โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง พระเกจิเจ้าของเหรียญอันดับหนึ่งของอุบลราชธานี

ภาพหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

         หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง หรือ พระครูวิโรจน์รัตโนบล อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เกิดเมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๘ โยมบิดาชื่อนายบุดดี โยมมารดาชื่อนางดา 

         ในวัยเยาว์ท่านเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดกว่าเด็กทั่วไป โยมบิดาจึงส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาเบื้องต้น ที่สำนักราชบรรเทา โดยได้ศึกษาอักษรลาว อักษรไทย อักษรขอม จนอ่านออกเขียนได้ ท่านมีนิสัยเป็นคนสุภาพเรียบร้อยไม่ชอบทำบาปมาตั้งแต่เด็กๆ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๒ หลวงปู่รอด ท่านมีอายุได้ ๒๔ ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดป่าน้อย (ปัจจุบันเรียกว่า วัดมณีวนาราม) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับฉายาว่า "นนฺตโร" โดยมี

         พระอธิการจันลา จันทรังสี วัดป่าน้อย (วัดมณีวนาราม) เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์ดำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์ดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่าน้อยเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ท่องบทสวดมนต์ อันมี เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน พระปาฏิโมกข์ สัททสังคหสูตร มูลกัจจายน์ จนจบ 

         พระอุปัชฌาย์เห็นว่า ท่านมีความรู้ดีจึงส่งท่านไปอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ท่านก็ได้ปฏิบัติเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ขยันเอางานเอาการ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดทุ่งศรีเมืองได้ว่างลง ทางการจึงแต่งตั้งให้หลวงปู่รอด เป็นเจ้าอาวาสปกครอง วัดทุ่งศรีเมืองทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดทุ่งศรีเมือง หรือ วัดทุ่งชายเมือง เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งโดยพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสัมฆปาโมกข์ (สุ้ย) วัดมณีวนาราม ในสมัยปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) 

         โดยพระอริยวงศาจารย์ฯ ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) และเห็นว่าพื้นที่ป่าชายดงอู่ผึ้ง หรือ พื้นที่ทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน มีความเงียบสงบ จึงได้ริเริ่มที่จะสร้างวัดทุ่งศรีเมืองขึ้น 

         และได้มีการสร้างหอพระพุทธขึ้นมาเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองที่ได้จำลองแบบมาจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัดทุ่งศรีเมืองเป็นที่ลุ่ม เมื่อถึงฤดูฝนมักเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ในช่วงแรกของการสร้างนั้น จำเป็นต้องมีการถมดินเพื่อยกระดับความสูงของพื้นที่ขึ้น จึงได้มีการขุดดินบริเวณโดยรอบขึ้นมาใช้จนเกิดเป็นหนองน้ำ ๓ แห่ง คือ หนองหมากแซว, หนองดินจี่ (ปัจจุบันถูกถมไปแล้วทั้ง ๒ แห่ง) และหนองน้ำทางทิศเหนือของวัดในปัจจุบัน

         ซึ่งต่อมาได้มีการสร้างหอพระไตรปิฎกขึ้นที่กลางหนองน้ำดังกล่าว เพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

         นอกจากนี้ ดินที่จากการขุดนี้ส่วนหนึ่งถูกนำมาทำเป็นอิฐก้อนเพื่อสร้างหอพระพุทธบาทข้างต้น โดยการก่อสร้างวัดทุ่งศรีเมืองในช่วงแรกนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของพระอริยวงศาจารย์ฯ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนตฺโร) และครูช่างคำหมา แสงงาม (ศิลปินแหงชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙) และช่างโพธิ์ ส่งศรี 

         ส่วนปีที่เริ่มสร้างนั้นยังไม่อาจสรุปได้ เนื่องจากเอกสารต่างๆให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน โดยอาจเป็นปี พ.ศ. ๒๓๕๖ หรือปี พ.ศ. ๒๓๖๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง

         เดิมทีพื้นที่ของวัดทุ่งศีเมืองในปัจจุบันนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัดมณีวนาราม หลังจากสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ จึงได้แยกพื้นที่ออกมาก่อตั้งเป็น วัดทุ่งศรีเมือง

