โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร กรุงเทพมหานคร พระอาจารย์ชื่อดังของบางขุนเทียน

ภาพถ่ายหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร บางขุนเทียน กรุงเทพ
ภาพถ่ายหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร บางขุนเทียน กรุงเทพ

          หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร หรือ พระครูถาวรสมณวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดไทร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ท่านเกิดที่บ้านกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๓ ท่านมีนามเดิมว่า อ๋อย ถาวรวยัคฆ์ 

         โยมบิดาชื่อนายเสือ ถาวรวยัคฆ์ โยมมารดาชื่อนางสำริด ถาวรวยัคฆ์ ในวัยเด็กบิดาได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือไทยที่สำนักวัดนางสาว โดยเรียนรู้อักษรไทยสมัยเก่าแค่อ่านออกเขียนได้คล่อง ท่านจึงกลับไปช่วยทำงานทางบ้าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ หลวงพ่ออ๋อย ท่านมีอายุเข้าสู่ปีที่ ๒๖ จึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดนางสาว ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับฉายาว่า "ยโส" โดยมี

         พระอธิการนิล วัดนางสาว เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อเกิด เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดนางสาวเพื่อเรียนวิชาอาคมกับพระอุปัชฌาย์ โดยสมัยนั้นมีพระที่บวชวัดเดียวกันซึ่งต่อมาได้เป็นสหายทางธรรมที่สนิทสนม กันคือหลวงพ่อคง วัดหงอนไก่ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลังจากจำพรรษาอยู่ที่วัดนางสาวได้ ๑ พรรษา ท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดไทร บางขุนเทียน พระนครฯ เพื่อทำการ ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยอันเป็นข้อปฏิบัติของสงฆ์ พร้อมทั้งร่ำเรียนอักษรขอม แล้วจึงหันมาสนใจการศึกษาด้านพุทธาคมเวทมนต์คาถา กระทั่งเชี่ยวชาญ

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าอธิการวัดไทรได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงได้นิมนต์หลวงพ่ออ๋อยขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดไทร และในปีนั้นเองท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดบางประทุน อีกตำแหน่งหนึงด้วย 

         วัดไทร เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งที่ ๑๑ หมู่ ๒ ถนนเอกชัย แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร อดีตเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าเสือหรือพระเจ้าสรรเพ็ชญ์ที่ ๘ และปัจจุบันยังมีตำหนักให้รับชมอยู่ วัดติดกับคลองสนามชัย เป็นวัดที่เก่าแก่และโด่งดังในเขตจอมทองและแขวงบางขุนเทียน

         เป็นวัดโบราณที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมใช้ชื่อว่า วัดไซ แต่ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นวัดไทร เพราะคาดว่าเดิมมีต้นไทรใหญ่อยู่หน้าวัด ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ และอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยมอบหมายให้ช่างชาวจีนชื่อ จีนเต๋า เป็นผู้ปฏิสังขรณ์

         พระอุโบสถของวัดได้ขึ้นชื่อว่าเป็น โบสถ์ ๒ สมัย อุโบสถหลังใหม่ประดับประดาด้วยกระเบื้องสีขาวนวล แซมด้วยกระเบื้องสีต่างๆ เป็นลวดลาย ส่วนหลังคาเป็นกระเบื้องสีน้ำเงิน ภายในประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธมงคลอภิปูชนีย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ด้านซ้ายและขวามีพระสาวกนั่งอยู่ ส่วนอุโบสถสมัยแรกตั้งอยู่ด้านหลังของอุโบสถปัจจุบัน สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ มีลักษณะเรียบง่ายและมีขนาดย่อมกว่าโบสถ์หลังใหม่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสลักหินทรายสีแดงปางต่างๆ

         ใกล้อุโบสถหลังเก่า เป็นพระวิหารถาวรสามัคคีธรรม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ด้านในมีรูปปั้นของพระครูถาวรสมณวงศ์ (หลวงปู่อ๋อย) เกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านยาสักและเล่นแร่แปรธาตุ ด้านขวาวิหารนี้เป็นหอระฆังและหอกลองโบราณ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙

