ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย พระเกจิผู้เป็นตำนานหนังใหญ่ของเมืองเพชรบุรี
หลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี |
หลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย หรือ พระอธิการฤทธิ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าของเมืองเพชรบุรี ท่านเป็นศิษย์ของขรัวอินโข่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย
หลวงพ่อฤทธิ์ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ตรงกับสมัยปลายรัชกาลที่ ๓ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๓๙๐ หลวงพ่อฤทธิ์ ท่านมีอายุได้ ๑๕ ปี โยมบิดาและโยมมารดาได้มอบให้เป็นศิษย์ขรัวอินโข่ง พระเถระชาวเพชรบุรีผู้เป็นเลิศทางช่างศิลป์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔
ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ หลวงพ่อฤทธิ์ ท่านมีอายุได้ ๒๓ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุวรวิหาร ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี แต่ไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์ของท่าน
เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และศึกษาบทสวดมนต์ต่างๆ จนมีความรู้มากพอควรแล้ว
ท่านจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดพลับพลาชัย ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ครั้นบวชแล้วได้รับการศึกษาพระปริยัติธรรมพอสมควรแก่สมณเพศ
ต่อมา หลวงพ่อฤทธิ์ ท่านได้เริ่มสนใจฝักใฝ่ในงานศิลปศาสตร์และวิทยาการต่างๆ ท่านจึงเริ่มศึกษาหาความรู้จนมีความรอบรู้ชำนาญงานศิลปะหลายแขนง รวมถึงศิลปะการแสดง เช่น การเชิดหนังใหญ่ โดยคณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย ในสมัยนั้นมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว
ปี พ.ศ. ๒๔๑๒ หลวงพ่อคง เจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัยมรณภาพลง ชาวบ้านในพื้นที่และคณะศิษย์จึงพร้อมใจกันนิมนต์ หลวงพ่อฤทธิ์ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
วัดพลับพลาชัย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๒๙ ตารางวา
วัดพลับพลาชัย ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๐ สร้างโดยบรรดาขุนนางพ่อค้าคหบดีและประชาชนรวมทุนกันสร้างขึ้น แต่เดิมที่ตั้งวัดเป็นที่ประชุมกองทัพเป็นที่ฝึกอาวุธเหล่าทหารทั้งปวงจึงเป็นที่หลวง
ได้เคยมีพลับพลาที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อได้สร้างวัดจึงชื่อว่า "วัดพลับพลาชัย" วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕
วัดเคยเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ จนไม่เหลือถาวรวัตถุหลงเหลืออยู่ นอกจากวิหารเพียงหลังเดียว
ภายในวัดมีวิหารเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่มีหนังใหญ่อายุกว่าร้อยปี และมีพระพุทธรูปและรูปจำลองของหลวงพ่อฤทธิ์ หลวงพ่อกร อดีตเจ้าอาวาสของวัด วัดมีนายนามเจ้าอาวาสดังนี้
๑. หลวงพ่อจีน
๒. หลวงพ่อจุ้ย
๓. หลวงพ่อทองคำ
๔. หลวงพ่อคง
๕. หลวงพ่อฤทธิ์ พ.ศ. ๒๔๑๒ - ๒๔๖๒
๖. หลวงพ่อกร พ.ศ. ๒๔๖๒ - ๒๔๘๘
๗. หลวงพ่อเชื่อม (พระครูอาทรวชิรธรรม) พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๕๓๐
๘. หลวงพ่อเรียน (พระครูสุนทรวชิรคุณ) พ.ศ. ๒๕๓๐ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อฤทธิ์ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด
นอกจากนี้ท่านยังนำความรู้ที่ร่ำเรียนวิชาหนังใหญ่จากท่านขรัวอินโข่ง มาสร้างคณะหนังใหญ่ โดยให้ชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยกันสร้างตัวหนัง และเริ่มทำการแสดงเรื่อยมาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง
หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี |
ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ หลวงพ่อฤทธิ์ ท่านยังสร้างประโยชน์เป็นคุณูปการด้านการศึกษาแก่เมืองเพชรบุรีเป็นอย่างมาก ท่านเป็นผู้ริเริ่มตั้งสำนักเรียนวิชาสามัญเบื้องต้น วิชาศิลปศาสตร์ และวิชาแพทย์แผนไทย สอนกุลบุตร กุลธิดาขึ้นในวัดพลับพลาชัย จนเป็นโรงเรียนชั้นประถมแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนประถมและชมการแสดงหนังใหญ่ของวัดพลับพลาชัย ที่ หลวงพ่อฤทธิ์เป็นผู้ดูแล ทรงมีความเลื่อมใส
ครั้นเสด็จกลับแล้ว จึงได้ส่งครูชาย ๓ คน มาช่วยสอนที่โรงเรียน โดยพระราชทานเงินเดือนจากกระทรวงศึกษาธิการ
อีกทั้งยังได้พระราชทานพัดปักดิ้นเงินพระนามาภิไธย จปร และย่ามหลวงแก่ หลวงพ่อฤทธิ์ในโอกาสเดียวกันด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เกิดเหตุเพลิงไหม้วัดพลับพลาชัย ผลจากเหตุไฟไหม้ครั้งนั้นทำให้วัดเสียหายเป็นอย่างมาก จนวัดไม่เหลือถาวรวัตถุใดๆเลย ยกเว้นแต่พระเจดีย์ ในส่วนของหนังใหญ่ ที่เก็บหนีไฟมาได้นั้นจึงนำไปเก็บที่หอไตรวัดคงคารามฯ และบางส่วนนำไปปประดับหน้าต่างโรงเรียนพรมมานุสรณ์
หลวงพ่อฤทธิ์ ท่านถือเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเรื่องจอมขมังเวทย์อีกรูปหนึ่งของเมืองเพชรบุรี แต่ในส่วนกลางไม่ค่อยมีคนทราบมากนัก เพราะการจดบันทึกส่วนใหญ่จะถูกจัดเก็บในรูปวิชาการชื่อเสียงของท่านจึงโด่งดังในเรื่องหนังใหญ่เสียมากกว่า
แต่ท่านถือเป็นหนึ่งในพระอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาต่างๆให้กับหลวงพ่อกร เจ้าอาวาสรูปถัดมา และยังเป็นพระอาจารย์ให้กับพระเกจิชื่อดังของเมืองเพชรบุรีหลายๆ รูปอีกด้วย
หลวงพ่อฤทธิ์ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ นับสิริรวมอายุได้ ๘๗ ปี ๖๔ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย
เหรียญหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ในสมัยที่หลวงพ่อเชื่อม เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปสี่เหลี่ยมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อฤทธิ์หันข้างครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย ๒๔๙๖"
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานชุกชี ใต้รูปพระพุทธมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ"
เหรียญหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ในสมัยที่หลวงพ่อเชื่อม เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปสี่เหลี่ยมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ.๒๕๑๗ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ.๒๕๑๗ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อฤทธิ์หันข้างครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย ๒๕๑๗"
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานชุกชี ใต้รูปพระพุทธมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ"
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น