         โดยขณะนั้นมีพระจำพรรษาอยู่เพียง ๒ รูป คือ พระอริยวงศาจารย์ฯ และญาคูช่าง ซึ่งเป็นพระเถระ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง นับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

         ๑. พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย คำหลัก) พ.ศ. ๒๓๕๖ หรือ ๒๓๖๕  – ๒๓๙๕ (ขณะนั้นครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม หลังสร้างวัดทุ่งศรีเมืองเสร็จ โดยพฤตินัยแล้วจึงถือกันว่าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองร่วมด้วย)

         ๒. พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) พ.ศ. ๒๔๒๔ – ๒๔๘๕ 

         ๓. พระครูสีตาภินันท์ (สีดา อินทฺปญฺโญ) พ.ศ. ๒๔๘๕  – ๒๕๐๑

         ๔. พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท) พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๔๘ 

         ๕. พระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ) พ.ศ. ๒๕๔๘  – ๒๕๕๗

         ๖. พระวิโรจน์รัตนโนบล (จันทร์ จนฺทสโร) ป.ธ.๓ พ.ศ. ๒๕๕๗ – ปัจจุบัน

ภาพหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

         หลังจากที่หลวงปู่รอด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         โดยเฉพาะหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ที่ท่านได้ทำการบูรณะซ่อมแซมครั้งแรก โดยมีการเปลี่ยนหลังคากระเบื้องไม้เกล็ดเป็นสังกะสี ซึ่งถือว่ามีความแข็งแรงคงทนมากแล้วในสมัยนั้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ และต่อมาท่านก็ได้เป็น "พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช" 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็น "พระครูวิโรจน์รัตโนบล"

         หลวงปู่รอด ท่านเป็นพระที่ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ที่เดือดร้อนในเรื่องต่างๆ เสมอมา ด้วยความเต็มอกเต็มใจ จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของบรรพชิตและคฤหัสถ์โดยทั่วไป ทั้งเมืองอุบลฯ และเมืองใกล้เคียง 

         ท่านเป็นผู้นำสาธุชนเข้ายึดพระรัตนตรัย ด้วยการอบรมให้เล่าเรียน ธรรมปฏิบัติ ทำให้คนชั่วกลับตัวมาเป็นคนดีเป็นจำนวนมาก 

         ดังนั้นเวลาท่านดำริจะทำอะไรเป็นต้องสำเร็จ ท่านได้นำประชาชนบูรณะก่อสร้างถาวรวัตถุ ไว้หลายแห่งในเขตปกครองของท่าน ที่สำคัญที่สุดก็คือการบูรณะพระธาตุพนม อันเป็นพุทธเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ของเมืองอุบลฯ

         กล่าวกันว่าในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พระมหาโชติ วัดบูรพา เมืองอุบลฯ พร้อมทั้งหลวงปู่มั่น (ภูริทัต) และหลวงปู่เสาร์ (กันตสีโล) กับคณะเดินธุดงค์มาพักจำพรรษา อยู่บริเวณพระธาตุพนม 

         ท่านอาจารย์ทั้ง ๓ ท่านเห็นว่าองค์พระธาตุหมองคล้ำคร่ำคร่า ควรจะทำการบูรณะให้สวยงาม ก็เห็นพ้องกันว่ามีแต่ พระครูอุดรพิทักษ์คณเดช (หลวงปู่รอด) แห่งวัดทุ่งศรีเมืองเท่านั้น ที่จะมีความสามารถบูรณะได้สำเร็จ 

         จึงได้เรียกหัวหน้าญาติโยมชาวพระธาตุพนมมาแนะนำให้ไปนิมนต์หลวงปู่รอดมา เพื่อทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ชาวบ้านจึงได้นำหนังสือของพระอาจารย์ทั้งสาม ไปนิมนต์หลวงปู่รอด 