         ภายในวัดมีตำหนักทองวัดไทร หรือ ตำหนักพระเจ้าเสือ กรอบหน้าต่างมีฐานสิงห์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา เชื่อว่าพระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางทะเลและได้แวะพักกลางทางบริเวณนี้ ช่วงปี พ.ศ. ๒๒๔๖ – ๒๒๕๑ เป็นเรือนไม้ มีงานไม้แกะสลักฝีมือช่างหลวง กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้

         หลังจากที่หลวงพ่ออ๋อยได้เป็นเจ้าอาวาสวัดไทร ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ และการสร้างเสนาสนะต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่รักษาศีลและประพฤติตัวประกอบอาชีพสุจริต

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่ออ๋อย ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูถาวรสมณวงศ์" พระครูพิเศษชั้นตรี ผู้ช่วยเจ้าคณะแขวงล่าง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้เลื่อนเป็นพระครูพิเศษชั้นโท ในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบางขุนเทียน โดยใช้ราชทินนามเดิม

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก ในตำแหน่่งผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ โดยใช้ราชทินนามเดิม

         หลวงพ่ออ๋อย ท่านได้เป็นสหายทางธรรมกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากจึงไปมาหาสู่กันเป็นประจำโดยหลวงพ่อรุ่ง ท่านจะเดินทางมาหา หลวงพ่ออ๋อย ที่วัดไทร เป็นประจำพร้อมค้างแรมครั้งละหลายคืนเสมอเพราะพระคณาจารย์ ผู้เป็นสหายทางธรรมมักจะมีการแลกเปลี่ยนวิชากัน

         เนื่องจากหลวงพ่ออ๋อย เองท่านเป็นชาวกระทุ่มแบน อันเป็นเขตที่ตั้งของวัดท่ากระบือ ของหลวงพ่อรุ่ง พระคณาจารย์ทั้งสองจึงชอบพอกันเป็นพิเศษ

         หลวงพ่ออ๋อย ท่านชอบถือธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ โดยระหว่างนั้นได้หาแร่ธาตุต่างๆที่เห็นว่าแปลกและต้องกับตำราว่ามีกฤตยานุภาพ ตลอดจนที่มีกล่าวไว้ในตำราเล่นแร่แปรธาตุ สะสมรวบรวมเอาไว้นอกจากนี้ ยังสะสมว่านต่างๆไว้มากมาย ทั้งว่านยา ว่านมหามงคล และว่านที่มีอานุภาพทางคงกระพันชาตรี โดยท่านจะนำบางอย่างมาใช้ทำเป็น ยาสัก อันเลื่องชื่อของท่าน

ภาพถ่ายหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร บางขุนเทียน กรุงเทพ
ภาพถ่ายหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร บางขุนเทียน กรุงเทพ

         หลวงพ่ออ๋อย ท่านโด่งดังด้านยาสัก โดยใช้สมุนไพรสักลงบนผิวหนังเพื่อ รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้ชาวบ้านหายขาดอยู่เสมอจึงมีชื่อเสียงโด่งดังมาก

         ในย่านบางขุนเทียน นอกจากชื่อเสียงอันเกริกไกรของพระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม) หรือ เจ้าคุณเฒ่าวัดหนังแล้ว หลวงปู่อ๋อย วัดไทรก็นับเป็นเกจิอาจารย์ดังอีกองค์หนึ่งที่มีวิทยาคมไม่เป็นสองรองใคร

         ท่านเชี่ยวชาญด้านยาสัก และการเล่นแร่แปรธาตุจนสำเร็จเป็น ทองคำ นาก เพชร พลอย รวมทั้งสร้างพระด้วยเนื้อผงผสมว่านต่างๆแจกลูกศิษย์ ซึ่งมีพุทธคุณยอดเยี่ยมทางอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม ในสมัยนั้นสมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ เลื่อมใสท่านมาก เวลาสร้างพระกริ่งและปลุกเสกคราวใดจะต้องนิมนต์ท่านมาด้วยทุกครั้ง

