โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย พระเกจิยุคเก่าของเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี
หลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี

         หลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย หรือ พระเพชรคุณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่า กร ปทุมัง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         ชีวิตในวัยเยาว์บิดามารดาได้พามาฝากกับท่านอาจารย์เหว่า วัดพลับพลาชัย เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือและวิชาช่างไม้แกะสลัก 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ หลวงพ่อกร มีอายุได้ ๑๕ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพลับพลาชัย เพื่อศึกษาเล่าเรียน

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ หลวงพ่อกร ท่านมีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้รับฉายาว่า "สุวณฺณโชโต" โดยมี

         พระครูญาณวิสุทธิ์ (พ่วง) วัดแก่นเหล็ก เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระกวีวงศ์ (เจิม) วัดแก่นเหล็ก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดทองนพคุณ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ท่านได้จำพรรษาแรกอยู่ที่วัดทองนพคุณ แล้วจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดพลับพลาชัย เพื่อศึกษาวิชากับหลวงพ่อฤทธิ์

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ พระอธิการฤทธิ์ถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านและทางคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อกร ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี
หลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี

         วัดพลับพลาชัย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๒๙ ตารางวา

         วัดพลับพลาชัย ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๐ สร้างโดยบรรดาขุนนางพ่อค้าคหบดีและประชาชนรวมทุนกันสร้างขึ้น แต่เดิมที่ตั้งวัดเป็นที่ประชุมกองทัพเป็นที่ฝึกอาวุธเหล่าทหารทั้งปวงจึงเป็นที่หลวง

         ได้เคยมีพลับพลาที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อได้สร้างวัดจึงชื่อว่า "วัดพลับพลาชัย" วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ 

          วัดเคยเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ จนไม่เหลือถาวรวัตถุหลงเหลืออยู่ นอกจากวิหารเพียงหลังเดียว 

         ภายในวัดมีวิหารเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่มีหนังใหญ่อายุกว่าร้อยปี และมีพระพุทธรูปและรูปจำลองของหลวงพ่อฤทธิ์ หลวงพ่อกร อดีตเจ้าอาวาสของวัด วัดมีนายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. หลวงพ่อจีน

         ๒. หลวงพ่อจุ้ย

         ๓. หลวงพ่อทองคำ

         ๔. หลวงพ่อคง

         ๕. หลวงพ่อฤทธิ์ พ.ศ. ๒๔๑๒ - ๒๔๖๒

         ๖. หลวงพ่อกร พ.ศ. ๒๔๖๒ - ๒๔๘๘

         ๗. หลวงพ่อเชื่อม (พระครูอาทรวชิรธรรม) พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๕๓๐

         ๘. หลวงพ่อเรียน (พระครูสุนทรวชิรคุณ) พ.ศ. ๒๕๓๐ - ปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี
หลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อกรได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และถาวรวัตถุต่างๆภายในวัดเนื่องจากวัดเพิ่งถูกไฟใหม่ครั้งใหญ่ ทำให้วัดไม่มีเสนานะใดๆเลย

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ สร้างศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ทรงไทย ๒ ชั้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สร้างพระอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย มีช่อฟ้าใบระกา ๓ ชั้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ด้วยคุณงามความดีของท่านที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ "พระครูเพชโรปมคุณ"

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีราชทินนามว่า "พระเพชรคุณมุนี ปสาทนียสมาจารย์ สังฆปาโมกข์" 

         ช่วงบั้นปลายชีวิตท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคไอออกมาเป็นโลหิต ลูกศิษย์ลูกหาได้ทำการรักษากันอย่างเต็มที่แต่อาการก็มิได้ทุเลาลง

         หลวงพ่อกร ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๑๗.๐๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๖๗ ปี ๔๗ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย

         เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เพื่อแจกในคราวจัดงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่ประมาณไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก 2473 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก 2473 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก 2473 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อกรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤก ๑๖/๘/๗๓" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ในงานเลื่อนสมณศักดิ์ พระครูกร" 

         เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยหลวงพ่อเชื่อมเจ้าอาวาสรูปถัดมา เพื่อแจกในงานหล่อรูปหลวงพ่อกรเท่าองค์จริง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่น 2 2494 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อกรครึ่งองค์หันข้างพาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกในงานหล่อรูป พระเพชรคุณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ๒๔๙๔" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" 

         เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยหลวงพ่อเชื่อมเจ้าอาวาสรูปถัดมา เพื่อแจกในงานทำบุญครบรอบ ๓๐ ปี มรณภาพหลวงพ่อกร ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่น 3 2518 เงิน
เหรียญหลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อเงิน

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อกรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤก ครบรอบ ๓๐ ปี พระเพชรคุณมุนี (กร) อดีตเจ้าคณะจังหวัด วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี ๒๑ ธ.ค. ๒๕๑๘" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" 



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น