โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่ชู วัดนาคปรก กรุงเทพมหานคร พระเกจิยุคเก่าของชาวกรุง

ภาพถ่ายหลวงปู่ชู วัดนาคปรก กรุงเทพ
หลวงปู่ชู วัดนาคปรก กรุงเทพมหานคร

         หลวงปู่ชู วัดนาคปรก  หรือ พระอธิการชู คงชูนาม อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคปรก ท่านเกิดเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๐๑ พื้นเพบ้านเดิมท่านอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช  โยมบิดาชื่อคง คงชูนาม โยมมารดาไม่ทราบนาม 

         โยมบิดามีอาชีพค้าขาย มีเรือโกลนล่องมาจากนครศรีธรรมราชมาค้าขายที่ธนบุรีต่อมาได้โยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่จังหวัดธนบุรีในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ หลวงปู่ชู ท่านมีอายุครบบวช ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ อันเป็นสำนักสอนกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น

         หลวงปู่ชูท่านได้ศึกษาทางด้านนี้ รวมทั้งจิตใจฝักใฝ่ในด้านพุทธาคมและไสยเวทมาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จึงมุ่งมั่นศึกษาวิชาต่างๆ แต่ละแขนงจนกระทั่งเชี่ยวชาญ ว่ากันว่าท่านยังเป็นศิษย์เรียนวิชาจาก สำนักวัดระฆังโฆสิตารามอีกด้วย

         ต่อมาท่านได้ลาสิกขาเพื่อสะดวกแก่การเดินทางไปศึกษาวิชาต่างๆ ท่านได้ไปขอศึกษาวิชากับ ท่านอาจารย์พลับ วัดชีตาเห็น (วัดชีโพ้นในปัจจุบัน) จังหวัดอยุธยา ซึ่งมีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ได้ปรนนิบัติ และศึกษาวิชากับพระอาจารย์พลับจนหมดสิ้น

         จึงลาพระอาจารย์เดินทางขึ้นเหนือไปยังจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก แต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่าท่านได้ไปศึกษาวิชากับพระอาจารย์รูปใด อีกทั้งการเดินทางไปของท่าน เป็นระยะเวลานานมากและยังขาดการติดต่อกับทางบ้าน บรรดาญาติพี่น้องพากันเข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว

         เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมบ้าน ยังความปิติยินดีแก่ญาติพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง โยมบิดามารดาจึงจัดหาตบแต่งภรรยาให้ท่าน อยู่กินกันจนมีบุตรธิดา รวม ๓ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๑ 

         หลังจากท่านแต่งงานมีครอบครัวท่านก็ได้ใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรใบยาและเวทย์มนต์คาถาที่ได้ร่ำเรียนมา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน พากันเรียกท่านว่า "พ่อหมอชู"

         ภายหลังท่านเกิดเบื่อหน่ายในโลกีย์วิสัย มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร จึงได้อุปสมบทอีกครั้ง ที่ ณ พัทธสีมาวัดนางชี เขตภาษีเจริญ แล้วภายหลังจึงมาจำพรรษาที่วัดนาคปรก

         วัดนาคปรกนั้น เป็นวัดที่ตั้งอยู่ ณ ถนนเทอดไทย ตำบลปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นในช่วงรัตนกสินทร์ตอนต้น ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ 

         ผู้สร้างคือเจ้าสัวพุก พ่อค้าสำเภาชาวจีน ซึ่งตามพระยาโชฎึกราชเศษฐี เข้ามาทำมาค้าขายโดยจอดท่าเรือสำเภาไว้ที่คลองสานใกล้ๆ สุเหร่าแขก และต่อมาได้ภรรยาเป็นคนไทย

         เจ้าสัวพุกเป็นผู้มีความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา มีศรัทธาแรงกล้าในการจะสร้างวัดขึ้น ณ ที่ใกล้ วัดนางชี อันเป็นพระอารามหลวง ซึ่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นผู้ถวายการบูรณะปฏิสังขรณ์ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ 

         สำหรับนามของวัดนี้ มาจากพระนามของพระพุทธรูปหนึ่งในจำนวน ๒ องค์ ซึ่งเป็นพระประธานประจำพระวิหาร พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก อันปรากฏในพระพุทธประวัติว่า 

