โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง พระเกจินักพัฒนาชื่อดังของเมืองเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี
หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี

         หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง หรือ พระเทพวงศาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดยาง และเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านไร่คา ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี มีนามเดิมว่า อินทร์ พรมโลก ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ โยมบิดาชื่อพรหม ถิ่นกำเนิด โยมมารดาชื่อนวม ถิ่นกำเนิด 

         ที่บ้านท่านมีอาชีพทางการเกษตรและเป็นแพทย์แผนโบราณ โดยท่านมีพี่น้องทั้งหมด ๘ คน ประกอบไปด้วย 

         ๑. นางชุ่ม ( ไม่ทราบสกุล) 

         ๒. นายศรี พรมโลก

         ๓. นางเม้ย รวยเงิน

         ๔. นางพงษ์ นุชประคอง

         ๕. นายแก้ว พรหมโลก

         ๖. นางพิมพ์ สุขโข

         ๗. พระเทพวงศาจารย์ (อินทร์)

         ๘. นางผาด (ไม่ทราบสกุล ) 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ หลวงพ่ออินทร์ ท่านมีอายุได้ ๓ ขวบ มารดามีน้องคนสุดท้อง ท่านจึงได้แยกไปอยู่กับยายอ่วม ซึ่งเป็นน้าของมารดา ยายเลี้ยงดูอย่างบุตรบุญธรรม จนโตขึ้นก็อยู่กับยายตลอดมา ได้ช่วยงานยายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปั่นด้าย เป็นต้น

ภาพถ่ายหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี
หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ท่านมีอายุได้ ๑๐ ปี ยายจึงได้ส่งท่านเข้าเรียนหนังสือไทย โดยนำท่านไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดอยู่กับพระอาจารย์เฉย วัดวังบัว อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เริ่มเรียนตั้งแต่ นอโม พุทธ่อ เป็นต้นไป

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ท่านมีอายุครบ ๑๔ ปี ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ โดยมีเจ้าอธิการพลับ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้เรียนธรรมบทกับพันนาทองอยู่ ๑ ปี คือ ตลอดพรรษาแรกที่บรรพชา 

         ต่อมาเห็นว่า ถ้าจะเรียนให้มีความรู้แตกฉานกว่านี้ขึ้นไปอีก ก็ต้องไปเรียนต่อในกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริบูรณ์ด้วยอาจารย์ ท่านจึงได้เดินทางเข้าไปอยู่กับพระภิกษุฤทธิ์ ซึ่งเป็นบุตรของอา อยู่ ณ วัดอรุณราชวราราม เพื่อเรียนมูลกัจจายน์กับพระมหาฤทธิ์ (เปรียญ ๔ ประโยค) และอาจารย์นวล ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ๖ ปี

         ต่อมาพระมหาฤทธิ์ ผู้แปลบาลีในสนามหลวงได้เปรียญ ๖ ประโยค และในปีนั้นเอง พระมหาฤทธิ์ก็ได้รับตราตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองเพชรบุรี ได้เดินทางมาดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วัดคงคาราม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีสมณศักดิ์ที่พระพิศาลสมณกิจ

         ในเวลานั้นหลวงพ่ออินทร์ ท่านก็ได้เป็นสามเณรอนุจร ติดตามพระพิศาลสมณกิจผู้เป็นอาจารย์ มาอยู่ ณ วัดคงคาราม ซึ่งตรงกับเดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๕๐

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ หลวงพ่ออินทร์ ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี บริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษู ณ พัทธสีมาวัดวังบัว ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังวหัดเพชรบุรี เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้รับฉายาว่า "อินทโชโต" โดยมี

         พระพิศาลสมณกิจ วัดคงคาราม เป็นอุปัชฌาย์

         พระครูสุวรรณมุนี (ฉุย) วัดคงคาราม เป็นกรรมวาจารย์

         พระครูสุชาตเมธาจารย์ (กุน) วัดพระพุทธไสยาสน์ เป็นอนุสาวนาจารย์

         และพระอธิการพลับ วัดวังบัว เป็นอนุสาวนาจารย์ 

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดคงคาราม เพื่อเรียนธรรมบทและมงคลทีปนี ซึ่งอยู่ในหลักสูตรเปรียญ ประโยค ๓ และ ๔ กับพระพิศาลสมณกิจ และอาจารย์แจ้ง วัดจันทราวาส เพิ่มเติมอีกด้วย

