โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เจ้าของเหรียญข้างกระบอกที่หายากของท่ายาง เพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี
หลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี

         หลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า หรือ พระครูชัน (ธมมโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดมาบปลาเค้า ตำบลมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ท่านถือเป็นพระเกจิชื่อดังอีกรุปหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ที่มีประวัติบันทึกไว้น้อยมาก

         หลวงพ่อชัน ท่านเกิดและอุปสมบทเมื่อใดไม่สามารถสืบค้นได้เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานการบันทึก ทราบเพียงฉายาของท่านคือ "ธมมฺโชโต" 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ พระอธิการกร เจ้าอาวาสวัดมาบปลาเค้าได้ถึงแก่มรณภาพลงชาวบ้านจึงนิมนต์หลวงพ่อชัน รักษาการเจ้าอาวาส และช่วยประกอบพิธีศพของหลวงพ่อกรจนแล้วเสร็จ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ หลังจากที่หลวงพ่อชัน รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอรัญญาราม(มาบปลาเค้า) ได้หนึ่งปี ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดอรัญญาราม หรือ วัดมาบปลาเค้า เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓

ภาพถ่ายหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี
หลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี

         หลังจากขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ

         ด้วยคุณงามความดีของท่านทำให้ต่อมา ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ 

         รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดมาบปลาเค้า (เจ้าคณะตำบลในสมัยนั้น) อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ตามลำดับ

         หลวงพ่อชัน ท่านเป็นพระเกจิที่มีความเชี่ยวชาญด้านพุทธาคมเป็นอันมาก ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระคณาจารย์มีชื่อเมืองเพชรหลายรูป อาทิ หลวงพ่อจ้วน วัดพระพุทธบาทเขาลูกช้าง หลวงพ่อพาน วัดโป่งกระสัง และหลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง เป็นต้น 

         อีกทั้งยังเป็นพระกรรมวาจารย์ ของหลวงพ่อผิว วัดตาลกง อาจารย์ของหลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง อีกด้วย 

         ในสมัยที่หลวงพ่อชันเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สนับสนุนให้กุลบุตร-กุลธิดา ในเขตตำบลมาบปลาเค้าและละแวกใกล้เคียงได้มีความรู้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เรียนในยุคแรก

         ต่อมาหลวงพ่อชัน ท่านจึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์และชาวบ้านก่อตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น และเปิดสอนในระดับประถมศึกษา ๑ - ๔ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยมีนายพรม สิงโตทอง เป็นครูใหญ่คนแรก โดยมีหลวงพ่อชันเป็นผู้อุปถัมภ์ ในปัจจุบันคือโรงเรียนวัดมาบปลาเค้า (ธรรมโชติผดุง) 

         หลวงพ่อชัน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นับรวมระยะเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญาราม (มาบปลาเค้า) ๓๓ ปี

วัตถุมงคลของหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า

         เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อแจกให้กับทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างอัดกระบอกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าน่าจะสร้างน้อยไม่เกิน ๑,๐๐๐ เหรียญ เพราะในพื้นที่ยังพบเจอน้อยมาก

เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี รุ่นแรก 2485 ทองแดงผสม
เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เนื้อทองแดงผสม

เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี รุ่นแรก 2485 ทองแดงผสม-ขอบ
เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เนื้อทองแดงผสม
เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี รุ่นแรก 2485 ทองแดงผสม
เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เนื้อทองแดงผสม

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชันครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระขอม ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ธัมมโชโต"

         ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า รุ่นแรก (เสริม)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ เพื่อแจกในศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มขอบตัดมีหูในตัว โดยทางวัดได้ให้โรงงานแกะบล็อกล้อเหรียญรุ่นแรก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี รุ่นแรก 2490 ทองแดง บล็อกเสริม
เหรียญหลวงพ่อชัน วัดมาบปลาเค้า เพชรบุรี รุ่นแรก(เสริม) ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชันครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระขอม ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ธัมมโชโต"

         ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น