โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่เผือก วัดโมลี พระเกจิชื่อดังของนนทบุรี

ภาพถ่ายหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี
หลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี

         หลวงปู่เผือก วัดโมลี หรือ พระราชปรีชามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดโมลี ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ท่านมีนามเดิมว่าเผือก จุลพันธ์ ซึ่งมาจากบิดามารดาของท่านเห็นว่าเป็นคนผิวขาวเหมือนเผือก จึงตั้งชื่อท่านว่าเผือก ท่านพื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหาดชะอม ตำบลยางสูง อำเภอขาณุวรลักษณบุรี จังหวัดกำแพงเพชร

         หลวงปู่เผือก ท่านเกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ โยมบิดาชื่อนายบุญ บัวปรีย์ โยมมารดาชื่อนางจ้อน บัวปรีย์ มีพี่น้องร่วมกัน ๕ คน โดยหลวงพ่อใช้นามสกุล จุลพันธ์ 

         ๑. หลวงพ่อพระราชปรีชามุนี(เผือก)

         ๒. นายจาด บัวปรีย์

         ๓. นายเหว่า บัวปรีย์

         ๔. นายวอน บัวปรีย์

         ๕. นางอิง หลำตี

         เมื่อวัยเยาว์หลวงปู่เผือก ท่านได้รับการอบรมหนังสือไทย ในสำนักวัดอุดมศรัทธาราม ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านท่าน โดยมีครูเป็นพระในวัดเป็นผู้สั้งสอนทั้งศีลธรรมและอักขระ พออ่านออกเขียนได้

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงปู่เผือกมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดโบสถ์ ตำบลบางแก้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับฉายาว่า "ติสฺสถิโร" โดยมี

         พระอธิการแหยม วัดบ้านแคน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูธรรมบาล(ป๊อก) วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระครูถิรธรรม(เคลือบ) วัดอุดมศรัทธาราม จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดอุดมศรัทธาราม เป็นระยะเวลา ๑ พรรษา เพื่อปฎิบัติอุปัชฌาย์ อาจาริยวัตรและศึกษาพระปริยัติธรรม

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดวังหินท้ายน้ำ จังหวัดพิจิตร เพื่อศึกษาวิปัสนาธุระ

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ หลังออกพรรษาท่านได้ย้ายไปอยู่วัดตะโก บางคลาน จังหวัดพิจิตร เพื่อเรียนคันถธุระ

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ท่านได้กลับวัดอุดมศรัทธาราม ภูมิลำเนาเดิมของท่าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆษิตาราม บางกอกน้อย ธนบุรี เพื่อเรียนพระปริยัติธรรม จนท่านได้มูลกจจายนะ ๑ คัมภีร์ (ไม่ได้สอบไล่)

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ท่านได้ย้ายมาอยู่วัดโมลี บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโมลีได้ว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่เผือกขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดโมลี เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๑ บ้านคลองบางไผ่ ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๖ แปลง รวมเนื้อที่ ๑๑๘ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา

         วัดโมลีสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ในสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อว่า วัดใหม่สุวรรณโมลี มีผู้ศรัทธาท่านหนึ่งได้สลักปิ่นปักมวยผมออกขาย นำเงินมาสร้างวัด และใช้ปิ่นปักมวยผมเป็นสัญลักษณ์ของวัดมาตลอดจนทุกวันนี้ 

         วัดมีเจ้าอาวาสรูปแรกมีชื่อว่า พระอธิการเถื่อน ซึ่งต่อมาได้ลาสิกขา วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งก่อนเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ผูกพัทธสีมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๗ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔

         เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในถิ่นนี้ ทรงเห็นว่าชื่อวัดยาวเกินไปจึงประทานชื่อใหม่ว่า "วัดโมลี"

         ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ได้แก่ พระประธานนามว่า หลวงพ่อพุทธวิหาร บุทองทั้งองค์ หอสวดมนต์สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ และวิหารสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓

รูปหล่อหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี
รูปหล่อหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี

         หลังจากที่หลวงปู่เผือกได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็มิได้นิ่งนอนใจ ท่านได้สร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ทดแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดบางใหญ่ (เจ้าคณะตำบลในสมัยนี้)

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูนนทปรีชา" เจ้าคณะแขวงบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี (เจ้าคณะอำเภอในสมัยนี้)

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนธรรมบาลีสำนักวัดโมลีและเป็นผู้อุปการะบำรุงด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมตรีสนามหลวง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านเป็นกรรมการศึกษาประจำอำเภอบางใหญ่

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็น ผู้อำนวยการศึกษาอบรมปริยัติธรรม ประจำแขวงบางบัวทองและบางใหญ่

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ด้วยคุณงามความดีของท่านที่ได้พัฒนาวัดมาจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระปรีชานนทมุนี" เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชปรีชามุนีศรีนนทเขตปริยัติคุณ วิบูลนวกรรกกมกิจสุนทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาส" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ 

         คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยนั้นแม้ว่าหลวงปู่เผือก ท่าจะเข้าวัยอันชรามีอายุ ๘๒ ปีแล้วก็ตาม หลวงปู่ยังเป็นคนแข็งแรง หลวงปู่ได้ออกตรวจตราบริเวณวัดเป็นประจำก่อนที่ท่านจะจากไปประมาณ ๕ วัน 

         ขณะที่หลวงปู่กำลังก้าวออกมาจากกุฎินั้น พอดีประจวบกับประตูไม่ได้ใส่กลอน เมื่อหลวงปู่เอื้อมมือออกมาหวังดันออกไปนั้นประตูไม่ได้ใส่กลอนซึ่งหลุดออกไป หลวงปู่จึงได้ล้มลงไปในขณะนั้น ทำให้แขนทางด้านขวาบวมช้ำ แต่ได้หมอมารักษาจนหายปกติ 

         และในช่วงเวลา ๒-๓ วันเท่านั้น หลวงปู่เผือกได้ลงไปสั่งงานรื้อกุฏิ เพื่อสร้างใหม่แก่บรรดาศานุศิษย์ที่มาช่วย และพอดีในเย็นวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๘ พุธขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๑๑ เวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น. หลวงพ่อได้บอกกับศิษย์ว่าเจ็บแขน 

         บรรดาศานุศิษย์ซึ่งได้พยุงหลวงปู่เผือกขึ้นกุฏิ และได้ให้หลวงปู่นอนพักผ่อน ศานุศิษย์จึงได้ใช้ผ้าเช็ดตัวหลวงปู่ และให้หลวงปู่นอนพักผ่อน เมื่อเห็นพักผ่อนเรียบร้อยแล้ว บรรดาศิษย์จึงได้ลงมาทำงานต่อไปอีกเป็นเวลาสัก ๓๐ นาที จึงได้ขึ้นไปเยี่ยมหลวงปู่อีก 

         ทุกคนมองได้มองไปที่ร่างหลวงปู่ยังคงนอนสงบนิ่ง และได้เห็นน้ำลายใสๆ ไหลออกมาทางปากเล็กน้อย บรรดาศิษย์จึงได้ไปเช็ดให้ขณะที่ท่านหลับตาอยู่เช่นนั้น เมื่อปรากฎเช่นนี้ บรรดาศานุศิษย์คิดว่าหลวงปู่คงจะมีอาการเจ็บป่วยมากทีเดียว เพราะหลวงปู่เป็นคนสะอาดและไม่เคยที่จะปรากฎการเช่นนี้ จึงได้รีบไปตามหมอ 

         แต่ดูเหมือนโชคจะไม่ใคร่ดีสักหน่อย เนื่องจากหมอประจำตัวหลวงปู่เผือกไม่อยู่ ลูกศิษย์จึงได้ไปรับหมออื่นมา เมื่อหมอมาถึงได้ทำการตรวจและดูอยู่ขณะหนึ่ง หมอจึงบอกว่า "ลมหายใจน้อย" บรรดาศานุศิษย์ได้เห็นเช่นนั้นจึงได้รีบจัดเรือส่งโรงพยาบาลจังหวัดโดยด่วน 

