โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พระเกจิชื่อดังของเมืองพิษณุโลก สองแคว

ภาพถ่ายหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พิษณุโลก
หลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พิษณุโลก

         หลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน หรือ พระครูประพันธ์ศีลคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางสะพาน ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก มีนามเดิมว่า พันธ์ นาคผสม พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านโพนหนองแข้ ตำบลนาหอ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๘ ปีมะแม โยมบิดาชื่อนายอ้น นาคผสม โยมมารดาชื่อนางบุญธรร นาคผสม มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๖ คน ดังนี้

         ๑. นางหนูนั่น

         ๒. พระครูประพันธ์ศีลคุณ

         ๓. นางพุ่ม

         ๔. นางพวง

         ๕. นางบุญยวง

         ๖. นายพิมพ์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ครอบครัวของท่านได้อพยพมาอยู่ที่บ้านหนองปรือ ตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ท่านมีอายุได้ ๗ ขวบ ได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านวังนกแอ่น ตำบลวังนางแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ท่านมีอายุได้ ๑๐ ขวบ ย้ายกลับไปอยู่กับยายที่บ้านในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ท่านมีอายุได้ ๑๓ ปี ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านน้ำตุม ตำบลแสงดาว อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 

         ต่อมาย้ายไปอยู่กับย่าที่บ้านตรอกศาลเจ้า หลังโรงน้ำแข็ง แล้วย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ บ้านทุ่งสมเด็จ หลังวัดน้อย (ปัจจุบันคือโรงเรียนเทศบาล ๔ จังหวัดพิษณุโลก)

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านมีอายุได้ ๑๖ ปี จึงได้เข้าเรียนหนังสือที่วัดน้อยกับพระอาจารย์เกี้ยง เป็นเวลา ๓ เดือน จนอ่านหนังสือเรียนเล่ม ๑ ถึงตาห้องหลังโกง (ตาห้องหลังโกง เป็นตำราเรียนชนิดหนึ่งในอดีต) และได้ลาออกจากวัดไป

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ หลวงพ่อพันธ์ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๑๘ ปี ท่านได้เข้ารับราชการเป็นพลตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอนครไทย

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่อพันธ์ ท่านมีอายุครบ ๒๒ ปี ท่านจึงลาออกจากราชการตำรวจ แล้วเข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดราชบูรณะ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พระครูอนุโยคศาสนกิจ (รอด) วัดนางพญา เจ้าคณะแขวง เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังจากบวชได้ ๑ พรรษาก็ลาสิกขาบทเพื่อดูแลบิดามารดา และใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง ซึ่งในระหว่างนี้ ท่านได้ไปฝากตัวศึกษาวิชากับหลวงปู่หุย วัดหัวร้อง อำเภอนครไทย และหลวงพ่อเรือง วัดบ้านดง อำเภอชาติตระการ ซึ่งถือผู้เรืองอาคมและเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อพันธ์ ขณะนั้นมีอายุได้ ๓๔ ปี ท่านเกิดเบื่อหน่ายทางโลก จึงตัดสินใจเข้าอุปสมบทอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เวลา ๑๕.๓๐ น.ได้รับฉายาว่า "สุสิโม" โดยมี

         พระวรญาณมุนี (พร้อม พุทธสโร) วัดใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระปลัดชั้น วัดใหญ่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระวินัยธรบุญ วัดใหญ่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดใหญ่เรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชาต่างๆ กับพระอุปัชฌาย์ ทั้งพระปริยัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคมจนมีความเชี่ยวชาญ

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านสอบได้นักธรรมตรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านสอบได้นักธรรมโท

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านสอบได้นักธรรมเอก

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนทอง รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะหมวดดอนทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวังทองว่างลง ทางคณะสงฆ์จึงมีมติแต่งตั้งให้ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส รับตำแหน่งเจ้าคณะหมวดวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภออีก ๑ ตำแหน่งด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ถัดมาอีก ๖ เดือน ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระครูชั้นประทวน และเป็นเจ้าคณะอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก มีนิยภัต (เงินเดือน) ๖ บาท และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๔๗ ปี ๑๓ พรรษา

ภาพถ่ายหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พิษณุโลก
หลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พิษณุโลก

         วัดวังทองวราราม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เดิมชื่อวัดตลาดชุม สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีโบราณสถานสำคัญ คือ อุโบสถเก่าสถาปัตยกรรมทรงโรง แบบอยุธยา 