         เมื่อครั้งเสด็จนั่งเสวยวิมุติสุขยังร่มไม้จิก ได้บังเกิดฝนตกพรำอยู่ตลอด ๗ วันในครั้งนั้นพญามุจลินท์นาคราชออกจากนาคภพมาทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนเพื่อป้องกันลมและพายุฝนไม่ให้ซัดสาดมาต้องพระวรกาย

         พระพุทธรูปปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระประจำวันของผู้ที่เกิดวันเสาร์ เข้าใจว่าภรรยา ของเจ้าสัวพุกคงจะเกิดในวันนี้ 

         นอกจากนั้นภาพจิตรกรรมภายในวิหารยังเป็นลายไทย ส่วนภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนสีเป็นลายจีน และท่านผู้สร้างก็เป็นผู้ที่มีปฏิสัมภิทาและบุคลาธิษฐาน 

         ซึ่งหยิบยกสิ่งที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาเป็นหลักในการอธิบายสังเกตได้จากการที่สร้างพระวิหารไว้ทางทิศเหนือ และพระอุโบสถไว้ทางทิศใต้ องค์พระหันไปทางทิศตะวันออก เปรียบเสมือนผู้หญิงอยู่ทางซ้าย ผู้ชายอยู่ทางขวาวัดนาคปรก

         วัดนาคปรก มีเจ้าอาวาสครองวัดมาแล้วหลายรูป แต่ไม่มีการจดบันทึกไว้ เริ่มมาบันทึกเป็นทางการถึงปัจจุบัน รวม ๔ รูปคือ

         ๑.  พระอธิการ คงชูนาม

         ๒.  พระอธิการเลี่ยม นนฺทิโย

         ๓.  พระอาจารย์อำนาจ นราสโภ

         ๔.  พระครูศรีพัฒนคุณ (พิศิษฐ สิมมามี) 

         จากคำเล่าขานของชาวบ้านแถบวัดนาคปรก ที่เล่ากันถึงวัตรปฏิบัติปฏิปทาของหลวงปู่ชู ว่ากันว่า ท่านเป็นพระที่เรียบง่าย ไม่โอ้อวดตนว่าเป็นผู้วิเศษ มีความรู้ความสามารถเหนือผู้อื่น แต่กลับมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีคุณธรรมสูง เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่รักเคารพของบรรดาศิษย์ 

         มีเรื่องเล่ากันว่าหลวงปู่ชู เป็นพระอาจารย์รูปเดียวที่ "พระภาวนาโกศลเถระ" (หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง) กล่าวยกย่องว่า เก่งทางไสยศาสตร์และวิชาแพทย์แผนโบราณ 

         ว่ากันว่า ถ้ามีคนตลาดพลูไปขอของดีจากหลวงปู่เอี่ยม ท่านจะบอกให้มาเอาจากหลวงปู่ชู ในทางกลับกัน ถ้ามีคนบางขุนเทียนมาขอของดีจากหลวงปู่ชู ท่านจะแนะนำให้ไปขอจากหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่ทั้งสองนี้ต่างก็ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน

         ต่างก็รู้วาระจิตกันดี และมักจะไปมาหาสู่กันเสมอ หลวงปู่ชูท่านจะให้การอบรมพระภิกษุสามเณรในวัดเป็นอย่างดี ท่านจะมักเทศนาให้ชาวบ้านฟังเสมอๆ ว่าให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ประกอบอาชีพทำมาหากินสุจริต 

         สมัยก่อนวัดนาคปรกและบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยป่าครึ้ม ชาวบ้านประกอบอาชีพกสิกรรม ทำสวนผลไม้และปลูกหมากพลู มีมากจนคนขนานนามว่า ตลาดพลู การคมนาคมในสมัยก่อนยังใช้เรือเป็นพาหนะ ไฟฟ้า ประปายังไม่มี ตกค่ำก็พากันจุดไต้และตะเกียงเพื่ออ่านคัมภีร์และหนังสือธรรมะ เป็นกิจวัตรประจำวัน