         แม้ว่าเวลาจะล่วงเข้าเกือบสามทุ่มแล้วก็ตาม เพราะบรรดาศานุศิษย์ทุกคนปรารถนาไว้ว่าจะพยายามพยาบาลหลวงปู่เผือกให้ดีที่สุดในชีวิต แต่แล้วพอเรือออกมาจากวัดได้ประมาณ ๑๐ กว่านาที หมอได้ร่วมไปกับเรือหลวงพ่อได้บอกกับศานุศิษย์ว่าหลวงปู่ได้เสียแล้ว ทุกคนตกตลึง

         ด้วยคาดไม่ถึงว่าหลวงปู่จะรีบด่วนจากไปเสียก่อนที่จะถึงโรงพยาบาล ที่บรรดาศานุศิษย์ตั้งใจจะพยาบาลหลวงปู่ ทุกคนจึงเร่งรีบให้ถึงโรงพยาบาลเร็วที่สุด แต่ก็หมดหวังเสียแล้ว จึงได้พาร่างของหลวงปู่กลับมาสู่ ณ ที่หลวงปู่เคยพำนักอยู่ตลอดมาเป็นเวลา ๔๐ ปีเศษ ทิ้งความเศร้าโศรกแก่ศานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง

         หลวงปู่เผือก ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ วันพุธ เวลา ๔ ทุ่ม ๔๐ นาที นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงปู่เผือก วัดโมลี

         เหรียญหล่อพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณพิมพ์สี่เหลี่ยมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก 2468 ทองเหลือง
เหรียญหล่อพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธวิหารพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน ประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "อุ มะ อะ" 

         เหรียญหล่อพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณพิมพ์จอบ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี 2487 ทองเหลือง
เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มพิมพ์เสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก 2475 ทองแดง
เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อทองแดง ของคุณเต้ย มหาชัย

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานอายุครบ ๕๐ ปี" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๗๕" 

         เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นเม็ดแตง พิมพ์ยันต์จม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มพิมพ์หยดน้ำย่อมุมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นเม็ดแตง 2483 เงิน
เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นเม็ดแตง พิมพ์ยันต์จม ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อเงิน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย 

         ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีการตอกอักขระยันต์

         เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นเม็ดแตง พิมพ์ยันต์ลอย

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มพิมพ์หยดน้ำย่อมุมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นเม็ดแตง 2483 ยันต์ลอย ทองแดง
เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นเม็ดแตง พิมพ์ยันต์ลอย ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "อุ อะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ว.ม.ล."  

         เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นแรก (ยันต์ป้อมใหญ่)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกในงานฉลองวิหาร และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญฌศฒษหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก 2495 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก (ยันต์ป้อมใหญ่) ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณปุย บางใหญ่

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเผือกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "อุ มะ อะ" 

         เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นแรก (ยันต์ป้อมเล็ก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกในงานฉลองวิหาร และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญฌศฒษหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก ยันต์ป้อมเล็ก 2495 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญเสมาหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก (ยันต์ป้อมเล็ก) ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณปุย บางใหญ่

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเผือกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "อุ อะ อะ อึ" บนยันต์มีอักขระยันต์ตัว "นะ" ๒ ตัวใต้ตัวอุฌาโลม

         เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นแรก (ยันต์ใบพัด)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกในงานฉลองวิหาร และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อฝาบาตร เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อขาปิ่นโต จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก ยันต์ใบพัด 2495 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญเสมาหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก (ยันต์ใบพัด) ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก ยันต์ใบพัด 2495 อลูมิเนียม
เหรียญเสมาหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก (ยันต์ใบพัด) ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้ออลูมิเนียม(ขาปิ่นโต)