         ภายหลังวัดตลาดชุมได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เกือบหมดสิ้น คงเหลือโบราณสถานสำคัญ คือ อุโบสถเก่าสถาปัตยกรรมทรงโรง แบบอยุธยา  

         ต่อมาได้มีชาวบ้านย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้น จึงได้ทำการช่วยสร้างวัดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ และเริ่มมาบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จนเจริญก้าวหน้าและสร้างอุโบสถหลังใหม่ ได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๑๑ 

         โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ป๋า) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ เป็นประธาน และได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดวังทองวราราม วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗ 

         หลังจากที่หลวงพ่อพันธ์ ได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ท่านได้สร้างตลาดสดทรงมะลิลาขึ้น เพื่อเป็นที่ค้าขายสินค้าของชาวบ้านในพื้นที่และต่างถิ่น โดยท่านออกเงินในการก่อสร้าง ๘๕.๕๐ บาท

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อพันธ์ ที่ได้พัฒนาวัดและชุมชนในพื้นที่จนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูประพันธ์ศีลคุณ รับนิยภัต ๓๐ บาท

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านได้ก่อสร้างกุฏิสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ลักษณะเป็นห้องแถว ๒ ชั้น จำนวน ๔ ห้อง โดยใช้เงินจากเงินเดือนธรณีสงฆ์(กรมการศาสนา) และเงินทางวัดจัดหามา เป็นเงิน ๑๒,๑๕๗.๗๕ บาท

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก รับนิยภัต ๘๐ บาท

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้เริ่มสร้างศาลาการเปรียญขึ้นที่วัดตลาดชุม(วัดวังทอง) จำนวน ๑ หลัง ใช้เงินก่อสร้าง ๖๔,๑๕๗.๗๕ บาท โดยหลวงพ่ออกเงินส่วนตัวจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งปีนั้นหลวงพ่อได้รับ นิยภัต ๑๐๐ บาท

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้ต่อเติมโรงครัวของวัดวังทอง และได้สร้างตลาดสดหลังที่ ๒ ขึ้น และสร้างสระน้ำอีก ๑ บ่อ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ทางวัดวังทองวราราม เกิดมีข้อครหาเกี่ยวกับกรรมการวัดบางคน มีผลประโยชน์ในการสร้างตลาดสดหลังที่ ๒ โดยหลักฐานยังไม่มีปรากฎว่ามีความผิดหรือไม่ แต่มีกลุ่มคนพยายามบีบให้หลวงพ่อพันธ์รับผิดชอบกับการทุจริต และไล่กรรมการวัดผู้นั้นออกจากตำแหน่ง

         หลวงพ่อพันธ์ จึงได้กล่าวกับหลวงพ่อวาว ในลักษณะที่ว่า "ถ้าเราดีจริงเดี๋ยวคนก็ตามมาเอง" แล้วท่านก็ขอลาออกจาก ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอวังทอง และเจ้าอาวาสวัดวังทองวราราม โดยเหลือไว้แต่ตำแหน่งพระอุปัชฌาย์

         แล้วจึงเดินทางไปจำพรรษาที่ วัดบางสะพาน ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ในตำแหน่งลูกวัด 

ภาพถ่ายหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พิษณุโลก
หลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พิษณุโลก

         วัดบางสะพาน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เริ่มสร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ยกที่ดินเพื่อสร้างวัด มีเจ้าอาวาสที่มีการจดบันทึกไว้ดังนี้

         ๑. พระเที่ยง พ.ศ. ๒๔๐๐ – พ.ศ. ๒๔๓๕

         ๒. พระครูเหมน (เจ้าคณะหมวด) พ.ศ. ๒๔๓๕ – พ.ศ. ๒๔๔๗

         ๓. พระครูพลอย ร/ก พ.ศ. ๒๔๔๗ – พ.ศ. ๒๔๔๙

         ๔. พระเชย พ.ศ. ๒๔๔๙ – พ.ศ. ๒๔๖๑

         ๕. พระขาว(สร้างอุโบสถ) พ.ศ. ๒๔๖๑ – พ.ศ. ๒๔๗๒

         ๖. พระปูน  ร/ก  พ.ศ. ๒๔๗๖ – พ.ศ. ๒๔๗๙

         ๗. พระเฮียง ร/ก พ.ศ. ๒๔๗๙ – พ.ศ. ๒๔๘๑

         ๘. พระสาย ร/ก พ.ศ. ๒๔๘๑ – พ.ศ. ๒๔๘๒

         ๙. พระยง ร/ก พ.ศ. ๒๔๘๓ – พ.ศ. ๒๔๙๐

         ๑๐. พระเมี้ยน ร/ก พ.ศ. ๒๔๙๐ – พ.ศ. ๒๔๙๕

         ๑๑. พระอธิการโพธิ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ – พ.ศ. ๒๕๐๒

