โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ เจ้าของหนุมานโลหะที่เข้มขลัง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์
หลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์

         หลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม ตำบลสี่เหลี่ยม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังของภาคอีสาน ท่านมีนามเดิมว่าเม้า สุราราช พื้นเพเป็นคนนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดเมื่อวันพุธขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ โยมบิดานายเพิ่ม สุราราช โยมมารดาชื่อนางจีบ สุราราช

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงปู่ท่านมีอายุได้ ๑๓ ปี โยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อให้ได้ศึกษาวิชาเขียนอ่านกับพระอาจารย์นิล วัดใหม่เรไรทอง ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ท่านมีอายุ ๒๐ ปีครบบวช ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดใหม่เรไรทอง ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ฉายาว่า "พลวิริโย" โดยมี

         พระอาจารย์นิล วัดใหม่เรไรทอง เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงปู่เม้า ท่านถือเป็นพระนักพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะหลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดใหม่เรไรทองเรื่อยมาและในช่วงเวลานี้เอง ท่านได้ร่วมกับญาติโยมในถิ่นนั้นช่วยกันสร้างศาลาการเปรียญจนสำเร็จ ๑ หลัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ หลวงปู่เม้า ท่านได้ย้ายจากวัดใหม่เรไรทอง ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านถนนหัก ซึ่งในขณะนั้นมีหลวงพ่อเพียรเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ศึกษาวิชาวิปัสนากรรมฐานอยู่กับพระอาจารย์เพียร ซึ่งต่อมาเป็นพระอาจารย์ที่โด่งดังในช่วงเวลาต่อมา

         และในระหว่างที่หลวงปู่เม้า ท่านอยู่จำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็ได้สร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง กุฏิ ๑ หลังจนสำเร็จ หลังจากที่ท่านได้เรียนวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์เพียร จนหมดสิ้นแล้ว

         ท่านก็ได้เดินทางไปศึกษาวิชาอยู่กับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งขณะนั้นก็มีพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระร่วมศึกษาอยู่ด้วย

         ต่อมาท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านตะโก ท่านก็ได้พัฒนาวัดตะโก จนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ โดยสร้างพระอุโบสถ ๑ หลัง และสระน้ำใว้ในวัดเพื่อความสะดวกของพระภิกษุสามเณรและญาติโยมโดยทั่วไป

ภาพถ่ายหลวงพ่อเม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์
หลวงพ่อเม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์

         เมื่อท่านเห็นว่าวัดตะโกนี้ก็มีความเจริญรุ่งเรืองดีแล้ว ท่านไม่ต้องการที่จะหาความสุขส่วนตัวอยู่ที่วัดนี้ ท่านจึงย้ายไปจากวัดบ้านตะโก ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดสังเวทวิริญาวาส และได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง พระอุโบสถ ๑ หลัง กุฏิ ๑ หลัง 

         และยังแบ่งที่ดินในวัดให้สร้างโรงเรียนอีก ๔ ไร่ เพื่อที่จะใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตรกุลธิดาของญาติโยมในถิ่นนั้น

         หลังจากนั้นท่านจึงได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดบ้านหนองยายพิม ท่านก็ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและความสุขส่วนตัว ท่านยังได้ทุ่มเทกำลังกายสร้างกุฏิ ๑ หลัง ศาลาการเปรียญ ๑ หลังจนสำเร็จ หลังจากนั้นท่านจึงย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหนองสี่เหลี่ยม ปัจจุบันเรียกว่าวัดสี่เหลี่ยม

         หลังจากที่ท่านย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสี่เหลี่ยม ท่านก็ได้เริ่มงานพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ โดยการสร้างพระอุโบสถ ๑ หลัง 

         แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ เพราะขาดทุนทรัพย์ในการก่อสร้างและตัวหลวงปู่เองก็มีอายุ ๑๐๐ ปีแล้ว จึงอยากให้พระอุโบสถหลังนี้เสร็จโดยเร็ว

         หลวงปู่เม้าจึงดำริที่จะสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่านขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อที่จะได้ให้ไว้เป็นเครื่องสักการะบูชายึดเหนี่ยวจิตใจ และคุ้มครองภัยตรายแก่บรรดาลูกศิษย์โดยทั่วกัน อีกทั้งจะได้นำทุนทรัพย์มาทำการบูรณะปฏิสังขรสร้างพระอุโบสถให้สำเร็จลุล่วงต่อไป

