โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน อีกหนึ่งพระเกจิชื่อดังของเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี
หลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี

         หลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน หรือ พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สีลปญฺโญ) อดีตเจ้าคณะหมวดบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ท่านชื่อเดิมว่า แฉ่ง สำเภาเงิน พื้นเพท่รนเป็นชาวตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปี เถาะ โยมบิดาชื่อนายเฉย สำเภาเงิน โยมมารดาชื่อนางทับ สำเภาเงิน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน ดังนี้

         ๑. นายอั๋น สำเภาเงิน

         ๒. นางสาย เข่งทอง

         ๓. นายสิน สำเภาเงิน

         ๔. นายแสง สำเภาเงิน

         ๕. นายแบน สำเภาเงิน

         ๖. นายเบี้ยว สำเภาเงิน

         ๗. พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สำเภาเงิน)

         ๘. นางเป้า ฟังทอง

         ๙. นายใจ สำเภาเงิน

         ในสมัยเด็กโยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากไว้กับเจ้าอธิการวัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อศึกษาหนังสือไทย (สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนจำต้องเรียนที่วัด) 

         ต่อมาท่านได้ย้ายไปเรียนที่วัดทุ่ง (ทุ่งเฟื้อ) ตั้งอยู่คลองปลายสวนทุ่ง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 

         จนมีความรู้ในการอ่านเขียนภาษาไทยและภาษาขอมได้เป็นอย่างดี ท่านจึงได้กลับมาเพื่อมาช่วยโยมบิดาและโยมมารดา ทำงานช่วยเหลือครอบครัว

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ หลวงพ่อแฉ่ง ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (สมัยนั้นขึ้นอยู่กับอำเภอเขาย้อย) เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ เวลา ๑๔.๑๕ น. ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ได้รับฉายาว่า "สีลปญฺโญ" แปลว่าผู้ทรงศีลเป็นปัญญา โดยมี

         พระอธิการคล้ำ วัดปากคลองบางครก เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการทรัพย์ วัดเขาตะเครา เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการวัตร วัดปากลัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดปากลัด เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอธิการวัตร เป็นระยะเวลา ๑ พรรษา

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ หลังจากที่ท่านศึกษาวิชาจนหมดสิ้นแล้ว ท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาตะเครา เพื่อศึกษาวิชากับพระอธิการทรัพย์ เป็นระยะเวลา ๒ พรรษาจนสำเร็จวิชา

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ท่านจึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดปากคลองบางครก เพื่อศึกษาวิปัสสนามัฎฐานกับพระอธิการคล้ำ เป็นระยะเวลา ๕ พรรษา

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทางวัดอุตมิงด์ขาดพระอาจารย์ที่สามารถสอนภาษาขอมได้ พระอธิการเปลี่ยน วัดอุตมิงด์ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้อาราธนาให้หลวงพ่อแฉ่งไปสอนอักษรขอม และจำพรรษาอยู่ที่วัดอุตมิงด์

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ หลังจากออกพรรษา หลวงพ่อแฉ่ง ท่านมีความคิดที่จะขอลาสิกขาจากสมณเพศ เพื่อกลับไปดูแลโยมบิดาและโยมมารดา 

         ท่านจึงได้เดินทางไปหาพระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อฉุย)วัดพระทรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำการลาสิกขา หลวงพ่อฉุย ท่านจึงได้ทำการสำรวจตรวจดวงชะตาของหลวงพ่อแฉ่งเพื่อดูความเหมาะสม 

         หลังจากพระอาจารย์ตรวจดวงชะตาแล้ว เห็นว่าบุญบารมียังสูงส่งจักเป็นหลักชัยในพระพุทธศาสนาสืบไป ไม่ควรสึกออกมาให้อยู่ในทางธรรมต่อไป หลวงพ่อแฉ่ง ท่านจึงกลับใจคงอยู่ในสมณเพศต่อ และเดินทางกลับมาบ้านเกิดที่ตำบลบางตะบูน