         พลังจิตของท่านกล้าแข็งมาก สามารถเสกใบมะขามเป็นตัวต่อตัวแตนได้ และเสกสิ่งของวัตถุมงคลอย่างใด ก็ล้วนแต่ขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

         ด้วยความเป็นผู้ชอบศึกษาค้นคว้าและเป็นนักทดลอง สมัยที่ยังมีชีวิตจะเห็นตำรับตำรา เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆมากมาย และในยามว่างจากรักษาคนไข้แล้ว ท่านจะทดลองถลุงแร่ แปรธาตุต่างๆ เมื่อปฏิบัติเห็นผลแล้ว ท่านก็เลิกทำ เพราะเป็นเครื่องชักจูงให้ติดอยู่ในทางให้เกิดความโลภของลูกศิษย์

         แพทย์แผนโบราณก็เป็นวิชาที่ท่านสนใจมากเช่นกัน วิชาที่รักษาโรคใดที่ยังไม่ได้เรียน ก็จะมุ่งมั่นค้นคว้าจากตำราจนสำเร็จ ทั้งนี้ การรักษาโรคด้วยยาสักมีเคล็ดอยู่ว่า "ถ้าใครไม่ขอร้องให้รักษา จงอย่าขันอาสารักษาให้"

         น้ำมันมนต์ของท่านช่วยชีวิตคนที่เป็นโรคห่า(อหิวาตกโรค)ไว้มากมาย ข้าวสารเสกเลื่องลือมาก หากใครได้กินจะร่ำเรียนปัญญาดี คนบางขุนเทียนสมัยนั้นนิยมกันมาก แม้แต่คนกรุงเทพฯ ยังเอาไปให้ท่านเสกกันเป็นจำนวนมาก 

         สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเสกทรายใส่ถุงเล็กๆแจกจ่ายทหารและชาวบ้านให้ไปพกติดตัว ปรากฏว่าไม่เป็นอันตรายเลย เป็นเรื่องเล่าขานกันมาจนทุกวันนี้

รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร กรุงเทพ
รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร กรุงเทพ

         นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า สมัยนั้นตลาดน้ำวัดไทรเป็นที่ชุมนุมเรือขายของต่างๆมากมาย บางคนขึ้นมาถ่ายเบา-ถ่ายหนัก หลวงพ่ออ๋อยท่านก็จะออกไปว่ากล่าวตักเตือนจนไม่มีใครกล้าทำ อีกเลย พระเณรในวัด ถ้าไม่ท่องหนังสือจะมาเดินเล่นหน้าวัดหรือบริเวณวัดไม่ได้ บางองค์ฟังวิทยุท่านก็จะบอกว่าการบันเทิงไม่ใช่กิจของสงฆ์

         ท่านพูดเสียง ดังฟังชัด ชอบพูดตรงๆไม่อ้อมค้อม และชอบคนที่พูดตรงๆเช่นกัน ใบหน้าท่านเอิบอิ่ม ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ดวงตาของท่านกล้า แข็งเป็นที่เกรงกลัวกันมาก ทว่าใครก็ตามที่ได้สัมผัสใกล้ชิดแล้ว ต่างกล่าวขานถึงความเมตตาอันมากล้น 

         โดยเฉพาะผู้ที่รอดพ้นจากความตายด้วยยาสักของท่าน ต่างเชื่อมั่นในบารมีแห่งตัวท่านไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับผู้ที่มี พระว่าน หรือ เหรียญรูปเหมือน ของท่านติดตัวบูชา ต่างรู้ซึ่งถึงคุณค่าและพุทธคุณที่ล้ำเลิศจนน่าอัศจรรย์ใจ

         ชาวตลาดพลู ชาวบางขุนเทียน นับถือพระท่านมาก ปัจจุบันพระเครื่องเนื้อว่านของท่าน จะหาองค์แบบจัดจ้านแบบเก่าถึงยุคลำบากมากเหมือนกัน พระเครื่องของหลวงพ่ออ๋อยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อว่านส่วนมาก  (โดยประสบการณ์ พระพิมพ์ บัวคว้ำ บัวหงาย เนื้อลองพิมพ์ (สีดำ) นี้สุดยอด ขนาดมีดปาดตาลเฉือนเข้าที่ข้อนิ้วไม่เป็นอะไรเลย (แค่เสียวๆเท่านั้นเอง)