         ผลของการเรียน ท่านเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งขณะแปลหนังสืออยู่กับพระพิศาลสมณกิจนั้น กรมพระสมมติอมรพันธุ์และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ซึ่งโดยเสด็จมากับพระพุทธเจ้าหลวงครั้งแปรพระราชฐานมายังเพชรบุรี) ได้เสด็จชมวัดวาอารามต่างๆ 

         เมื่อเสด็จมาถึงวัดคงคาราม ทรงได้ยินการแปลหนังสือของท่านด้วย ก็ทรงสนับสนุนให้พระพิศาลสมณกิจอาจารย์ของท่าน ให้ส่งตัวท่านไปสอบไล่ในสนามหลวง ไม่ควรจะหวงเอาตัวท่านไว้ทำงาน ทรงรับรองว่าต้องแปลได้ไม่ต่ำกว่าประโยค ๕ และจะทรงช่วยเหลือให้ความสะดวกต่างๆ ด้วย

         แต่ก็มีเหตุให้ท่านไม่ได้เป็นเปรียญอยู่จนได้ เพราะในครั้งกระนั้น การสอบบาลีในสนามหลวงมิได้มีทุกปี และหลังจากเสด็จกลับคราวนั้นแล้ว ต่อมาพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตเหตุการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไปอีก

         กล่าวคือปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ท่านได้เป็นพระสมุห์อินทร์ ฐานานุกรมพระพิศาลสมณกิจ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ท่านได้เป็นพระปลัดอินทร์ ฐานานุกรมพระพิศาลสมณกิจ

         ทำให้ท่านมีภาระหน้าที่มีเพิ่มมากขึ้น และยังจะต้องเป็นผู้บอกหนังสือให้กับพระภิกษุ-สามเณรอีกราว ๒๐ รูป ระหว่างเช้า-บ่าย นักเรียนรุ่นนั้นต่อมาได้เปรียญหลายรูป

ภาพถ่ายหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี
หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ท่านได้เข้าเรียนนักธรรมที่วัดเบญจมบพิตร พระนคร ซึ่งคณะนั้นเริ่มจะเริ่มมีหลักสูตรการเรียนนักธรรมกัน และสอบไล่ได้นักธรรมประโยค ๑ ในสำนักนั้น โดยใช้เวลาศึกษาอยู่ ๘ เดือน ระยะเวลานี้ท่านได้ฝึกเทศน์มหาชาติ มีกัณฑ์ทานกัณฑ์ เป็นต้น และยังได้ฝึกเทศน์ธรรมวัดด้วย

         เมื่อกลับมาจากวัดเบญจมบพิตรแล้ว ท่านได้สร้างหอไตรขึ้นหลังหนึ่ง จีนหงชาวบ้านปากทะเลเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ นายนิ่ม กลิ่นอุบล ผู้ทำลวดลาย ทำอยู่ ๓ ปีจึงสำเร็จ 

         ปัจจุบันหอไตรหลังนี้เก่าแก่ไปตามอายุ ตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโบสถวัดคงคาราม นับได้ว่าหอไตรหลังนี้เป็นศิลปกรรมชิ้นแรกของท่าน นอกจากท่านยังได้เป็นหัวหน้าเผาอิฐ เพื่อทำกำแพงวัดคงคาราม จนเสร็จเรียบร้อย

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่ออินทร์ ท่านบวชได้ ๑๑ พรรษา ท่านจึงได้ย้ายสำนักจากวัดคงคารามมาอยู่ ณ สำนักวัดยาง ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี (วัดอยู่คนละฝั่งถนนข้าม) เพื่อติดตามพระพิศาลสมณกิจผู้เป็นอาจารย์ 