         มีเรื่องเล่ากันว่า วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่กำลังดูหนังสือทบทวนปาฏิโมกข์โดยจุดตะเกียงวางไว้บนโต๊ะใกล้หน้าต่าง มีชาวบ้านที่เดินมาด้วยกันบอกเพื่อนที่มาด้วยกันว่า เอาตะเกียงพระส่องทางดีกว่า มืดจะตาย อีกคนก็เห็นพ้องด้วยก็พากันมาตรงหน้าต่างกุฏิ 

         คนหนึ่งเอื้อมมือไปหยิบตะเกียงแต่หยิบไม่ถึง ก็บอกเพื่อนให้หาไม้มาเขี่ย ทำให้หลวงปู่รู้ว่า มีคนจะมาเอาตะเกียงด้วยความเมตตาของท่าน แทนที่จะร้องทักขึ้นกลับนั่งเงียบเสีย แล้วใช้เท้าดันตะเกียงไปชิดริมหน้าต่างเพื่อจะได้หยิบสะดวก ทั้งสองคนจึงขโมยตะเกียงของท่านไปได้อย่างง่ายดาย 

         เมื่อไม่มีตะเกียงก็ไม่สามารถอ่านหนังสือได้จึงจำวัดพักผ่อน จวบจนรุ่งสางเสียงไก่ขัน ได้เวลาที่ท่านจะต้องตื่นขึ้นมาทำวัตรเช้าและนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน ขณะที่กำลังถือกระบวยจะตักน้ำล้างหน้า ก็มองเห็นแสงไฟริบหรี่วนไปวนมาอยู่ในสวน 

         ซึ่งท่านก็ไม่ได้สนใจว่า ชาวบ้านกำลังทำอะไร เข้าห้องครองจีวรและสังฆาฏิเตรียมสวดมนต์ ก็ได้ยินเสียงคนมาร้องเรียกอยู่หน้ากุฏิ ท่านจึงได้เปิดประตูออกดู เห็นชายสองคนถือตะเกียงของท่าน กำลังนั่งคุกเข่าปะนมมืออยู่ 

         พอเห็นท่านก็ก้มลงกราบด้วยความเคารพ พร้อมกับพูดขึ้นว่า "หลวงปู่ครับ ลูกขอขมาลาโทษ ลูกทำผิดอย่างใหญ่หลวง ที่ขโมยตะเกียงของหลวงปู่ไป ลูกเดินวนเวียนอยู่ในบริเวณวัดทั้งคืนหาทางกลับบ้านไม่ถูกเลย ขอหลวงปู่จงยกโมษให้ลูกด้วยเถิดครับ" 

         หลวงปู่ได้ฟังจบ ก็ยิ้มอย่างมีเมตตาและกล่าวขึ้นว่า "ข้าให้อภัยถ้าเธอมีโทษเพราะเรื่องนี้ ความมืดภายนอกจากการสิ้นแสงอาทิตย์และเดือนดาว ยังจิตใจของคนเราให้มืดบอดไปด้วย เขาเรียกว่ามืดทั้งภายใน 

         แต่ถ้าผู้ใดสามารถกำจัดอวิชชาตัวที่ทำให้ไม่รู้หมดสิ้นไป ผู้นั้นก็จะสว่างทั้งภายนอกและภายใน หลับอยู่ก็รู้ นอนยู่ก็เห็น ไม่จำเป็นต้องมีตะเกียงนำทาง ขอให้เธอทั้งสองจงสว่าง เห็นทางกลับบ้านอยู่กับครอบครัวอย่างเป็นสุขเถิด" 

         ข้อความที่หลวงปู่กล่าวกินใจของคนทั้งคู่ ต่างพานก้มลงกราบด้วยความเคารพศรัทธาพร้อมกับเอ่ยปากขอฝากตัวเป็นศิษย์แล้วลากลับบ้าน

         อีกเรื่องหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องเล่าขานกันต่อมาคือ เรื่องที่หลวงปู่ชูให้หวยแม่น ในสมัยนั้น ชาวบ้านย่านตลาดพลู ใครมีเรื่องทุกข์ร้อน มักจะมาหาท่านให้ท่านช่วยเหลือ บางคนที่ไม่มีอะไรจะกิน หลวงปู่ท่านจะสงเคราะห์ให้ตามสมควร 