         ๑๒. พระอธิการบุญ ฐิติวีโร พ.ศ. ๒๕๐๘ – พ.ศ. ๒๕๑๐

         ๑๓. พระครูประพันธ์ศีลคุณ  พ.ศ. ๒๕๑๐  – พ.ศ. ๒๕๑๘

         ๑๔. พระครูสุวรรณธรรมาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๘  – พ.ศ. ๒๕๔๗

         ๑๕. พระใบฏีกายงยุทธ ร/ก  ๒๒ ต.ค. ๒๕๔๗ – ๒๒ ธ.ค. ๒๕๔๗

         ๑๖. พระครูจิรกิจจาทร  ๒๓ ธ.ค. ๒๕๔๗ – ถึงปัจจุบัน

         * หมายเหตุ พ.ศ. ๒๕๐๓ - พ.ศ. ๒๕๐๘ ไม่มีการบันทึกไว้ 

         หลังจากที่หลวงพ่อพันธ์ ได้ย้ายมาจำพรรษาเป็นพระลูกวัดที่วัดบางสะพาน ท่านก็ได้ถือสันโดษ ไม่ข้องเกี่ยวกับงานดูแลวัดแต่อย่างใด แต่ท่านก็ยังเป็นที่พึ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ของท่าน ที่แหแหนกันมาช่วยกันพัฒนาวัดบางสะพาน

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลังจากที่ท่านย้ายมาจำพรรษาที่วัดบางสะพานนานถึง ๘ พรรษา ท่านก็ทนต่อเสียงรบเร้าของบรรดาลูกศิษย์และชาวบ้านในพื้นที่ประกอบกับทางวัดขาดเจ้าอาวาสที่ต้องดูแลวัด ท่านจึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางสะพาน

         หลังจากที่ท่านรับตำแหน่ง ท่านก็ได้พัฒนาวัดจนเจริญขึ้นให้เป็นไปอย่างง่ายดาย เพราะได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่ และบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่มีอยู่อย่างมากมาย จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก

ภาพถ่ายหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พิษณุโลก มรณภาพ
หลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน พิษณุโลก (มรณภาพ)

         หลวงพ่อพันธ์ ท่านเป็นพระที่มีวิทยาคมสูงที่เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้าน ท่านมักสร้างวัตถุมงคลไว้แจกจ่ายชาวบ้าน โดยท่านเริ่มนำว่านยา แร่ธาตุต่างๆ มาผสมบดรวมกับชานหมาก และมหาอุด ทำจากไม้ไผ่รวกยอดด้วน 

         ชี้ไปทางทิศตะวันขึ้น บรรจุเศษไม้สากแม่ม่าย ชานหมาก อุดด้วยดินขี้สูตดินราบ บวชพระ ๑ ครั้ง ทำได้ไม่เกิน ๒-๓ ดอก เมื่อพระสวดถึงมิ ก็ภาวนาอุด แล้วเอามีดปาดทันที นำลงอักขระเสกกำกับที่กุฏิ ๓ คืน 

         ตลอดจนชายจีวรที่ท่านนำไปห่มต้นโพธิ์ และมีเด็กมาเลี้ยงวัวในวัดเอานำจีวรที่ต้นโพธิ์ไปทำหางว่าว แล้วเกิดทะเลาะกับเพื่อน จึงถูกเพื่อนฟันด้วยมีด แต่ไม่เข้าไม่ระคายผิว จึงลือลั่นไปทั่ว และมีเกียรติศัพท์ด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย 

         ในสงครามอินโดจีน จึงมีผู้คนไปขอชานหมากและชายจีวร ตะกรุด ปลอกลูกปืน ลงอักขระ รูปอัดกระจก จนท่านเคี้ยวและเสกแจกให้เกือบไม่ทัน

         ในยุคแรก ทหารพิษณุโลกที่ไปราชการสงคราม มาขอของดีจากท่าน อาทิ พลทหารบุญเลิศ มีศิลป์ อาสาสมัครไปรบสมรภูมิเวียดนามและลาว ถูกยิงหลายครั้ง แต่กระสุนปืนไม่ระคายผิวหนังแต่ประการใด