          หลังจากที่ย้ายมาอยู่วัดยาง ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจอยู่ในเรื่องศิลปะการช่าง งานที่ได้ทำส่วนมากก็มีธรรมาสน์เทศน์ เมรุเผาศพ ช่อฟ้าใบระกา หอระฆัง ศาลาและโบสถ์ เป็นต้น

          ท่านเป็นพระภิกษุที่มีฝีมือเชิงช่างชั้นสูง ท่านได้สร้างธรรมาสน์อยู่หลายหลัง ซึ่งเป็นฝีมือของท่าน เช่น ที่วัดบัวงาม วัดหนองควง วัดสำมะโรง วัดปากคลองแหลมผักเบี้ย วัดใหม่ตีนครุฑ วัดแก้ว เมืองสมุทรสงคราม หอระฆังก็มีที่วัดยาง วัดหนองจอก วัดชะอำ เป็นต้น

          นอกจากนี้ก็มีแปลนโบสถ์ แปลนศาลา อีกเป็นจำนวนมาก ท่านจึงถือว่าเป็นผู้มีความสามารถในการช่างโดยแท้ มีความคิดความเข้าใจหลักแหลม สามารถออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยที่ท่านก็ไม่ได้เล่าเรียนมาจากใครโดยตรง

         อาศัยการจดจำและการสังเกตด้วยตนเอง พร้อมทั้งได้ปฏิบัติจริง ๆ มีอะไรขัดข้องก็ไตร่ถามหรือขอคำแนะนำจากท่านผู้รู้ เช่น ขุนศรีวังยศ (ขันธ์ เกิดแสงสี) เป็นต้น ด้วยเหตุที่ท่านมีความรู้ ความสามารถบริบูรณ์พร้อม

ภาพถ่ายหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี
หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางได้ว่างเว้นลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่ออินทร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง และยังเป็นเจ้าหมวดตำบลบ้านหม้อ (ตำแห่นงเจ้าคณะตำบลในปัจจุบัน) อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

         หลังจากที่หลวงพ่ออินทร์ ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส วัดยางก็เปรียบประดุจเป็นแหล่งเพาะช่างใหญ่ เป็นที่ชุมนุมช่างแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาจากสำนักนี้แล้ว ย่อมต้องมีความรู้ทางการช่างติดตัวไปเสมอ เพราะมีการช่างให้ฝึกอยู่ตลอดปี เช่น ช่างไม้ ช่างแกะสลัก เป็นต้น

         ผลงานต่างๆ ของท่านในเรื่องการช่างจึงเป็นที่ทราบกันโดยแพร่หลายแม้ในส่วนที่เกี่ยวกับทางราชการท่านก็ได้มีส่วนช่วยเหลือ ได้สร้างบุษบกประดิษฐานพานรัฐ-ธรรมนูญ ซึ่งทางราชการจัดพิธีเฉลิมฉลอง ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี จนเป็นที่เรื่องลือกันมากในครั้งนั้น

         ได้ทำซุ้มรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และในรัชกาลที่ ๘ รวมทั้งรับเสด็จพระสังฆราชด้วย 

         เมื่อทางราชการขยายการศึกษาด้านวิชาชีพขึ้น สมัยท่านยังเป็นพระปลัดอินทร์ เจ้าอาวาสวัดยาง พ.อ.หลวงอาจศรศิลป์ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ได้ขอให้ท่านเป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนการช่างขึ้นในวัดนี้ 

         ท่านได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นตามความประสงค์ โดยใช้ศาลาหลังหนึ่งเป็นอาคารเรียน (ขณะนี้ได้รื้อสาแล้ว) นับเป็นโรงเรียนอาชีพแห่งแรกของจังหวัด ซึ่งน่าจะได้บันทึกเรื่องราวไว้ด้วย โรงเรียนนี้ชื่อว่า "โรงเรียนช่างไม้วัดยาง" เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ 

         วิชาที่สอน มีวิชาช่างไม้เป็นวิชาหลัก วิชาสามัญ มีเลขคณิต บัญชี หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม สุขศึกษา จดหมาย เรียงความ เป็นต้น 

         โดยใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ รับนักเรียนที่จบชั้นประถมปีที่ ๔ เข้าเรียนต่อในชั้นประถมปีที่ ๕ และ ๖ รวมหลักสูตร ๒ ปี การปฏิบัติได้เขียนแบบ ทำโต๊ะ ม้านั่งเรียน เตียงนอน (ให้โรงเรียนฝึกหัดครู) ตู้ เก้าอี้ ฯลฯ สำหรับหน่วยงานราชการและโรงเรียนต่างๆ 

         ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรแล้ว จะเรียนต่อในโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด หรือ เข้าเป็นครูโรงเรียนประชาบาลก็ได้ ขณะที่มีนักเรียนประมาณ ๖๐ คน ครู ๓ คน ซึ่งนายสงวน มณีแสง ( เป็นครูใหญ่ ) ต่อมาโรงเรียนนี้ได้โอนไปสังกัดโรงเรียนรัฐบาล กรมอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑

         โรงเรียนได้เป็นที่น่าสนใจของประชาชนมากขึ้น สถานที่วัดยางไม่พอสำหรับการขยายจึงได้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนไปไว้ที่วัดเลา ถนนบริพัตร ตำบลท่าราบ โดยพระเดชพระคุณพระเทพวงศาจารย์ นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งแล้ว ท่านก็ยังได้ให้การอุปถัมภ์บำรุง รวมทั้งหาทุนทรัพย์ไว้ใช้จ่ายในโรงเรียน

         นับว่าท่านเป็นผู้วางรากฐานของโรงเรียนการช่างเพชรบุรีโดยแท้ ซึ่งบัดนี้ก็ได้เจริญก้าวหน้าและเปิดสอนจนถึงหลักสูตรอาชีวะชั้นสูงแล้ว ปัจจุบันคือวิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงพ่ออินทร์ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิศาลสมณกิจ

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านได้ดำรงตำแหน่งสาธารณูปการจังหวัดเพชรบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ด้วยคุณงามความดีของท่านที่ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้น ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ที่พระพิศาลสมณกิจ 

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวชิราภรณ์ 

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านได้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวงศาจารย์

ภาพถ่ายหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี
หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี

         หลวงพ่ออินทร์ ท่านก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ก่อประโยชน์เป็นอเนกประการให้กับวัดวาอารามทั่วไป ซึ่งงานด้านนี้มีทั้งงานปฏิสังขรณ์และส่งเสริมถาวรวัตถุ ปูชนียสถานต่างๆ ด้วย 

         ส่วนการซ่อมแซมสร้างถวายวัตถุในวัดยางนั้น ท่านมีวิริยะอุตสาหะแรงกล้า ได้ขออนุญาตทางราชการไปชักลากไม้จากป่ามาแปรรูปเอาเอง โดยมีพระภิกษุในวัดเป็นกำลัง 

         ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๘ ได้ไปนำไม้จากป่าบ้านกรูด ท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ไม้เป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าหลายแสนบาท 

          คือเมื่อออกพรรษาและสอบนักธรรมแล้ว ท่านพาพระปีละประมาณ ๒๕-๓๐ รูป เดินทางไปชักลากไม้ท้องที่ดังกล่าว 

         สมัยนั้นยังเป็นป่าใหญ่และยังมีไข้ป่าชุกชุม ด้วยความเอาใจใส่ในทุกด้าน ทุกอย่างจึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถซ่อมและสร้างกุฏิทุกหลังให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นระเบียบ สวยงามและมั่นคงแข็งแรง โดยสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมทรงไทย ๑ หลัง สร้างฌาปนสถานแบบทันสมัยได้อีก ๑ หลัง 

         ตลอดที่อยู่ใต้ร่มเงาพระศาสนา เป็นผู้ที่มากไปด้วยคุณความดีเป็นอเนกประการ มีศรัทธาแน่วแน่ในพระพุทธศาสนา จึงมีคณะศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือมากมาย

         และการที่ท่านตรากตรำต่อการทำงานและหน้าที่พระคณาจารย์ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เริ่มมีอาการอาพาธหนัก ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลา ๒๒ วัน