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเผือกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "อุ อะมะ" ตรงกลางอักขระยันต์มีอักขระยันต์ตัว "นะ" ๑ ตัว

         เหรียญพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นฉลองวิหาร  พิมพ์หน้าหนังสือหลังยันต์ใบพัด 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกในงานฉลองวิหารและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อฝาบาตรเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เหรียญมีอยู่หลายบล๊อกด้วยกัน ด้านหน้ามี ๒ บล๊อก ด้านหลังมี ๔ บล็อก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญเสมาพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นฉลองวิหาร 2495 ทองเหลือง
เหรียญเสมาพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นฉลองวิหาร ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองเหลือง ของคุณพระเมืองนนท์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน เหนือรูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโมลี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "อุ อะ มะ" ตรงกลางอักขระยันต์มีอักขระยันต์ตัว "นะ" ๑ ตัว ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก" 

         เหรียญเสมาพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นฉลองวิหาร พิมพ์หน้าไม่มีหนังสือ หลังฉลองวิหาร

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกในงานฉลองวิหารและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อฝาบาตรเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เหรียญมีอยู่หลายบล๊อกด้วยกัน ด้านหน้ามี ๒ บล๊อก ( มีแบบตัวหนังสือวัดโมลี กับ แบบที่ไม่มีตัวหนังสือ)  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญเสมาพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นฉลองวิหาร 2495 ทองเหลือง
เหรียญเสมาพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นฉลองวิหาร ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองเหลือง ของคุณพระเมืองนนท์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน เหนือรูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโมลี"

         ด้านหลัง โดยเหรียญมีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "อุ อะ มะ" ตรงกลางอักขระยันต์มีอักขระยันต์ตัว "นะ" ๑ ตัว ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกฉลองวิหารวัดโมลี ๒๔๙๕" 

         เหรียญเสมาพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นฉลองวิหาร หน้าหนังสือหลังเรียบ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกในงานฉลองวิหารและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อฝาบาตรเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เหรียญมีอยู่หลายบล๊อกด้วยกัน ด้านหน้ามี ๒ บล๊อก ( มีแบบตัวหนังสือวัดโมลี กับ แบบที่ไม่มีตัวหนังสือ)  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญเสมาพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นฉลองวิหาร 2495 ทองเหลือง
เหรียญเสมาพระพุทธหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นฉลองวิหาร ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เนื้อทองเหลือง ของคุณพระเมืองนนท์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระมีผ้าสังฆาฏิชัดเจน เหนือรูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโมลี"

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         เหรียญเตารีดหลวงปู่เผือก วัดโมลี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกในงานหล่อรูปหลวงพ่อเท่าองค์จริง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเตารีด มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญเตารีดหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี 2500 เงิน
เหรียญเตารีดหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อเงิน
เหรียญเตารีดหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี 2500 ทองแดง
เหรียญเตารีดหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดง ของคุณพระเมืองนนท์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเผือกนั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หกลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระปรีชานนทมุนี"   

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานหล่อรูปอายุ ๗๕ ๑ พ.ค. พ.ศ. ๒๕๐๐"   

         เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นเลื่อน 2504 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณปุย บางใหญ่

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเผือกนั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หกลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชปรีชามุนี"   

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สามอ่านได้ว่า "อุ อะมะ" ตรงกลางอักขระยันต์มีอักขระยันต์ตัว "นะ" ๑ ตัว

         รูปหล่อหลวงปู่เผือก วัดโมลี รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณลอยองค์ มีการสร้างด้วยเนื้อฝาบาตรเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก 2500 ทองเหลือง
รูปหล่อหลวงปู่เผือก วัดโมลี นนทบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองเหลือง ของคุณพระเมืองนนท์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเผือกนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หกลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ 

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใดๆ  ใต้ฐานเรียบ



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น