โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อรอด วัดสามไถ เจ้าของเหรียญหล่ออันดับ ๑ ของอยุธยา

ภาพถ่ายหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา
หลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา

         หลวงพ่อรอด วัดสามไถ หรือ พระอธิการรอด วัดสามไถ ตำบลสามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกรูปหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยูธยา โดยท่านมีชื่อเสียงด้านการสักยันต์ โดยยันต์ที่สักจะเน้นหนักไปทางคงกระพันชาตรี จนท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง

         หลวงพ่อรอด พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านสามไถ ตำบลสามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเกิดเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๓๘๔ ตรงกับปีขาล โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาของท่าน ทราบเพียงแค่ว่าโยมมารดาชื่อแม่เฒ่ากา ท่านเป็นคนเชื้อสายลาว มีพี่น้อง ๓ คน คือ

         ๑. นางแพง

         ๒. หลวงปู่รอด อินทปัญญา

         ๓. นายยัง 

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๑ ขณะที่หลวงพ่อรอด ท่านมีเมื่ออายุ ๗ ขวบ โยมบิดาและโยมมารดาของท่านได้นำท่านไปฝากเพื่อให้เรียนอักขระตามแบบสมัยนิยมกับพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดสามไถ

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ หลวงพ่อรอด ท่านมีอายุได้ ๑๑ ขวบ ท่านจึงได้บวชเป็นสามเณร เล่ากันว่าท่านมีอุปนิสัยชอบหาความสงบวิเวก (บางตำราว่าเมื่อท่านเรียนอยู่ ๔ ปี จนมีอายุได้ ๑๕ ปี จึงออกเดินทางกลับภาคอีสาน และไปบวชที่อื่นก่อนไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ)

         ปี พ.ศ. ๒๔๐๕ หลวงพ่อรอด ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสามไถ ตำบลสามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับฉายาว่า "อินฺทปญฺโญฺ" โดยมี

         พระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดสามไถ เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดสามไถเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรม ตลอดจนศึกษาวิปัชสนากรรมฐานและวิชาอาคมกับพระอธิการแดง จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย

         ต่อมาเมื่อหลวงพ่อรอด ท่านศึกษาวิชาจากหลวงพ่อแดงจนสำเร็จหมดสิ้นแล้ว ท่านได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ จนสำเร็จแล้วจึงได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดสามไถ ตามเดิม

         ซึ่งช่วงที่ท่านเดินทางไปศึกษาวิชาที่กรุงเทพนั้น ท่านได้รู้จักกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ซึ่งเป็นพระภิกษุรุ่นน้อง จนท่านทั้ง ๒ เป็นพระสหมิกธรรมกันโดยหลวงพ่อรอดท่านมีอายุมากกว่าหลวงพ่อกลั่น ๖ ปี

         นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระสหมิกธรรมกับหลวงพ่อนวม วัดกลางอยุธยา และหลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา อีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ พระอธิการแดงเจ้าอาวาสวัดสามไถ ได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อรอดขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดสามไถ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ที่บ้านสามไถ หมู่ที่ ๑ ตำบลสามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

         เดิมเป็นวัดร้างเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนมาถึงช่วงรัชกาลที่ ๒ ชาวบ้านจึงร่วมกันตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ตั้งชื่อวัดว่า วัดสามไถ ตามชื่อหมู่บ้านและทำนุบำรุงวัดเรื่อยมา วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีรายชื่อเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดดังนี้

         ๑. พระอธิการแดง 

         ๒. พระอธิการรอด  อินทปญฺโญ พ.ศ. ๒๔๒๗ - ฑ.ศ. ๒๔๘๐

         ๓. หลวงพ่อชิต  พรหมโชโต  พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๕๒๐

         ๔. พระอธิการน้อย  ธมฺมรกฺขิโต  พ.ศ. ๒๕๒๑ - พ.ศ. ๒๕๓๓

         ๕. พระครูวิจิตรวีรการ  พ.ศ. ๒๕๓๔ - ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อรอดได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๙ หลวงพ่อรอด ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๔๕ ปี

         เล่ากันว่าหลวงพ่อรอด ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านได้เข้มงวดกวดขันความประพฤติของพระภิกษุที่อยู่ในความปกครองให้ถือปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด 

         เช่น การกำหนดให้พระภิกษุที่อยู่ในวัดสามไถต้องมาปลงอาบัติกับท่านเป็นการส่วนตัวในช่วงเวลาเช้า ห้ามปลงอาบัติกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกัน ฯลฯ และหากพระภิกษุรูปใดทำผิดพลาดความประพฤติท่านก็จะลงโทษด้วย "ไม้เรียว" ทันที

