โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลของหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา พระเกจิที่เสกจระเข้จากใบลานของเมืองเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี
หลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี

         หลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา หรือ พระอธิการเดช (เดช ครุวาโร) วัดถิ่นปุรา ตำบลดอนยาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า เดช สุวรรณศิลป์ พื้นเพเป้นชาวบ้านโพธิ์พระ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ไม่ปรากฏชื่อของโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ หลวงพ่อเดช ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์พระนอก ตำบลโพพระ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "ครุวาโร" โดยมี

         หลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อทิพย์ วัดโพธิ์พระใน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์พระนอก เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม บทสวดต่างๆ ตลอดจนอักขระไทย-ขอม จนมีความชำนาญ 

         ส่วนในด้านพุทธาคมท่านได้ร่ำเรียนกับหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล จนแตกฉานวิชาอาคมต่างๆมากมาย 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ หลวงพ่อเดช ท่านได้เดินทางมายังพื้นที่ของวัดถิ่นปุรา เพื่อทำการสร้างวัดขึ้น โดยแรกเริ่มเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ภายหลังจากที่ท่านสร้างวัดถิ่นปุราจนเสร็จ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดถิ่นปุราในเวลาต่อมา 

รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี
รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี

         วัดถิ่นปุรา เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เริ่มแรกเป็นเพียงที่พักสงฆ์ จนสร้างเป็นวัดสำเร็จในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๔ มีหลวงพ่อเดช เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

          วัดถิ่นปุรา เดิมชื่อวัดถิ่นปลาร้า ที่ว่าเป็นปลาร้านั้นก่อนที่จะตั้งเป็นวัดนั้นที่ดินแปลงที่ตั้งวัดเป็นที่ดินของคนชื่อนางถิ่น ซึ่งมีอาชีพทำการค้าขายเป็นหลัก โดยทำการขายปลาร้าในที่ของตน ต่อมามีพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาจำพรรษาอยู่ในที่ของนางถิ่น

         นางถิ่นจึงได้ถวายที่ดินให้กับพระสงฆ์ให้เป็นสถานที่ที่ปฏิบัติธรรม ต่อมาเมื่อมีพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลทราบข่าวว่ามีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา

         จึงเกิดความศรัทธาได้พากันมาทำบุญ จากนั้นชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธก็จะพูดชักชวนกันว่าไปทำบุญที่วัดของนางถิ่นขายปลาร้ากันก็เรียกติดปากว่าวัดถิ่นปล้าร้ามาระยะหนึ่ง

         ต่อมาเมื่อนานวันเข้าคำว่าถิ่นปลาร้า จึงมีการรียกเพื้ยนเป็นถิ่นปุรา เพราะคำว่าปุรานั้นแปลว่าโบราณซึ่งหมายถึงเก่า มาบวกกับวัดนั้นเป็นวัดเก่าจึงเรียกว่าวัดถิ่นปุรามาจนถึงปัจจุบัน

         หลังจากหลวงพ่อเดชได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อเดช ได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่และพระภิกษุสงฆ์ จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น เพื่อให้บุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ได้ศึกษาเล่าเรียน 

         โดยเริ่มแรกได้ใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่เรียน และทำเรื่องขอจัดตั้งเป็นโรงเรียนในวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อเปิดสอนในระดับประถมศึกษา ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดถิ่นปุรา (เดชสมบูรณ์)

ภาพถ่ายในงานศพของหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี
งานศพของหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี

         หลวงพ่อเดช ท่านเป็นพระเกจิที่มีวิทยาคุณพุทธคุณสูง คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านเป็นพระที่ถือสันโดษ พูดน้อย มีวาจาสิทธิ์ สมัยก่อนท่านได้รับนิมนต์ไปฉันเพลขากลับเกิดฝนตกหนัก แต่ท่านกลับไม่เปียกเลย แต่พระลูกวัดที่ไปด้วยกันกับท่านเปียกโชกไปทั้งตัว 

         นอกจากนี้ยังเล่าต่อกันว่า ท่านสามารถเสกจระเข้ที่สานจากใบลานให้กัดกันได้ เหมือนมีชีวิตจริงๆ และในงานฌาปนกิจของท่านเล่ากันว่าหลังจากที่เก็บสรีระของท่านไว้ ๓ ปี ก่อนงานฌาปนกิจสับเหร่อเถือร่างท่านไม่เข้า ต้องทำพิธีขอขมาจึงสามารถเถือเนื้อท่านเข้า

         หลวงพ่อเดช ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ นับรวมสิริอายุได้ ๗๑ ปี ๕๐ พรรษา และมีงานฌาปนกิจในมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา

         เหรียญหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี รุ่นแรก 2500 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี รุ่นแรก 2500 อัลปาก้า-ข้าง
เหรียญหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเดชครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเดช ครุวาโร วัดถิ่นปุรา"

         ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" และข้างอักขระยันต์มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ธะ"  

         เหรียญหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา รุ่นแรก (แจกผู้หญิง)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปวงกลมแบบมีหูในตัว เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญกลมหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี รุ่นแรก 2500 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี รุ่นแรก(แจกผู้หญิง) ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเดชครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเดช ครุวาโร วัดถิ่นปุรา"

         ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" 

         เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล หลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา สร้างถวาย

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อปลอด-หลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี 2496 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล หลวงพ่อเดช วัดถิ่นปุรา เพชรบุรี สร้างบูชา ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเดช องค์หลวงพ่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๖" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" รอบอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รูปพระอุปัจฌายเปนที่ระลึก ของเจ้าอาวาสวัดถิ่นปุรา"  


 

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น