         จนกระทั่งมีข่าวเล่าลือว่า หลวงปู่ให้หวย อันเป็นการผิดกฎของคณะสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชทรงทราบเรื่องจึงทรงสอบสวนวินัย โดยมอบให้ท่านเจ้าคุณวัดอนงค์คาราม เป็นผู้สอบสวน ท่านเจ้าคุณวัดอนงค์จึงเรียกให้หลวงปู่ชูมาพบที่วัด

         หลวงปู่ก็ไปพบแต่โดยดี ไปถึงก็กราบท่านเจ้าคุณพร้อมกับนั่งประนมมือฟังคำบัญชาด้วยใจเด็ดเดี่ยวและมั่นคงท่านเจ้าคุณวัดอนงค์จึงถามขึ้นว่า "ให้หวยเก่งนักหรือ" หลวงปู่ชูได้ตอบไปว่า "ขอก็ให้ ไม่ขอก็ไม่ให้" 

         ท่านเจ้าคุณวัดอนงค์ได้ฟังดังนั้นจึงสรุปว่าหลวงปู่ให้หวยผิดวินัย โกหกหลอกลวงชาวบ้าน แต่ถ้าสามารถตอบอะไรท่านได้ จะไม่ถือเอาโทษ หากตอบไม่ได้จะปรับโทษทางวินัย แล้วท่านเจ้าคุณก็เขียนหนังสือใส่ซองจดหมายอย่างหนาแล้วนำเอามาวางไว้ตรงหน้าหลวงปู่ 

         โดยมีพระเถระเป็นสักขีพยานหลายรูป รวมทั้งมัคนายกอีกทั้งสองนายซึ่งนั่งดูการพิจารณาพิพากษาในที่นั้นอยู่ด้วย เมื่อวางซองจดหมายแล้ว เขียนว่าอย่างไรบ้าง 

         หลวงปู่ชูจึงนั่งหลับตาอยู่ราวอึดใจหนึ่งจึงกราบเรียนท่านเจ้าคุณรวมทั้งสักขีพยานว่า ในซองนั้นเขียนคำว่า "สมภารชูให้หวย" พอฉีกซองออกมาดู ทั้งข้อความที่ปรากฏอยู่ เป็นไปดังที่หลวงปู่กล่าวทุกประการ 

         หลังจากนั้นได้นิมนต์ให้กลับวัดหมดโทษหมดมลทินใดๆ เพราะท่านไม่ได้หลอกลวงใครดังกล่าวหา และต่อมาภายหลัง ท่านเจ้าคุณวัดอนงค์ได้มาเยี่ยมเยือนหลวงปู่ชูที่วัดเสมอ จนถูกอัธยาศัยไมตรีกันตราบจนสิ้นชีวิตของท่าน 

         เรื่องหลวงปู่ชูให้หวยแม่นและเรื่องที่ท่านโดนท่านเจ้าคุณอนงค์เรียกไปสอบกลายเป็นข่าวเลื่องลือไปทั่ว วันหนึ่ง มีนักเลงจับยี่กีเดินโพยหวยชื่อ ตาแหวง บ้านอยู่หลังวัดนาคปรก คิดจะทดลองความแม่นยำในการใบ้หวยของหลวงปู่ เพราะตนเพียงได้ยินเสียงเล่าลือจึงยังไม่เชื่อถือ 

         ตาแหวงจึงขึ้นไปกราบหลวงปู่ที่กุฏิแล้วแจ้งความประสงค์แบบซื่อๆ ด้วยใจนักเลงว่า "หลวงปู่ครับ เขาลือกันว่าหลวงปู่ให้หวยแม่น ถ้าเป็นจริงดังคำเล่าลือ ขอได้โปรดเมตตาสงเคราะห์กระผมบ้าง กระผมอยากได้เลขจากหลวงปู่ เพียงตัวเดียวเท่านั้นแหละครับ" 

         หลวงปู่ได้ฟังแล้วก็ยิ้มอย่างมีเมตตา นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบไปว่า "แหวงเอ๊ย แกเป็นคนไม่มีโชคด้านนี้ ข้าให้ไปแกก็เอาไม่ได้ อย่าเล่นเลยดีกว่าเชื่อข้าเถอะ" ตาแหวงได้ยินก็สงสัยเพราะเท่าที่รู้มาใครขอท่านมักจะไม่ขัด จึงอ้อนวอนขอท่านอีกครั้งว่า "หลวงปู่ให้มาเถิดครับ ถึงรู้ว่าผมไม่มีโชค ถ้าให้แล้วไม่มีโชคจริงละก็ จะเลิกการพนันตลอดชีวิตเลยครับ" 