         เพราะท่านถือว่า "ผู้ที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมวินัยมาแล้ว จึงสมควรที่จะต้องตั้งมั่นอยู่ในศีล" 

         ด้วยเกียรติคุณของท่านที่แผ่ขยายออกไป ทำให้ญาติโยมที่เคารพเลื่อมใสในหลวงพ่อรอดต่างพาบุตรหลานของตนที่มีอายุครบบวชมาอุปสมบทที่วัดสามไถ ด้วยจุดมุ่งหมายให้บุตรหลานของตนได้มีพระอุปัชฌาย์ที่ดี ซึ่งจากทัศนคติของท่านที่ว่า "การนำสาธุชนทั้งหลายเข้าสู่ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ในพระศาสนาทั้งสิ้น..."

         ดังนั้นไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นใครมาจากไหนจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะมาเป็นอุปสรรค์ต่อการที่ท่านจะอุปสมบทให้ หลวงพ่อชิต พรหมโชติ ได้เล่าว่า การที่หลวงปู่รอดท่านอุปสมบทให้โดยไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหมทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา

         กล่าวคือมีผู้ร้องเรียนถึงคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง โดยได้กล่าวหาว่าหลวงพ่อรอด ท่านอุปสมบทให้กับพวกที่มีคดีติดตัวอยู่ ถึงกับพระญาณไตรโลกนาถ (ฉาย) เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ขึ้นมายึดพัดอุปัชฌาย์ และห้ามหลวงพ่อบวชนาคเป็นการชั่วคราว

         ว่ากันว่าหลังจากที่พระญาณไตรโลกนาถ (ฉาย) ได้ยึดพัดอุปัชฌาย์จากหลวงพ่อรอดไปแล้วยังไม่ถึง ๗ วัด ก็ได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ อันนำความร้อนรุ่มมาสู่ตัวท่านไม่รู้จักจบจักสิ้น 

         ทำให้ท่านต้องนำพัดอุปัชฌาย์มาคืนหลวงพ่อรอดและได้ให้ความนับถือหลวงพ่อรอดโดยพระญาณไตรโลกนาถ (ฉาย) จะเดินทางมากราบนมัสการหลวงพ่อเป็นประจำทุกปีตลอดมา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อรอดได้จัดงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถ ท่านจึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นเหรียญรูปเหมือนไว้แจกเป็นที่ระลึกแก่ญาติโยมที่มาทำบุญในงานวันยกช่อฟ้า โดยท่านได้มอบหมายและจัดตั้งคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องในการสร้างเหรียญรูปเหมือนครั้งนี้ขึ้น ๑๒ คน

         คณะกรรมการได้จัดให้นายช่างที่สร้างเหรียญมาสร้างบล็อกพิมพ์ที่วัด โดยมีการประกอบศาสนพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ฤกษ์ยามตามตำราโดยการกำหนดจากหลวงพ่อรอด 

         เล่ากันว่า... "แม้แต่ทองเหลืองที่นำมาหล่อหลอมเป็นเหรียญ หลวงปู่รอดท่านก็จะนำมาลงอักขระปลุกเสกก่อน"

         ครั้นเมื่อฤกษ์เททอง นายช่างผู้สร้างเหรียญได้นำทองเหลืองเข้าเตาหลอมก็ได้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์แก่ผู้ที่ร่วมอยู่ในพิธี เนื่องจากไฟที่ร้อนแรงไม่สามารถหลอมละลายทองเหลืองที่หลวงพ่อรอดได้ลงอักขณะไว้ได้ 

         คณะกรรมการจึงได้ขึ้นไปเรียนให้หลวงพ่อรอดทราบ เมื่อหลวงพ่อได้รับฟังท่านจึงกล่าวขึ้นมาว่า "ทองเหลืองละลายแล้ว ให้ลงไปช่วยนายช่างได้" ซึ่งเมื่อคณะกรรมการกลับลงมาในพิธีก็พบว่านายช่างกำลังเททองเข้าเบ้าได้ตามปกติ 

         เมื่อนายช่างได้สร้างเหรียญครบตามกำหนดแล้ว จึงได้สร้างเหรียญสองหน้าอีก ๑๒ เหรียญเพื่อไว้แจกกรรมการผู้เกี่ยวข้อง แต่มติคณะกรรมการเห็นว่าเหรียญสองหน้าที่จัดสร้างครั้งนี้มีจำนวนน้อยเกินไป จึงได้สั่งการให้นายช่างเทเพิ่มขึ้นอีก