         หลวงพ่ออ๋อย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ นับรวมสิริอายุได้ ๘๙ ปี ๖๒ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร

         เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณทรงห้าเหลี่ยม มีทั้งที่มีหูเหรียญและไม่มีหูเหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่ทองเหลืองก้นอุดชันโรง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก 2460 ทองเหลือง
เหรียญหล่อพระพุทธหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อทองเหลือง ของคุณธีรวัฒน์ โสภาธี

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธินั่งขัดสมาธิเพชร ภายในซุ้มเรือนแก้ว องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ มีรอยตะไบแต่ง ก้นด้วยชันโรง

         เหรียญพระพุทธชินราช หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นล้างป่าช้า

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ หรือช่วยในงานบำรุงกุศลล้างป่าช้าของทางวัดไทร (ปัจจุบันคือตลาด) ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยทรงเสมา มีการสร้างด้วยเนื้อเงินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นล้างป่าช้า 2470 เงิน
เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นล้างป่าช้า ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เนื้อเงิน ของคุณจอน พันทิพย์
เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นล้างป่าช้า 2470 เงินกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นล้างป่าช้า ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เนื้อเงินกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธชินราชประทับนั่งบนฐานบัว ๒ ชั้น

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ ในบางเหรียญมีรอยจาร

         เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยเหรียญรุ่นนี้มีตกค้างหลังจากที่หลวงพ่อมรณภาพแล้ว ซึ่งทางวัดได้นำเหรียญมาทำผิวไฟและกล่องแล้วออกให้บูชาหาุทนให้กับทางวัดจึงทำให้เกิดความสับสนในการเล่นหา ซึ่งมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก 2493 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก 2493 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดง ของคุณธีรวัฒน์ โสภาธี

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่ออ๋อยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระขอม ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระเลขเขียนว่า "๒๔๙๓" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ซึ่งมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่น 2 2493 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดง ของคุณเปี้ยง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่ออ๋อยครึ่งองค์หันข้าง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ 

         ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่รฤกในการบำเพ็ญกุศลฉลองอายุครบ ๘๐ ปี พระครูถาวรสมณวงศ์ ๒๔๙๓"

         เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่น ๓

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกในงานฉลองมณฑปของทางวัดซึ่งถือเป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายที่ทันหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ซึ่งมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่น 3 2500 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่ออ๋อยครึ่งองค์หันข้าง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ 

         ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีรูปมณฑปของวัด มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในการสร้างมนฑปพระพุทธบาทจำลองพุทธศักราช ๒๕๐๐ พระครูถาวรสมณวงศ์ เจ้าอาวาส วัดไทร บางขุนเทียน ธนบุรี"

         เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยด้านหน้าทางวัดได้ใช้บล็อกหน้าตรงปี ๒๔๙๓ มาใช้ทำให้มีรอยแตกของบล็อก ส่วนด้านหลังใช้บล็อกปี ๒๕๐๐ มาปั๊มแล้วนำเหรียญมาเชือมประกบกัน ด้านข้างจึงมีรอยประกบ ซึ่งมีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ และเนื้อเงิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่น 4 2501 เงิน
เหรียญหลวงพ่ออ๋อย วัดไทร รุ่น ๔ หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อเงิน

         ด้านหน้า ใช้บล็อกของเหรียญหน้าตรงรุ่นแรก เป็นรูปจำลองของหลวงพ่ออ๋อยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระเลขเขียนว่า "๒๔๙๓" ซึ่งตรงเลข มีรอยแตกเป็นขีด

         ด้านหลัง ใช้บล็อกของเหรียญรุ่น ๓ ตรงกลางเหรียญมีรูปมณฑปของวัด มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในการสร้างมนฑปพระพุทธบาทจำลองพุทธศักราช ๒๕๐๐ พระครูถาวรสมณวงศ์ เจ้าอาวาส วัดไทร บางขุนเทียน ธนบุรี"



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

 บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น