         ท่านก็ได้รับปากและมาช่วยบูรณะองค์พระธาตุพนมได้สำเร็จ โดยมีชาวบ้านและชาวลาวหลั่งไหลกันมาทั่วสารทิศ มาช่วยกันทำงานประมาณ ๒ เดือน ก็สำเร็จและมีการฉลองเป็นงานใหญ่ นับว่าเป็นงานปฏิสังขรณ์ชิ้นสำคัญที่ต้องจดจารึกไว้

         หลวงปู่รอด ชาวเมืองอุบลราชธานีรวมทั้งคนทั่วๆ ไปเรียกท่านอีกชื่อหนึ่งว่า ท่านพระครูดีโลด หรือหลวงปู่ดีโลด เพราะท่านจะพูดอะไรกับใครๆ หรือฟังใครพูด เวลาเขาเหล่านั้นพูดจบหรือเล่าจบ ท่านมักรับคำของเขาว่า "ดีๆ" 

         ใครจะพูดร้ายหรือพูดดีกับท่าน ท่านก็จะพูดว่า "ดีๆ" เวลามีอารมณ์ชนิดไหนก็ตาม ก่อนท่านจะพูดอะไรก็ชอบเปล่งอุทานว่า "ดีๆ" เขาจึงถวายนามพิเศษว่า "หลวงปู่ดีโลด" คำว่าโลดเป็นคำพื้นเมือง แปลว่า "เลย" คำว่าดีโลดก็หมายความว่า "ดีเลย" นั่นเอง

         สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่รอดนั้น ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อาทิ เหรียญรุ่นแรก เหรียญรุ่น ๒ เหรียญรุ่น ๓  และเสื้อยันต์ ถือเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั้งในจังหวัดอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านหาชมยาก

         หลวงปู่รอด ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงมรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ นับรวมสิริอายุได้ ๘๘ ปี ๖๔ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง

         เหรียญหลวงพ่อปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง รุ่นแรก 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยพลตรีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้สร้างถวายหลวงปู่ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าไม่เกิน ๑,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่นแรก นิยม 2483 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่นแรก พิมพ์ใหญ่ (นิยม) ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่นแรก นิยม 2483 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่นแรก พิมพ์ใหญ่ (นิยม) ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดง ของคุณเปี้ยง
เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่นแรก ต้อ 2483 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่นแรก พิมพ์ต้อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่รอดนั่งสมาธิบนอาสนะเต็มองค์ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว

         เหรียญหลวงพ่อปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง รุ่นสาม (ดอกจิก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ในสมัยหลวงพ่อสีดาเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปดอกจิกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่น 2 ดอกจิก 2492 ทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่น ๒ (ดอกจิก) ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ของคุณอภิสิทธิ์ จุใจล้ำ
เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่น 2 ดอกจิก กลาก 2492 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่น ๒ (ดอกจิก หลังมีกลาก) ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่รอดครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิโรจนรัตโนบล" 

         ด้านหลัง มีรูปจำลองพระธาตุอยู่ที่กลางเหรียญ ข้างรูปพระธาตุมีอักขระยันต์อ่านว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้รูปพระธาตุมีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๒" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในสมัยหลวงพ่อสีดาเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่น 3 2494 ทองแดง
เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองพระธาตุพนมอยู่ที่กลางเหรียญ ใต้รูปพระธาตุมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระธาตุพนม"  

         ด้านหลัง เป็นรูปจำลองหลวงปู่รอดครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวโรวรัตโนบล ๒๔๙๔" 

         เสื้อยันต์หลวงพ่อปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง 

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในสมัยหลวงพ่อสีดาเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับวัด และแจกในคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา ลักษณะเป็นเสื้อยันต์ปั๊มยันต์ต่างๆ มีเชือกผูกที่ข้างลำตัว มีการสร้างด้วยเนื้อผ้าสีแดง เหลือง และขาว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เสื้อยันต์หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี 2485
เสื้อยันต์หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี ราวปี พ.ศ. ๒๔๘๕

         ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่รอดครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิโรจนรัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง" ที่เหลือเป็นอักขระยันต์ต้่งๆ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ต่างๆ


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น