โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก "เทพเจ้าแห่งเทือกเขาพนมรุ้ง" พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของบุรีรัมย์

ภาพถ่ายหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์
หลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์

         หลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก หรือ พระอุปัชฌาย์เพียร อดีตเจ้าอาวาสวัดถนนหัก ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะแม ซึ่งตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๔ โยมบิดาชื่อนายปาน มาประจวบ มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน ๕ คน คือ

         ๑. นายอ๊อด มาประจวบ

         ๒. นายขาว มาประจวบ

         ๓. หลวงพ่อเพียร ( มาประจวบ ) สีลวิสุตโต

         ๔. นายตุ่น มาประจวบ

         ๕. นายรอด มาประจวบ

         เมื่อครั้งหลวงพ่อเพียรเป็นเด็ก ท่านมีพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ เมื่อท่านโตขึ้นพอจะไปไหนมาไหนได้แล้ว ท่านชอบติดตามบิดามารดา ไปไร่ไปนาอยู่เสมอ ได้ช่วยบิดามารดาและพี่ๆ เลี้ยงควายและช่วยทำการงานบางอย่างตามวิสัยเด็กที่พอจะช่วยทำได้ เป็นการแบ่งเบาภาระให้แก่บิดามารดาและพี่ๆ ได้เป็นอย่างดี

         ปี พ.ศ.๒๔๒๖ หลวงพ่อเพียร ท่านมีอายุได้ ๑๒ ปี โยมบิดาและโยมมารดาของท่าน จึงนำตัวไปฝากให้อยู่วัดกับหลวงพ่ออินทร์ เจ้าอาวาสวัดถนนหัก ที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้เรียนหนังสือ 

         ปี พ.ศ.๒๔๒๘ ตอนนั้นหลวงพ่อเพียรมีอายุย่างเข้า ๑๕ ปี โยมบิดาและโยมมารดาของท่านเห็นว่าท่านได้เรียน เขียนอ่านได้ดีพอสมควรแล้ว จึงได้เข้ากราบเรียนกับหลวงพ่ออินทร์ ขอให้ท่านช่วยบวชเณรให้กับลูกชาย 

         เมื่อบวชเณรแล้วก็ให้อยู่กับวัดถนนหักตามเดิม และโดยที่สามเณรเพียรเป็นผู้มีความรู้ ท่านหลวงพ่ออินทร์จึงให้เป็นผู้ช่วยพระสอนหนังสือให้แก่รุ่นน้องด้วย 

        เวลาว่าง สามเณรเพียรก็จะท่องบทสวดมนต์และคว้าตำรับตำราหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ ทั้งยังหัดเทศน์เรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องพระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จนคล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ หลวงพ่อเพียร ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้ออกบรรพชาเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบ้านสูง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับฉายาว่า "สีลวิสุตโต" โดยมี

         หลวงพ่อครุฑ วัดบ้านสูง เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดถนนหักเรื่อยมาเพื่อร่ำเรียนวิชาอาคม และศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์อินทร์ 

        ซึ่งพระอาจารย์อินทร์ ท่านเป็นพระธุดงค์ชาวเขมร เดิมอยู่เมืองศรีโสภณ อพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทย เมื่อครั้งไทยเราเสียแผ่นดินในการปกครองให้แก่ฝรั่งเศส 

         พระสงฆ์ที่เดินทางเข้ามาในครั้งนั้นหลายท่านเป็นผู้ที่มีวัตรปฏิบัติเป็นที่ศรัทธาแก่สาธุชนทั่วไปเป็นอย่างสูง เช่น หลวงพ่อคง วัดซำป่าง่าม แปดริ้ว หลวงพ่อบุคโล วัดบ้านแซร์ออ จังหวัดสระแก้ว ส่วนพระอาจารย์อินทร์ ได้มาสร้างวัดหนองติม อยู่ในเขต อำเภอตาพระยา จังหวะสระแก้ว 

        พระสหมิกธรรมของหลวงพ่อเพียร ในระหว่างที่ได้ศึกษาพระเวทย์วิทยาคมกับพระอาจารย์อินทร์อยู่นั้นมี หลวงพ่อเอ้ ประโคนชัย หลวงปู่สอน วัดเสิงสาง หลวงพ่อมั่น วัดตาจง อำเภอประคำ อาจารย์ทอง วัดแข้หมาก อำเภอประโคนชัย หลวงพ่อเป็น วัดยายคำ 

         โดยนอกจากสำเร็จอภิญญาแล้ว ท่านยังมีพุทธคมทางด้านคงกระพัน วิชาการย่นระยะทาง และวิชาต่างๆเช่นเดียวกับ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง

          ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ หลังจากที่ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดถนนหักได้ ๓ พรรษา ท่านจึงเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ท่านได้ไปอยู่ที่วัดอะไรก็ไม่ได้มีใครถามท่านเอาไว้ รู้ก็แต่เพียงว่า ท่านไปอยู่วัดใกล้ๆ กับคลองแสนแสบ 

          และในช่วงที่ท่านอยู่กรุงเทพฯ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนไปในทางใด และได้ผลเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครทราบ 

         นอกจากจะรู้ตามที่ท่านบอกว่าออกพรรษา ท่านจะออกรุกขมูลเดินธุดงค์ทุกปี เพราะท่านสนใจในทางวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเดินธุดงค์ไปพบไปเจอพระอาจารย์ที่แก่กล้าทางวิปัสสนากรรมฐานและคาถาอาคม ท่านก็เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อขอศึกษาเล่าเรียนเอาไว้ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงพ่อเพียร ท่านจึงกลับมาบ้านถนนหักถิ่นกำเนิดของท่าน และมาจำพรรษาที่วัดบ้านถนนหักตามเดิม หลังจากที่ท่านอยู่กรุงเทพนานถึง ๙ พรรษา 

         หลวงพ่อเพียรนี้ ท่านมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวเนื้อดำแดง น้ำเสียงก้องกังวาน และมีอำนาจอยู่ในตัว น่าเคารพและน่ายำเกรงมาก 

         หลังจากที่หลวงพ่อเพียรท่านมาอยู่วัดถนนหัก ได้ไม่นาน พระอธิการอินทร์ได้มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเพียร ซึ่งขณะนั้นบวชได้ ๗ พรรษาขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดถนนหัก  (ศีลวิสุทธาราม) เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๒ ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยมีพระอาจารย์อินทร์ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด วัดมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

         หลังจากที่หลวงพ่อเพียรได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ

         หลังจากนั้นไม่นาน ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นอุปัชฌาย์พิเศษอีกด้วยคือไปอุปัชฌาย์ต่างเขต ต่างจังหวัดก็ได้ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า หลวงพ่ออุปัชฌาย์เพียร

         มีคนเคารพนับถือท่านมาก ได้รับการอาราธนา นิมนต์ไปบวชกุลบุตร ทั้งใกล้และไกลอยู่เสมอ ต่อมาบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็ได้ทราบข่าวว่าท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูศีลสังวรณ์ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการแต่งตั้ง

         นอกจากนี้ด้วยการที่ท่านเป็นพระเกจิที่มีวิชาอาคม และมีอภิญญาสูงรูปหนึ่งของจังหวัดบุรีรีมย์ ชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่เลื่องลือ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก จนชื่อเสียงของท่านโด่งดัง

         หลวงพ่อเพียร ท่านเป็นพระเกจิท่านนี้ก็ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษก ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มาร่วมปลุกเสกเหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร และแหวนยันต์มงคล เป็นหนึ่งในเก้าองค์สำคัญที่นั่งปรกปลุกเสกในพระอุโบสถ ได้แสดงความอัศจรรย์ให้ปรกกฎในพิธีดังกล่าว กล่าวคือ 

       ในพิธีพุทธาภิเษก พระภิกษุที่มีพุทธาคมและพลังจิตสูง ๙ รูปจะนั่งปรกอยู่ในพระอุโบสถ ปิดลั่นประตู หน้าต่างเป็นมหาอุตม์ ข้างนอกจะมีพระภิกษุที่มีพุทธาคมและพลังจิตสูงนั่งล้อมรอบพระอุโบสถอีกชั้น หนึ่งจำนวนหลายรูป 

        เป็นที่น่าอัศจรรย์เมื่อหลวงพ่อเพียร ท่านนั่งปรกปลุกเสกเสร็จท่านก็ออกจากอุโบสถ์ได้ ทั้งที่ประตูโบสถ์ได้ลั่นกุญแจปิดอยู่ พระภิกษุด้านนอกได้ถามหลวงพ่อท่านออกมาได้อย่างไร หลวงพ่อท่านได้แต่ หัวเราะ ฮึ ฮึ แล้วตอบว่า "ก็ฉันเสกให้เสร็จแล้วจ๊ะ"

        หลวงพ่อเพียร ท่านก็ได้รับอาราธนานิมนต์จากหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ให้ท่านมาร่วมปลุกเสก เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตรและแหวนยันต์มงคล โดยอาราธนานิมนต์พระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศในด้านวิชาอาคมขลัง 

