ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่ใจ วัดเชิงเลน ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
![]() |
หลวงพ่อสุดใจ วัดเชิงเลน นครปฐม |
หลวงพ่อใจ วัดเชิงเลน หรือ พระอุปัชฌาย์สุดใจ ธมฺมสโร อดีตเจ้าอาวาวัดเชิงเลน ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นพระเถระนักปกครองและเป็นพระเกจิอาจารย์เรืองนามรูปหนึ่งของอำเภอสามพราน เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อไสว วัดปรีดาราม ในสมัยที่บรรพชาเป็นสามเณร
หลวงพ่อใจ ท่านมีนามเดิมว่า สุดใจ สีผึ้ง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหงส์ อำเภอ สามพราน จังหวัดนครปฐม เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ โยมบิดาชื่อนายผึ้ง สีผึ้ง โยมมารดาชื่อนางส้มจีน สีผึ้ง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน ได้แก่
๑. นางวัน แพถนอม
๒. พระปลัดใจ ธมมสาโร
๓. พระครูไพศาลธรรมวาที (จิตร)
๔. นายผาด สีผึ้ง
๕. นางผิว อินทรหัวย่าน
ที่บ้านของท่านประกอบอาชีพทำนา มีฐานะดี โยมบิดาและโยมมารดาจึงได้ส่งท่านไปศึกษาวิชาเขียนอ่านตามสมัยนิยมขั้นพื้นฐานที่กรุงเทพฯ
ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อใจ ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเชิงเลน ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้รับฉายาว่า "ธมฺมสโร" โดยมี
หลวงพ่อแสง วัดนางสาว สมุทรสาคร เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อก้อง วัดเชิงเลน นครปฐม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดเชิงเลนเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และวิชาอาคมต่างๆจากพระอธิการก้อง และยังเดินทางไปศึกษาวิชากับหลวงพ่อแสง จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย
ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ หลวงพ่อก้องได้ลาสิกขา คณะสงฆ์จึงยกให้หลวงพ่อใจที่ขณะนั้นอุปสมบทได้ ๔ พรรษา ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลังจากที่หลวงพ่อใจรักษาการเจ้าอาวาสวัดได้ ๑ ปี ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดเชิงเลน เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๕๔ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบางข้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔๙ ไร่
วัดเชิงเลน ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ชื่อวัดตั้งตามสภาพภูมิศาสตร์ เนื่องจากสถานที่ตั้งวัดอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต่อมากระแสน้ำได้พัดพาเลนดินมาทับถมบริเวณริมฝั่งแม่น้ำท่าวัด ทําให้เกิดแผ่นดินตรงหน้าวัด ยื่นออกไปหลายตารางเมตร จึงทำให้ที่ตั้งวัดไกลกับตลิ่งของแม่น้ำท่าจีน
ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและผู้บริจาคที่ดิน วัดเชิงเลน ตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๕ ภายในวัดมีหลวงพ่อวัดเชิงเลน (เพ็ง) เป็นพระประธาน องค์พระมีขนาดประมาณกว้าง ๗๒ นิ้ว สูง ๙๖ นิ้ว
ได้รับการบูรณะและพัฒนามาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนาม คือ
๑. พระบุญชู
๒. พระครูนวม
๓. พระแจ้ง
๔. พระก้อง
๕. พระปลัดใจ ธมฺมสาโร พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๘๑
๖. พระครูไพศาลธรรมวาที (จิตร ภงฺคญาโณ) พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๕๐๒
๗. พระอิ่ม ปคฺโณ พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๑๔
๘. พระครูพิสิฐพัฒนาการ (ทองสุก โฆษโก) พ.ศ. ๒๕๑๔ - ๒๕๒๐
๙. พระครูอภัยภัทนคุณ (บุญล้อม อติภทฺโท) พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๕๙
๑๐. พระมหาสุธี อาสโภ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อใจได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
หลวงพ่อใจได้ปกครองดูแลพระสงฆ์สามเณรวัดเชิงเลนให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นอย่างดีจึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและคณะสงฆ์อำเภอสามพราน
ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระปลัดใจ ฐานานุกรมของพระทักษิณานุกิจ(หลวงพ่อผัน) วัดสรรเพชญ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรส เป็นผู้ประทานแต่งตั้ง
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการศึกษาของเยาวชน โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดเชิงเลนเป็นสถานที่เล่าเรียนเปิดสอนชั้น ป.๑ - ป.๓ (แต่ได้ปิดลงเพราะขาดเงินสำหรับจ้างครูมาสอน)
ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดบางช้าง (ปัจจุบันคือเจ้าคณะตำบล)
หลวงพ่อใจ ท่านเป็นนักพัฒนาได้สร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ไว้ภายในวัดเชิงเลน เป็นจำนวนมากทำให้เป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด โดยที่วัดนี้ อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี จึงมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสมาแวะเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ
มีหลักฐานบันทึกในหนังสือประวัติ หลวงปู่ใจ วัดเชิงเลน กล่าวว่า ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทางชลมารค ผ่านมาและได้ทรงประทับพักผ่อนเสวยพระกระยาหารที่ศาลาตรีมุข วัดเชิงเลน
หลวงพ่อใจ พร้อมด้วยคณะศิษย์ถวายการต้อนรับ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินบรรจุใส่กระป๋องเงินจำนวน ๑๒ บาท ถวายหลวงพ่อใจ วัดเชิงเลน โดยเงินพระราชทานดังกล่าวท่านได้เก็บรักษาไว้จนกระทั่งมรณภาพ
และหากมีงานพระราชทานเพลิงศพ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ใหญ่ พระพุทธเจ้าหลวง ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้นิมนต์ หลวงปู่ใจ ไปร่วมงานทรงถวายสิ่งของให้หลวงพ่อใจประกอบด้วยบาตรใหญ่ปิ่นโตเรือและตะบันหมาก
นอกจากนี้ หลวงพ่อใจยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ หลวงปู่ใจ เข้าเฝ้าที่พระราชวังสนามจันทร์ นับว่าหลวงพ่อใจเป็นพระเถระสำคัญที่ได้ รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
หลวงปู่ใจ นอกจากเป็นพระเถระนักพัฒนาแล้วท่านยังได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งของลุ่มน้ำนครชัยศรีเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เรืองอาคม มีพลังจิตตานุภาพสูงมีความรอบรู้เรื่องโหราศาสตร์และแพทย์แผนโบราณ
เชี่ยวชาญการทำน้ำมนต์ขับไล่คุณไสย ภูตผีปีศาจ ตลอดทั้งการประกอบพิธีกรรมต่างๆ วัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง ที่ท่านสร้างไว้ได้แก่ ผ้ายันต์อิติปิโสแปดทิศ ตะกรุดโทน ตะกรุดสาลิกา ตะกรุดมหาอุด ตะกรุดเมตตามหานิยม และเหรียญรูปเหมือน
โดยเฉพาะเหรียญพระอุปัชฌาย์สุดใจ ธมฺมสโร เป็นเหรียญที่นิยมว่า มีพุทธคุณสูงอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวในช่วงเข้าพรรษา แต่ยังไม่ได้ทันแจกท่านก็มรณภาพเสียก่อน จึงมีความสับสนว่าเหรียญได้รับการปลุกเสกหรือไม่
และเมื่อพบเจอเหรียญในกุฏิของหลวงพ่อใจ หลวงพ่อจิตรน้องชายของท่านเจ้าอาวาสรูปถัดมาจึงได้จัดพิธีพุทธาภิเษกโดยนิมนต์หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ปลุกเสกทับอีกครั้ง และนำไปแจกในวันงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อใจ
หลวงพ่อใจ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันพุธที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ นับรวมสิริอายุได้ ๗๒ ปี ๕๑ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงปู่ใจ วัดเชิงเลน
เหรียญหลวงพ่อสุดใจ วัดเชิงเลน รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๑ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างอาคารเรียนและผู้มาร่วมงานเปิดโรงเรียน "นครใจราษฎร์" แต่หลวงพ่อมรณภาพเสียก่อน หลวงพ่อจิตรน้องชายและเจ้าอาวาสรูปถัดมาจึงนำมาแจกในงานศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหยดน้ำแบบมีหูในตัว เหรียญได้รับมีพิธีพุทธาภิเษกเพิ่มเติมโดยหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อสุดใจ วัดเชิงเลน นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อทองแดง |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อสุดใจ วัดเชิงเลน นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อสุดใจครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์(สุดใจ) ธมฺมสโร"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อะ ระ หัง" บนสุดมีอักขระยันต์ตัว "อุ" (อุฌาโลม)
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อนาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม เจ้าของพระเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อเมฆพัดของไทย
- ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พระเกจิชื่อดังหนึ่งในพระเบญจภาคีเหรียญหล่อเมืองไทย
ไม่มีความคิดเห็น