        หากแต่การเทครั้งนี้ได้สร้างความผิดหวังปนความแปลกใจเมื่อนายช่างได้เทกี่ครั้งกี่หนก็เทไม่ติด จนสุดท้ายเบ้าพิมพ์ได้แตกชำรุดนั่นแหละจึงเป็นอันยุติการสร้างเหรียญครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้เหรียญสองหน้าจึงสร้างได้เพียง ๑๒ เหรียญเท่านั้นและก็พอแจกกรรมการผู้เกี่ยวข้องทั้ง ๑๒ คนพอดี 

         ในส่วนของพิธีการปลุกเสก ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าหลวงพ่อรอด ท่านได้นำเหรียญทั้งหมดเข้าปลุกเสกในพระอุโบสถ โดยท่านได้ปลุกเสกเดี่ยวตลอดคืนท่ามกลางเหล่าพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์พิธีตลอดเวลา  สำหรับเหรียญที่จัดสร้างครั้งนี้รวมทั้งเหรียญกรรมการคาดว่าน่าจะมีประมาณ ๑,๕๑๒ เหรียญ

         ในเรื่องพุทธคุณของเหรียญหลวงปู่รอด วัดสามไถ จัดว่ามีปรากฏให้เห็นเด่นชัดกับบุคคลที่มีติดตัว นั้นมีเรื่องเล่าจากหลวงพ่อชิต พรหมโชติ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อรอดว่า

          ครั้งหนึ่งท่านเห็นทหารคนหนึ่งมาปิดทองรูปหล่อหลวงพ่อรอดที่วัด สอบถามก็ได้ความว่าทหารท่านนั้นรอดตายจากสงครามเวียดนาม โดยในคืนที่ทหารท่านนั้นกำลังรบอยู่ในสมรภูมิ ข้าศึกได้ใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้ามาพร้อมกับบนอากาศก็มีการทิ้งระเบิดลงมาจากเครื่องบิน

         ทำให้ทหารทุกคนต้องวิ่งหลบหนีเพื่อหาที่กำบังก็บังเอิญได้วิ่งไปเหยียบกับระเบิดจนเกิดการระเบิดขึ้นเพื่อนทหารตายเป็นจำนวนมากแต่ตัวเขากลับไม่เป็นอะไรทั้งที่โดนเข้าไปเต็มๆ เขาว่า...เหตุการณ์ในคืนนั้นถ้าไม่มีเหรียญหลวงพ่อรอดคล้องคอคงจะไม่ได้กลับมาปิดทองรูปหล่อของหลวงปู่ในวันนี้ 

         ปี พ.ศ. ๒๗๗๙ ก่อนที่หลวงพ่อจะมรณภาพ ๑ ปี หลวงพ่อรอดท่านได้อนุญาตให้หล่อรูปเหมือนของท่าน คณะกรรมการวัดจึงได้กำหนดวัน โดยถือเอาฤกษ์วัดครูขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง หลังเสร็จสิ้นพิธีการสร้างรูปหล่อแล้ว 

         คณะกรรมการได้นำรูปหล่อหลวงพ่อรอดขึ้นมาไว้บนหอสวดมนต์เป็นการชั่วคราวก่อน หลวงพ่อชิต ท่านได้เล่าว่า ใกล้ค่ำวันนั้น เมื่อปลอดคน หลวงพ่อรอดท่านได้ขึ้นมาลูบไล้ที่รูปหล่อของท่านอยู่เป็นเวลานาน แล้วจึงพูดขึ้นมา "คุณจงอยู่เป็นสุขเถิด ผมต้องขอลาคุณไปก่อน"

         หลวงพ่อรอด ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ตรงกับวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู นับรวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี ๗๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อรอด วัดสามไถ

         เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อแจกในงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถของวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณทรงเสมาแบบมีหุในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่ทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์คือพิมพ์ ๒ หน้าสร้างน้อย ๑๒ เหรียญ และพิมพ์หลังยันต์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้แต่คาดกันว่าสร้างรวมกันประมาณ ๑,๕๑๒ เหรียญ

เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก 2467 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองเหลือง ของคุณวิทยา จิตตั้งมั่น
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก 2467 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองเหลือง ของคุณเด่น อยุธยา
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก 2467 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองเหลือง ของคุณเด่น อยุธยา

เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก 2467 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองเหลือง ของคุณเด่น อยุธยา
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก 2467 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองเหลือง ของคุณเด่น อยุธยา
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก 2467 ทองเหลือง-ข้าง
เหรียญหล่อหลวงพ่อรอด วัดสามไถ อยุธยา รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองเหลือง ของคุณเด่น อยุธยา

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อรอด นั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิมีรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีรูปเสือซึ่งปีนักษัตรที่ท่านเกิด บนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ"  ที่ขอบเสมามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ในการยกฟ้าอุโบสถวัดสามไถ" 

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ตรีนิสิงเห บนอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤก" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๖๗" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ 


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น