โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระครูวัน วัดหนองศาลา จังหวัดเพชรบุรี

ภาพถ่ายพระครูวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี
พระครูวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี

         หลวงพ่อวัน วัดหนองศาลา หรือ พระครูวัน อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองศาลา ตำบลหนองศาลา อำเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี

         พระครูวัน ท่านมีนามเดิมว่า วัน มิ่งแม้น พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านห้วยทบ ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เกิดราวปี พ.ศ. ๒๔๑๙ โยมบิดาชื่อนายทิพ มิ่งแม้น โยมมารดาชื่อนางวอน มิ่งแม้น มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๖ คน คือ

         ๑. พระครูวัน ธมฺมสโร

         ๒. นางพุ่ม

         ๓. หลวงพ่อแปลก วัดหนองจอก

         ๔. นายห้อย มิ่งแม้น

         ๕. นางอิน

         ๖. นางสาย

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลวงพ่อวัน ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองจอก ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "ธมฺมสโร" แต่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดหนองจอกเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและบทสวดมนต์ต่างๆ กับพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระอธิการป่าน วัดหนองศาลาได้มณรภาพลง คณะสงฆ์จึงมีมติแต่งตั้งให้หลวงพ่อวันเดินทางไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดหนองศาลา เป็นวัดราษฏร์ สังกัด คณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๕๐ บ้านหนองศาลา หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองศาลา อำเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๒ งาน ๕๘ ตารางวา

         วัดหนองศาลา ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒ สันนิษฐานว่าวัดที่สร้างมานาน เนื่องจากหลักฐานที่พบเป็นซากอุโบสถ เขตวิสุงคามสีมา และหินมีลักษณะคล้ายลูกนิมิต ครบ ๘ ทิศ ถูกทิ้งเป็นวัดร้าง

         จนชาวบ้านเข้ามาช่วยถางป่าและสร้างเป็นที่พักสงฆ์ ปลูกอาคารเสนาสนะเพิ่มเติม พัฒนาจนเป็นวัดมีพระจําพรรษาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

         วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนาม คือ

         ๑. พระเทียน ธมฺมที่โป

         ๒. พระป่าน

         ๓. พระวัน ธมฺมสโร

         ๔. พระอธิการเสาร์ พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๔๙๔

         ๕. พระครูพินิจสมณคุณ (หล่อ จกฺกธมฺโม)  พ.ศ. ๒๕๐๑ -  ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อวันได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอยางสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ท่านได้พัฒนาวัดก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ อาทิเช่น สร้างกุฎิสงฆ์  ปรับปรุงอุโบสถจากไม้ไผ่หลังคามุงจาก ตีฝาก เป็นไม้เนื้อแข็ง สร้างสวดมนต์ และสร้างหอระฆัง ส่วนการพัฒนาหมู่บ้านได้นำชาวบ้านขุดลอกสระน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านยังให้ความสำคัญด้านการศึกษาของบุตร-ธิดา ชาวบ้านในพื้นที่ จึงได้ตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสระน้ำวัด เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว เพื่อจัดการเรียนการสอนให้ชาวบ้านอ่านออก  เขียนได้ มีความรู้

         โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลบางเก่า ๒ (วัดหนองศาลา) ซึ่งท่านใช้เงินส่วนตัวของท่าน เงินของวัด และเงินชาวบ้านในการก่อสร้าง จ่ายเงินเดือนครูสอน  โดยมีพระเปลี่ยน ธมฺมสโร (ใจเที่ยง) พระภิกษุวัดหนองศาลาซึ่งเป็นชาวหนองจอกเป็นครูใหญ่คนแรก

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวัดหนองศาลา (ธรรมกรประสาท) หลวงพ่อวันได้นำเด็กนักเรียนจากบ้านหนองเกตุ หนองหมู ห้วยทบหนองจอก หนองบัว เพชรบูรณ์ บ่อไร่ และหนองศาลา เข้ามาเรียนปีละเกือบ ๑๐๐ คน

         และหลายคนภายหลังได้ย้ายมาอาศัยมีครอบครัวอยู่ต่อที่หมู่บ้านหนองศาลา จนต่อมาโรงเรียนได้พัฒนาเจริญขึ้นตามลำดับ 

         ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวดนายาง (เจ้าคณะตำบล)

         หลวงพ่อวัน ท่านผู้ที่มีความรู้เรื่องสมุนไพร การรักษาโรค แพทย์แผนโบราณ ท่านได้ใช้ความรู้เหล่านี้ในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความทุกข์ อีกทั้งท่านยังมีฝีมือเชิงช่างในการแกะตัวหนังตลุงอีกด้วย ตัวหนังของท่านถือได้ว่ามีชื่อเสียงในแถบนี้

         นอกจากนี้ท่านยังมีความสนิทสนมกันกับหลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต วัดโตนดหลวง เป็นอย่างมาก มีการเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นประจำ เมื่อคราวที่สิ้นหลวงพ่อวันนั้น หลวงพ่อทองสุขท่านได้สร้างเหรียญรุ่นแรก วัตถุประสงค์ที่จัดสร้างเพื่อนำมาแจกเป็นที่ระฤกในการสร้างศาลาการเปรียญ

         โดยท่านเป็นผู้นั้งแจกด้วยตัวท่านเอง หลังแจกเสร็จ ท่านได้นำเหรียญที่เหลือกลับไปโดยไม่ปรากฎว่าท่านนำมาแจกอีกหรือนำไปเก็บไว้ที่ใด ทำให้ปัจจุบันจึงพบเห็นเหรียญรุ่นนี้ได้ยากพบน้อยมากๆ

         หลวงพ่อวัน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ นับรวมสิริอายุได้ ๖๙ ปี ๔๗ พรรษา.

วัตถุมงคลของพระครูวัน วัดหนองศาลา

         เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองศาลา ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี รุ่นแรก 2492 ทองแดง
เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี รุ่นแรก(บล็อกคอพอก) ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อวันครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวัน ธมฺมกโร" 

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์แบบเดียวกับของหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในการสร้างศาลา" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดหนองศาลาเพ็ชร์บุรี"

         เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยหลวงพ่อหล่อเจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี รุ่น 2 2496 ทองแดง
เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี รุ่น ๒ (บล็อกเส้นคอ) ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดง ของคุณสมาร์ท พงศธร’ร

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อวันครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวัน ธมฺมกโร" 

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์แบบเดียวกับของหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในการสร้างศาลา" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดหนองศาลาเพชร์บุรี"

         เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา รุ่น ๓ 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยหลวงพ่อหล่อเจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ในคราวผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยใช้บล็อกของเหรียญรุ่น ๒ มาสร้างพื้นเหรียญจึงมีกลาก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี รุ่น 3 2507 ทองแดง
เหรียญพระครูวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อวันครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวัน ธมฺมกโร" พื้นเหรียญมีกลาก

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์แบบเดียวกับของหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในการสร้างศาลา" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดหนองศาลาเพชร์บุรี" พื้นเหรียญมีกลาก

         เหรียญหลวงพ่อทองสุข หลังพระครูวัน วัดหนองศาลา 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยหลวงพ่อหล่อเจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ในคราวผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อทองสุข หลังหลวงพ่อวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี 2507 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อทองสุข หลังหลวงพ่อวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อทองสุข หลังหลวงพ่อวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี 2507 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข หลังหลวงพ่อวัน วัดหนองศาลา เพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูทองสุข อินทโชโต" 

         ด้านหลัง จำลองเป็นรูปหลวงพ่อวันครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวัน ธมมสโร งานผูกพัทธสีมาวัดหนองศาลา ๒๕๐๗" 


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น