         หลวงพ่ออินทร์ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่ลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ เวลา ๒๑.๑๕ น. นับรวมสิริอายุได้ ๙๕ ปี ๗๔ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง

         เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกในงานฉลองตำแหน่งพระราชาคณะของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน และเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นแรก 2493 ทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นแรก 2493 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพิศาลสมณกิจ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สี่ ใต้อักขรยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๓"  ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวฉลองสมณศักดิ์ราชาคณะชั้นราช ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 2 2505 ทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระราชวชิราภรณ์" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สี่ ใต้อักขรยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๕"  ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยคณะศิษย์และประชาชน ร่วมกันสร้างถวายหลวงพ่อ เนื่องในโอกาส ฉลองโรงเรียนปริยัติธรรมและทำบุญอายุของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๓,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 3 2510 ทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระราชวชิราภรณ์" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สี่ ใต้อักขรยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๐"  ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยคณะศิษย์และประชาชน ร่วมกันสร้างถวายหลวงพ่อ เนื่องในโอกาส ฉลองตราตั้งตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้าเพียงเท่านั้น โดยเหรียญรุ่นนี้ได้หลวงพ่อแดง วัดเขาบรรไดอิฐ ร่วมปลุกเสก จำนวนการสร้างรวมกัน ๑,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 4 2512 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 4 2512 ทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระราชวชิราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สี่ ใต้อักขรยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๒"  ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่น ๕ 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวฉลองสมณศักดิ์ราชาคณะชั้นเทพ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อสแตนเลสเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 5 2517 ปีเนียม
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อสแตนเลส

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระเทพวงศาจารย์" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สี่ ใต้อักขรยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๕ ธ.ค. ๑๗"  ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่น ๖

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยคณะศิษย์วัดยาง นำโดย พ.อ.สุมิตร  แสงทอง เพื่อแจกในงานทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อระดมทุนในการจัดสร้างระบบประปา โดยเดินท่อส่งน้ำจากแม่น้ำเพรบุรี มาเพื่อใช้ในวัดยาง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อสแตนเลสเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๒๒,๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 6 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น ๖ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีรัดประคต เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระเทพวงศาจารย์" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พิเศษ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ บนอักขรยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ผ้าป่าสามัคคีคณะศิษย์วัดยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ๑๒ เม.ย. ๑๘" 

         เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่น ๗

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยพระครูประสิทธิ์วชิรสาร (หลวงพ่อบุญรวม เจ้าอาวาสองค์ถัดมา) ร่วมกับคณะศิษย์วัดยาง ขอจัดสร้างเพื่อแจกในคราวงานฉลองอายุ ๙๐ ปี ของพระเดชพระคุณพระเทพวงศาจารย์ (หลวงพ่ออินทร์) ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างเนื้อทองแดง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 7 2519 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น ๗ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระเทพวงศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สี่ บนอักขรยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดยาง ๙๐" ใต้อักขรยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๙" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่น ๘

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยคุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล มารดาของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล มีศรัทธาสร้างถวาย ออกแบบโดยกองกษาปณ์ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ซ่อมแซมศาลาการเปรียญซึ่งทรุดโทรมของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 8 2519 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น ๘ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์หันข้าง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระเทพวงศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัด (วัดยาง) เพชรบุรี" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ บนอักขรยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ฉลองอายุครบ ๙๐ ปี วันที่ ๖ ตุาลาคม ๒๕๑๙ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง" 

         รูปหล่อโบราณหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวฉลองสมณศักดิ์ราชาคณะชั้นเทพ ลักษณะเป็นรุปหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๒๐๐ องค์ เล่ากันว่าหลวงพ่อท่านไม่ชอบพระบูชาและหล่อโบราณเล็ก ด้วยเหตุผลที่ว่าช่างได้ออกแบบมาผิด ไม่มีผ้ารัดประคตคาดอก  ทำให้ดูไม่สำรวม ซึ่งหลวงพ่ออินทร์ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดมาก จึงได้ทำลายบล๊อคทิ้ง และไม่นำออกให้บูชา แต่ท่านก็ปลุกเสกให้อย่างดี และจะมีศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้นที่ได้ไปบูชา

