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ 

         เหรียญหล่อหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม รุ่นแรก

         สร้างขึุ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระหล่อพิมพ์จอบแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี 2490 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี 2490 ทองเหลือง-ข้าง
เหรียญหล่อหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน ประทับนั่งบนฐานเขียง

         ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ใต้องค์พระมีรอยตะไบ ในบางองค์มีรอยจาร

         พระชัยวัฒน์หลวงพ่อพลาย วัดมะขาม รุ่นแรก

         สร้างขึุ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระหล่อพิมพืพระชัยวัฒน์คล้ายพิพม์ของท่านเจ้ามา สมัยก่อนเซียนพระนิยมเอาไปหลอกขายว่าเป็นของท่านเจ้ามา สร้างด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระชัยวัฒน์หลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี 2490 ทองเหลือง
พระชัยวัฒน์หลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองเหลือง
พระชัยวัฒน์หลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี 2490 ทองเหลือง
พระชัยวัฒน์หลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระชัยวัฒน์ ประทับนั่งบนฐานเขียงคล้ายพิมพ์ของเจ้าคุณมา วัดสามปลื้ม

         ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ใต้องค์พระมีรอยตะไบ ในบางองค์มีรอยจาร


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น