         ในการก่อสร้างพระอุโบสถในสมัยนั้น หลวงปู่เม้าท่านจึงได้สร้างสิ่งมงคลขึ้นโดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ได้ทรงเป็นองค์ประธานจัดงาน

         โดยหลวงปู่เม้า ท่านจะปลุกเสกวัตถุมงคลในคืนที่มีจันทรุปราคา ในโบราณถือว่าเป็นฤกษ์ดีที่สุดในการปลุกเสกเครื่องรางของขลังต่างๆ และพอท่านนั่งปรกปลุกเสก ได้เกิดเหตุการณ์ฝนตกลงมาอย่างน่าอัศจรรย์

          ท่ามกลางพระสงฆ์สามเณรและสาธุชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นฝนที่ไม่ได้ตั้งเค้ามาก่อน อีกทั้งยังเป็นช่วงหน้าแล้งมาก และเมื่อหลวงปู่เม้าปลุกเสกเสร็จแล้ว พื้นที่ในอำเภอนางรอง ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก

         เพียงพอกับการต่ออายุพืชผลเกษตร สวนทางกับพื้นที่เขตอำเภอใกล้เคียงและจังหวัดอื่นในภาคอีสานกับแล้งขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้ศิษยานุศิษย์ของท่านทั้งหลายได้ตื่นตากับเหตุการณ์นั้น

         หลวงปู่เม้า ท่านเป็นพระภิกษุที่มีความเมตตาต่อลูกศิษย์ลูกหาทุกคน โดยไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ท่านให้ความเสมอภาคเท่ากันหมด ลูกศิษย์ต่างๆ ของท่านทั่วทุกสารทิศในประเทศไทย 

         ญาติโยมที่เดินทางไกลไปนมัสการท่าน หลวงปู่เม้าก็ให้เข้าพบโดยมีได้รังเกียจกีดกันใดๆ แม้แต่น้อย ท่านช่วยปัดเป่าความเดือดร้อนให้เขาเหล่านั้นได้สมความหวังที่ตั้งใจไว้

         ในสมัยก่อนนั้นหลวงปู่เม้า ท่านมีชื่อเสียงเรื่องการรดน้ำพระพุทธมนต์ ใครที่ได้รดน้ำมนต์กับท่านจะอยู่เย็นเป็นสุข และยังจากรดน้ำมนต์แล้วท่านมักจะมอบเครื่องรางของขลังให้ไว้บูชาอีกด้วย

         เมื่อสมัยสงครามอินโดจีนเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ลากยาวมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ชาวบ้านที่เคารพนับถือหลวงปู่เม้า ต่างมุ่งหน้าเดินทางมาขอบูชาวัตถุมงคลต่างๆ โดยเฉพาะผ้ายันต์และตะกรุดโทนอันลือชื่อ

         โดยเฉพาะเหล่าทหาร ได้รับผ้ายันต์หรือตะกรุดโทน ต่างได้รับความปลอดภัย แคล้วคลาดจากภัยในสมรภูมิได้ทุกท่านราวปฎิหาริย์

         จนเมื่อท่านจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ท่านทราบข่าวถึงความปลอดภัยแคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ อย่างน่าอัศจรรย์ กิติศักดิ์เป็นที่เลื่องลือ ท่านจึงได้ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่

         หลวงปู่เม้าท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคม มีญานจิตสูงรูปหนึ่ง บารมีแก่กล้า วาจาศักด์สิทธิ์ (ในปากท่านเป็นลิ้นดำ) ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ที่มีเมตตาธรรมขั้นสูงสุด ที่รู้อดีตปัจจุบันและอนาคต 

         นายกรัฐมนตรีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เป็นอีกบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่ให้ความเคารพนับถือหลวงปู่เม้า ที่เป็นพระวัดบ้านป่า ห่างไกลเมืองหลวงแต่ชื่อเสียงของหลวงปู่ก็ยังโด่งดังเข้าไปถึงยังพระนครเลยทีเดียว

         หลวงปู่เม้า ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ นับรวมสิริอายุได้ ๑๐๒ ปี ๘๒ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม

         เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถของวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว โดยมีพิธีในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๑๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ซึ่งตรงกับวันทำบุญอายุของหลวงปู่เม้า พลวิริโย ครบ ๑๐๐ ปี พอดี โดยเริ่มพิธีในเวลา ๑๘.๐๐ น. มีพระสงฆ์ ๑๐๐ รูปร่วมเจริญพระพุทธมนต์

         จากนั้นหลวงปู่จะทำการปลุกเสกเหรียญรูปเหมือน ซึ่งเป็นเหรียญรุ่นแรกของท่าน วันรุ่งขึ้นวันพุธที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๗ หลังพิธีมีการถวายอาหารบิณฑบาตรแด่พระภิกษุ ๑๐๐ รูปเสร็จแล้ว 

         พระภิกษุทำพิธีสวดต่ออายุให้แก่หลวงปู่ หลังจากเสร็จพิธีต่างๆ แล้วหลวงปู่จะมีของแจกเป็นที่ระลึกในงานนี้ด้วย ซึ่งเหรียญของหลวงปู่นั้นมีการสร้างด้วยโลหะ ๔ ชนิดด้วยกัน คือเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อทองแดง แบ่งออกเป็น 

         เหรียญทองคำ สร้างจำนวน ๙ เหรียญ ออกให้บูชาเหรียญละ ๒,๕๐๐ บาท

         เหรียญเงิน สร้างจำนวน ๓๐๐ เหรียญ ออกให้บูชา เหรียญละ ๒๐๐ บาท

         เหรียญสัมฤทธิ์(นวะ) สร้างจำนวน ๓๐๐ เหรียญ ออกให้บูชา เหรียญละ ๑๐๐ บาท

         เหรียญทองแดง สร้างจำนวน ๗,๙๐๘ เหรียญ ออกให้บูชา เหรียญละ ๒๐ บาท

เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก 2517 เงิน
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก 2517 นวะ
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อนวะ

เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก 2517 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่เม้าครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่เม้า พลวิริโย ฉลองอายุครบ ๑๐๐ ปี รุ่น ๑" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานสร้างพระอุโบสถ วัดสี่เหลี่ยม จ.บุรีรัมย์ ๒๓ พ.ค. ๒๕๑๗"

         หนุมานหล่อโบราณหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถของวัด ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณลอยองค์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
 

หนุมานหล่อโบราณหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก 2517 ทองเหลือง
หนุมานหล่อโบราณหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหนุมานทรงเครื่องนั่งสมาธิบนฐานเขียง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดสี่เหลี่ยม" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่เม้า"

         ใต้ฐาน มีรอบอุดกริ่งด้วยทองแดง

         รูปหล่อโบราณหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถของวัด ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณลอยองค์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
รูปหล่อโบราณหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก 2517 ทองผสม
รูปหล่อโบราณหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อโลหะผสม

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อนั่งสมาธิบนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่เม้า" 

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระ

         ใต้ฐาน เรียบ มีรอยตะไบ

         เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม รุ่นมหานิยม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถของวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยโลหะ ๔ ชนิดด้วยกัน คือเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นมหานิยม 2518 นวะ
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นมหานิยม ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อนวะ
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นมหานิยม 2518 เงิน
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นมหานิยม ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นมหานิยม 2518 กระไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นมหานิยม ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นมหานิยม 2518 ทองทอง
เหรียญหลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ รุ่นมหานิยม ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่เม้านั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มหาลาภ" ถ้าเนื้อทอแดงที่สังฆาฏิมีโค้ดตอก

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่เม้า วัดสี่เหลี่ยม บุรีรัมย์ อายุ ๑๐๑ ปี ๒๕๑๘" ถ้าเป็นเนื้อทองคำ เงิน และนวะโลหะที่พื้นเหรียญจะตอกเลขนับจำนวน

หมายเหตุ

         บางตำราว่ามีหลวงพ่อเพียร วัดถนนหัก เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เมื่อค้นประวัติของหลวงพ่อเพียร ท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๔๑๓ แก่กว่าหลวงปู่เม้า ๔ ปี 

          และหลวงพ่อเพียรได้เป็นเจ้าอาวาสวัดถนนหักในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ - พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นไปไม่ได้ที่พระที่บวชแค่ ๔ ปี แล้วจะได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่เม้า จึงสรุปได้ว่าข้อมูลนั้นผิดพลาดหลวงพ่อเพียร ไม่ใช่พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่เม้าอย่างแน่นอน

 

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น