         ระหว่างที่หลวงพ่อแฉ่ง อยู่ที่ตำบลบางตะบูนนั้น บริเวณนี้ยังไม่มีวัดสำหรับประกอบพิธีสงฆ์ ท่านจึงได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน วงศาคณาญาติทั้งหลาย ผู้มีจิตศรัทธาในบวรบพุทธศาสนา ชาวบ้านบางตะบูนทั้งผู้มีทุนทรัพย์ และผู้มีกำลังกายเข้าร่วมกัน ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ราวปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่ริมฝั่งชายทะเลด้านตะวันออกของปากอ่าวบางตะบูน

         ซึ่งเดิมพื้นที่เป็นป่าชายเลนมีน้ำท่วมถึงชายป่า ท่านใช้เวลาในการปรับปรุ่งพื้นที่ ถมดิน ถมทราย และก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และโรงเรียนวัดปากอ่าว เป็นต้น 

         ท่านใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลาเกือบ ๕ ปี จึงแล้วเสร็จ กลายเป็นวัดใหญ่ถาวรมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ขนานนามว่า "วัดปากอ่าวบางตะบูน" ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ 

         วัดปากอ่าวบางตะบูน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั่นๆว่า วัดปากอ่าว เป็นวัดราษฏร์แห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา 

         วัดอยู่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางตะบูน ปลายสุดของแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลและพันธุ์ไม้ชายเลนมากมาย จึงทำให้วัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงอนุรักษ์ป่าชายเลน

         วัดปากอ่าวบางตะบูน เดิมมีชื่อเรียกว่า "วัดนอก" เนื่องจากบริเวณที่สร้างวัดดังกล่าวอยู่ปากอ่าวทะเลและอยู่ห่างจากวัดปากลัด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ปากอ่าวมากกว่า และชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงเรียกว่าวัดปากลัดว่า "วัดใน"

         ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ทางวัดได้ขอจัดตั้งเป็นวัดโดยผ่านกระทรวงศึกษาธิการ และประกาศตั้งวิสุงคามสีมาขึ้นและให้ใช้ชื่อว่า "วัดปากอ่าวบางตะบูน" เป็นต้นมา

ภาพถ่ายหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี
หลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี

         เมื่อวัดสร้างเสร็จชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อแฉ่ง ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของทางวัด หลังจากเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านก็มิได้นิ่งนอนใจ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆเพิ่มเติม และสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ระหว่างที่สร้างวัดนั้น หลวงพ่อแฉ่ง ท่านเป็นผู้ริเริ่มเปิดสอนนักเรียนในอาคารเรียนหลังเก่า ณ ปัจจุบัน ที่เป็นอาคารไม้ อยู่บริเวณใกล้กับท่าน้ำของวัดปากอ่าวบางตะบูน โดยการจ้างครูมาสอนบุตรหลานชาวบางตะบูน ด้วยทุนส่วนตัวของท่าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ สร้างพระอุโบสถและทำการผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๒

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ สร้างศาลาการเปรียญ และสร้างพระเจดีย์ ๑ องค์

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ สร้างโรงทีม(ศาลาสวดศพ) และหอระฆัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้ทำเรื่องกับทางราชการ เพื่อทำการยกฐานะเป็นโรงเรียนประชาบาลประเภทประชาชนจัดตั้งขึ้น และเปิดสอนตั้งแต่งชั้น ป.๑ ถึงชั้น ป. ๓ ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดปากอ่าว (ญาณสาครวิทยาคาร) 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านได้สร้างหอสวดมนต์

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อแฉ่ง ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระครูแฉ่ง และเป็นเจ้าคณะสงฆ์แขวงอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูญาณสาคร เมื่อวันพุธที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น สาธารณูปกร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ทางราชการมีการแบ่งเขตปกครองใหม่ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะสงฆ์ตำบลบางตะบูน 

         ในส่วนของเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อแฉ่งนั้น ที่กล่าวขานกันมีเรื่องเล่าขานคือ วิชากระสุนคด ซึ่งเป็นวิชายิงลูกกระสุนดินให้โดนผู้ที่ต้องการยิง โดยไม่ต้องเล็งเป้าหมาย และถูกต้องได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะต้องผ่านสิ่งกีดขวางอย่างใดก็ตาม

         มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านมาแอบตัดไม้โกงกางของทางวัด ชาวบ้านมาพบเห็นจึงได้ไปฟ้องหลวงพ่อ ท่านจึงนำหน้าไม้มาใส่ลูกกระสุนดินแล้วยิงออกไปทางหน้าต่าง กระสุนพุ่งเป้าไปโดนชาวบ้านที่แอบตัดไม้โกงกางนั้นโดยไม่ต้องเล็งเป้าหมายแต่อย่างใด

         อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ในคืนวันเพ็ญหลวงพ่อแฉ่งจะนำไม้มาปักไว้ที่ท่าน้ำหน้าวัด พอได้เวลาที่พระจันทร์ทรงกลดเป็นรัศมี หลวงพ่อจะดำน้ำลงไปแล้วบริกรรมคาถาปลุกเสกจารอักขระตะกรุดใต้น้ำจนแล้วเสร็จ 

         หลวงพ่อแฉ่งจะปล่อยให้ตะกรุดลอยไปกับสายน้ำ ครั้นพอเสร็จพิธีกรรมหลวงพ่อก็กลับยังกุฏิ แล้วนำบาตรมานั่งหน้าพระบริกรรมคาถา ลูกศิษย์เล่าขานว่าในบาตรมีเสียงกรุ่งกริ่งดังขึ้นตลอด หลวงพ่อแฉ่งท่านเรียกตะกรุดที่ปล่อยลอยไปกลับสายน้ำให้กลับมาอยู่ในบาตร ตะกรุดนี้เรียกกันว่า ตะกรุดเดือนเพ็ญ

         ยังมีตะกรุดอีกแบบหนึ่งคือ ตะกรุดสาลิกาบิน ตะกรุดนี้เวลาที่หลวงพ่อแฉ่งปลุกเสกจะนั่งปลุกเสกในอุโบสถ โดยนำตะกรุดสาลิกาบินใส่ในบาตรไว้ เมื่อปลุกเสกแล้วตะกรุดตัวไหนไม่บินออกจากบาตร ถือว่าตะกรุดตัวนั้นใช้ไม่ได้

         วัตถุมงคลของหลวงพ่อแฉ่งที่เลื่องชื่ออีกชนิดหนึ่งคือ เชือกถักมงคลคาดเอว ซึ่งหลวงพ่อแฉ่งจะเสกแจกให้กับพระภิกษุที่ลาสิกขากับท่าน 

         โดยในวันที่ลาสิกขานั้นพระภิกษุรูปนั้นต้องนำเชือกไปให้คุณป้าท่านหนึ่งถักลายกระดูกงูตามขนาดของเอว แล้วนำมาให้หลวงพ่อปลุกเสกคาถา เชือกคาดเอวเมื่อเจองูมีพิษ งูพิษจะหมอบนิ่งไม่สามารถทำอะไรผู้คาดเชือกคาดเอวหลวงพ่อได้เลย

         หลวงพ่อแฉ่ง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เวลา ๑๘.๐๗ น. ณ กุฏิเจ้าอาวาสวัดปากอ่าวบางตะบูน ด้วยอาการสงบ นับสิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี ๕ เดือน กับ ๒๕ วัน ๖๔ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน

         เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อแจกให้กับผุู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกเป็นที่ระลึกในงานแซยิด เมื่อวันที่ ๓ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ อายุ ๗๒ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นแรก 2494 เงิน
เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นแรก 2494 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นแรก 2494 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อแฉ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูญาณสาคร วัดปากอ่าวบางตะบูน"  

         ด้านหลัง เป็นรูปอักขระยันต์สาม (ตัวอุหัวจะตัน)

         เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกให้กับผุู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกเป็นที่ระลึกในงานแซยิด เมื่อวันที่ ๓ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ อายุ ๘๔ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยใช้อด้านหน้าของเหรียญรุ่นแรกมาปั๊มพื้นเหรียญจึงมีกลาก แต่บล็อกด้านหลังแกะขึ้นมาใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่น 2 2506 เงิน
เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่น 2 2506 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่น 2 2506 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อแฉ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูญาณสาคร วัดปากอ่าวบางตะบูน" ที่พื้นเหรียญมีกลาก 

         ด้านหลัง เป็นรูปอักขระยันต์สาม ตัวอุจะมีรูที่หัวกลมๆ



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น