รูปหล่อโบราณหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นแรก  2517 ทองเหลือง
รูปหล่อโบราณหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์นั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดยาง" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงเรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         รูปหล่อบูชาหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในคราวฉลองสมณศักดิ์ราชาคณะชั้นเทพ ลักษณะเป็นรุปหล่อบูชาขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๒๐๐ องค์ เล่ากันว่าหลวงพ่อท่านไม่ชอบพระบูชาและหล่อโบราณเล็ก ด้วยเหตุผลที่ว่าช่างได้ออกแบบมาผิด ไม่มีผ้ารัดประคตคาดอก  ทำให้ดูไม่สำรวม ซึ่งหลวงพ่ออินทร์ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดมาก จึงได้ทำลายบล๊อคทิ้ง และไม่นำออกให้บูชา แต่ท่านก็ปลุกเสกให้อย่างดี และจะมีศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้นที่ได้ไปบูชา

รูปหล่อบูชาหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นแรก  2517 ทองเหลือง
รูปหล่อบูชาหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์นั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระเทพวงศาจารย์ วัดยาง จ.เพชรบุรี" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงเรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         รูปหล่อบูชาหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเดชพระคุณพระเทพวงศาจารย์ (หลวงพ่ออินทร์) ภายใต้ฐาน บรรจุเกศาของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นรุปหล่อบูชาขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อบูชาหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น 2 2530 ทองเหลือง
รูปหล่อบูชาหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่ออินทร์นั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระเทพวงศาจารย์ (อินทร์ อินทโชโต" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ ใต้ฐานปั๊มตราวัด


         พระผงหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง พิมพ์เล็บมือ (พิมพ์รัศมี)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผุ้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระเนื้อผงพิม์สี่เหลี่ยมปลายมน มีการสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณ บางตำราว่ามีส่วนผสมของสมเด็จบางขุนพรหมที่เปิดกรูปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยมีการนพพระที่แตกหักมาเป็นส่วนผสม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระผงหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี พิมพ์เล็บมือ 2500 ผงพุทธคุณ
พระผงหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี พิมพ์เล็บมือ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อผงพุทธคุณ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระผงปางสมาธิประทับนั่งบนฐาน ๓ ชั้น องค์พระมีเส้นรัศมีสวยงาม มีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         สมเด็จหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง พิมพ์ปรกโพธิ์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ โดย หลวงพ่อเสนาะ (วัดป้อม) และคณะศิษย์วัดยาง เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง ลักษณะเป็นสมเด็จปั๊มพิมพ์สี่เหลี่ยม มีการสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณ จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ องค์ หลังจากที่แจกในงานแล้วที่เหลือได้ทำการบรรจุกรุไว้ที่เจดีย์ภายในวัด

สมเด็จหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี พิมพ์ปรกโพธิ์ 2510 ผงพุทธคุณ
สมเด็จหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี พิมพ์ปรกโพธิ์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อผงพุทธคุณ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จปรกโพธิ์ องค์พระนั่งมารวิชัย หูบายศรี มีเส้นซุ้มระฆังครอบแก้วสวยงาม มีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         สมเด็จหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง พิมพ์อกร่อง-หูบายศรี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกในงานผ้าป่าสามัคคีวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ลักษณะเป็นสมเด็จปั๊มพิมพ์สี่เหลี่ยม มีการสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณ จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ องค์ หลังจากที่แจกในงานแล้วที่เหลือได้ทำการบรรจุกรุไว้ที่เจดีย์ภายในวัด

สมเด็จหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี พิมพือกร่อง-หูบายศรี 2515 ผงพุทธคุณ
สมเด็จหลวงพ่ออินทร์ วัดยาง เพชรบุรี พิมพ์อกร่อง-หูบายศรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อผงพุทธคุณ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จปรกโพธิ์ องค์พระเป็นพระพิมพ์อกร่อง หูบายศรี มีเส้นซุ้มระฆังครอบแก้วสวยงาม มีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง


ไม่มีความคิดเห็น