         หลวงพ่อพันธ์ ต้องรับธุระพระพุทธศาสนา ในฐานะเจ้าคณะปกครอง ปฏิบัติศาสนกิจมาหลายปี ไม่มีเวลาที่จะแสวงหาความสงบได้ โดยปกติหลังออกพรรษาท่านจะเดินเท้าเข้าป่า เขตวังทอง นครไทย ชาติตระการ ด่านซ้าย เลย และเพชรบูรณ์ แสวงหาว่านยา แร่ธาตุ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

         บางครั้งท่านหายไปเป็นสิบๆวัน ชาวบ้านคิดว่าท่านคงถูกเสือหรือสัตว์ป่าทำร้าย หรือเป็นไข้ป่าเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อท่านกลับออกมาอย่างปลอดภัยพร้อมว่านยา เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

         ด้วยความสมถะสันโดษ ในลาภยศ ท่านจึงลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอวังทอง แล้วย้ายมาอยู่ที่วัดบางสะพาน คณะศิษย์ได้ทำแม่พิมพ์พระเครื่อง พิมพ์ต่างๆ หลายแบบ มาถวายให้ท่านนำชานหมากและว่านยามากดพระพิมพ์ด้วยมือของท่าน ซึ่งท่านก็มีเมตตาแจกอย่างทั่วถึง และยังไม่เคยปรากฏพบว่าบุคคลที่รับของจากท่านไปแล้วนำติดตัวไปจะตายโหง หรือถูกอาวุธตายสักรายเดียว

         พระเครื่องวัตถุมงคลชนิดต่างๆ ของหลวงพ่อพันธ์ มีพุทธคุณสูงส่ง จนเป็นที่ประจักษ์ในด้านแคล้วคลาดปลอดภัยเป็นเอกอุ จึงเป็นพระเครื่องพระเกจิอาจารย์ยอดนิยมเมืองพิษณุโลก เป็นที่นิยมแสวงหาหวงแหนกันมากเป็นยิ่งนักในปัจจุบัน 

         หลวงพ่อพันธ์ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ นับสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๔๘ พรรษา ปัจจุบันสังขารของท่ายยังไม่เน่าสลายและเก็บรักษาไว้ที่วัดบางสะพานเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน

         เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อแจกในงานฉลองตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอชั้นเอกของหลวงพ่อ ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดวังทอง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปกรงจักรแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2490 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณสมเกียรติ บุญนวล
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2490 ทองแดงกระไหล่ทอง-สวย
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณสมเกียรติ บุญนวล
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2490 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2490 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพันธ์ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ กรอบนอกรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูประพันธ์ศีลคุณ"

         ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ล้อมด้วยอักขระยันต์ต่างๆและยันต์หัวใจพระพุทธเจ้าอ่านได้ว่า "อิ กะ วิ ติ" 

         เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นสอง(สองหน้า)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุ ๗๐ ปีของหลวงพ่อ โดยเหรียญรุ่นนี้หลวงพ่อดำริที่จะจัดสร้าง และนั่งรถไฟไปกรุงเทพฯ พร้อมกับหลวงพ่อวาว โดยไปพักที่วัดสระเกศ กุฏิของพระปลัดปลั่ง พึ่งอำพล(พี่ชายเจ้าอาวาส วัดบางสะพาน รูปปัจจุบัน) ซึ่งเป็นคนบางสะพานและหลวงพ่อพันธ์บวชให้โดยว่าจ้างโรงงานปั้มเหรียญที่ข้างวัดสุทัศน์สร้างให้ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบโพธิ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะอัลปาก้ากระไหล่เงินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 2 2506 อัลปาก้ากระไหล่เงิน
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๒(สองหน้า) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้ออัลปาก้ากระไหล่เงิน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพันธ์นั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ข้างองค์หลวงพ่อมีอักขระยันต์ เหนือรูปหลวงพ่อเป็นอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูประพันธ์ศีลคุณ"

         ด้านหลัง มีลักษณะคล้ายกับด้านหน้า แต่เหนือรูปหลวงพ่อเป็นอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูประพันธ์ศีลคุณ"

         เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุ ๘๐ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปสี่เหลี่ยมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 3 2516 ทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 3 2516 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดงรมดำ

เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 3 2516 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพันธ์ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างองค์หลวงพ่อและที่ขอบเหรียญมีอักขระยันต์ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อพันธ์ศีลคุณ"

         ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมีอักขระยันต์รูปองค์พระ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ครบรอบ ๘๐ ๒๕๑๖ วัดบางสะพาน"

         เหรียญชินราชหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ จำนวน ๕๖ เหรียญ เนื้อเงิน จำนวน ๔๖๐ เหรียญ และเนื้อทองแดง จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ ทุกเหรียญจะมีการตอกโค้ด

เหรียญชินราชมหาโชคหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 4 2517 ทองแดง
เหรียญชินราชมหาโชคหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธชินราช ด้านบนซ้านขวามีรูปเทพพนม ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มหาโชค มหาลาภ ๒๕๑๗"

         ด้านหลัง จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพันธ์นั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ขอบเหรียญรอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อพันธ์ พระครูประพันธ์ศีลคุณ วัดบางสพาน พิษณุโลก"

         เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน หลังยันต์มหาลาภ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ จำนวน ๒๕ เหรียญ เนื้อเงิน จำนวน ๓๙๐ เหรียญ และเนื้อทองแดง จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ ทุกเหรียญจะมีการตอกโค้ด

เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 4 หลังยันต์มหาลาภ  2517 เงิน
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๔ หลังยันต์มหาลาภ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 4 หลังยันต์มหาลาภ  2517 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๔ หลังยันต์มหาลาภ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพันธ์นั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ขอบเหรียญรอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อพันธ์ พระครูประพันธ์ศีลคุณ วัดบางสพาน พิษณุโลก"

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์พระพุทธ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มหาโชค มหาลาภ ๒๕๑๗"

         รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคให้กับทางวัด ในพื้นที่เรียกรูปหล่อพิมพ์ใหญ่ ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณแต่งพิมพ์ขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อนวะโลหะ และเนื้อทองผสม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2510 เงิน
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อเงิน ของคุณนริศร์ จิ๋วนางนอง

รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2510 เงิน
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อเงิน ของคุณนริศร์ จิ๋วนางนอง
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2510 นวะ
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อนวะ ของคุณพรพรต

รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2510 นวะ-ข้าง
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อนวะ ของคุณพรพรต
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2510 ทองผสม
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองผสม ของคุณนริศร์ จิ๋วนางนอง
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก 2510 ทองผสม-ข้าง
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองผสม ของคุณนริศร์ จิ๋วนางนอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพันธ์นั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใดๆ ใต้ฐานเรียบมีการตอกโค้ด

         รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่นสอง (พิมพ์เล็ก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๘๐ ปี ของหลวงพ่อ ในพื้นที่เรียกรูปหล่อพิมพ์เล็ก ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณแต่งพิมพ์ขนาดเล็ก ใช้มวลสารนวโลหะ​เดียวกับพระกริ่งวังจันนท์​ พิธี​ จักพรรดิ​มหา​พุ​ท​ธ​า​ภิเษก​ ๒๕๑๕ หลอมรวมกับชนวนพระรูป​หล่อ​ใหญ่​รุ่น​แรก​ ปั้นหุ่นเทียน​เข้าดินไทย​ และแต่งองค์​พระ​ โดย​ ดร.​ จ่าทวี​ บูรณะ​เขตต์​ ศิลปิน​ช่างหล่อ​พระ​บูชา​พระพุทธ​ชินราช​ผู้​มี​ชื่อเสียง ถือเป็นรูปหล่อรุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อ มีการสร้างด้วยเนื้อนวะโลหะ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 2 2516 นวะ
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อนวะ ของคุณชัยทัด

รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น 2 2516 นวะ-ข้าง
รูปหล่อหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อนวะ ของคุณชัยทัด

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อพันธ์นั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใดๆ ใต้ฐานเรียบมีการตอกโค้ด

         สมเด็จตัวหนอนหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จ โดยเนื้อหามวลสารที่ให้ในส่วนผสม เป็นผงวิเศษต่างๆที่หลวงพ่อรวบรวมเอาไว้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จตัวหนอนหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน 2514 ผงน้ำมัน
สมเด็จตัวหนอนหลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อผงน้ำมัน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จฐาน ๙ ชั้น องค์พระมีครอบระฆังสวยงาม เนื้อพระหดย่น มีเอกลักษณ์

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใดๆ 



หมายเหตุ : พระบางพิมพ์ไม่ถูกจัดเก็บไว้ต้องกราบขออภัยมา ณ โอกาศนี้ด้วย

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น