         หลวงพ่อเพียรท่านได้รับนิมนต์มาร่วมปลุกเสกในครั้งนี้ร่วมกับพระคณาจารย์ รุ่นเก่าองค์อื่น ๆ อาทิเช่น หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ หลวงพ่อจันทร์ วัดนางหนู หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เป็นต้น 

          ในเขตภาคอีสานนี้ได้รับอาราธนานิมนต์มาเพียง ๒ องค์เท่านั้น คือ หลวงพ่อเสี่ยง วัดเสมาใหญ่ นครราชสีมา และหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์

        หลวงพ่อเพียร ท่านมีสหธรรมิกอยู่ ๒ องค์ คือ หลวงพ่อเทิ่ง วัดตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (อำเภอนางรองเก่า) และหลวงพ่อสุข วัดโพธิ์ทรายทอง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งสององค์นี้ท่านรักใคร่สนิทสนมกันมาก ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

       หลวงพ่อเพียร เมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องวิทยาคม คาถาอาคมขลัง ท่านจะทำให้เฉพาะผู้ที่ไปขอจากท่านเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด ผ้ายันต์ หรือปลุกเสกสิ่งของที่เป็นวัตถุมงคลอื่น 

        ชาวบ้านญาติโยมในสมัยนั้น มักนำนกยูง บ้างก็นำลิง ชะมด หมูป่า มาถวายท่าน ท่านก็เลี้ยงเอาไว้ท่านปล่อยเลย แต่สัตว์เหล่านี้ก็ไม่หนีไปไหน 

        สำหรับหมูป่านั้น ท่านเอาเหล็กจารลงเล็บให้มัน ชะมดท่านเอาผ้าเหลืองขวั้นเป็นเชือกผูกคอให้มัน ทั้งหมูป่าและชะมดชอบออกไปลักของชาวบ้านกินเรื่อยๆ บ้างครั้งก็กินไก่บ้าง กินเป็ดบ้าง ชาวบ้านเขาก็ยิงเอาแต่ยิงไม่ออก 

        ในตอนสงครามอินโดจีนที่ไทยรบกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เรื่อยมาจนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา ผู้คนก็ต่างหลั่งไหลมาขอของดีจากท่านเอาไว้ป้องกันตัว รวมทั้งทหารที่จะไปรบด้วย ต่างก็แห่กันมาให้ท่านรดน้ำมนต์ บ้างก็มาให้ท่านลงเหล็กจารตามตัวแล้วทาตัวด้วยน้ำมันงา เพื่อให้คงกระพันชาตรี

         มีเรื่องเล่าว่า สมัยนั้นหลวงพ่อเพียร ท่านได้ทำตะกรุดหนังจำนวน ๙ ดอก เป็นตะกรุดหนังลงจารมือม้วนทบรอบเป็นเอกลักษณ์ของท่าน ตะกรุดหนังหลวงพ่อเพียร เป็นตะกรุดที่คนต่างแสวงหา และคือที่สุดของตะกรุดหนัง เพราะสร้างในจำนวนน้อยมาก พุทธคุณเด่นด้าน คงกระพันชาตรีเป็นเลิศ

         หลวงพ่อเพียร ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก

         เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว เหรียญได้รับการปลุกเสกโดยสุดยอดเกจิอันดับหนึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ หลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง และหลวงปู่สอน วัดเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าน้อยมากเพราะหายาก

เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่นแรก 2498 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่นแรก 2498 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพียรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเพียร" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดศีลวิสุทธาราม" 

         แหวนหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับวัด ลักษณะเป็นแหวนรูปโล่ สร้างพร้อมเหรียญรุ่นแรกได้รับการปลุกเสกโดยหลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง และหลวงปู่สอน วัดเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าน้อยมากเพราะหายาก

แหวนหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่นแรก 2498 อัลปาก้า
แหวนหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพียรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเพียร" 

         ด้านข้าง มีอักขระยันต์ขอม ๒ ข้างเหมือนกันอ่านได้ว่า "นะ มะ อะ อุ" 

         เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในช่วงหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหยดน้ำแบบมีหูในตัว  มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่น 2 2500 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่น ๒ หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพียรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเพียร" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีรูปพระปิดตา ข้างองค์พระอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหยดน้ำแบบมีหูในตัว  มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่น 3 2526 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก บุรีรัมย์ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพียรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์เพียร สีลวิสุทฺโธ" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีรูปพระปิดตา ข้างองค์พระอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรีมย์" 


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น