         หลวงปู่ท่านจึงถามย้ำอีกครั้งว่า "จะเลิกเล่นตลอดชีวิตจริงอย่างที่ว่าหรือไม่" ตาแหวงก็ยืนยันแข็งแรง หลวงปู่ถึงถามว่า เลขตัวเดียวได้กี่บาท ตาแหวงก็แจกแจงบอกกติกาการเล่นให้ท่านทราบโดยละเอียด ท่านจึงบอกว่า "เลขตัวเดียวรวยช้า เอาไป ๓ ตัวตรงๆ ไม่มีการสลับตำแหน่ง เงินมีเท่าไหร่ซื้อให้หมด" 

         พูดจบท่านก็เขียนตัวเลข ๓ ตัวใส่ระดาษส่งให้ตาแหวงไป ตาแหวงเมื่อได้เลขจากหลวงปู่แล้วก็นั่งฝันความเป็นเศรษฐีของตนในวันพรุ่งนี้ พอถึงวันหวยออก ก็เดินหาซื้อเลขดังกล่าว แต่วันนั้นเกิดเต็มไม่สามารถซื้อได้ทั้งที่ตนเป็นเจ้ามือวิ่งโพยเอง 

         จึงรีบไปซื้อที่อื่นเขาก็ว่าตำรวจกวนวันนี้งดขาย ตามอยู่หลายเจ้าก็ไม่มาสารถซื้อเลขที่หลวงปู่ให้มาได้เลย จนกระทั่งถึงเวลาหวยออกตาแหวงก็ยังคงวิ่งหาซื้อเลขนี้อยู่ ถึงตอนประกาศรางวัลที่ ๑ เลข ๓ ตัวท้ายออกมาตรงกับที่หลวงปู่ให้ไม่ผิดเพี้ยน

         ตาแหวงถึงกับเข่าอ่อนทรุดลงไปนั่งกองกับท้องร่องสวนหมากหลังวัด นึกถึงคำพูดของหลวงปู่ขึ้นมาได้ ก็วิ่งแจ้นไปยังกุฏิหลวงปู่ บอกท่านว่า "หลวงปู่ครับ ผมไม่มีโชคเหมือนที่หลวงปู่ว่า ต่อไปนี้ผมเลิกเล่นการพนันทุกชนิด หากผิดสัจจะก็ขอให้พบกับความวิบัติ และฝากตัวรับใช้หลวงปู่ตลอดไป"

         หลวงปู่ได้พูดปลอบใจตาแหวงว่า "วาสนาของเรามันเป็นอย่างนั้น อย่าเสียใจไปเลย เราไม่ได้สร้างกุศลเรื่องทางนี้มา จะเปรียบกับคนอื่นเขาไม่ได้ดอก พอใจในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนเป็น ก็มีความสุขแล้วมิใช่หรือตาแหวง" จากนั้นมาตาแหวงก็เป็นโยมรับใช้หลวงปู่จนชั่วชีวิตตามที่ได้ให้สัจจะไว้ทุกประการ

         หลวงปู่ชู วัดนาคปรก นั้นชาวบ้านในละแวกวัดรวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงต่างพากันกล่าวถึงเกียรติคุณของท่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่ยังคงเหลือเป็นที่รู้จักกันอย่างดีคือ วัตถุมงคลต่างๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ อาทิ เหรียญรูปเหมือน และเหรียญหล่อเนื้อสำริด

         พระหลวงพ่อโต วัดนาคปรก พระอธิการชู คงชูนาม (หลวงปู่ชู) ท่านได้สร้างเมื่อคราวทำพิธีหล่อองค์พระหลวงพ่อโตทั้งสององค์สองครั้ง โดยสร้างหลวงพ่อโตองค์เล็กครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ 

         และสร้างหลวงพ่อโตองค์ใหญ่เป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อประดิษฐาน ณ วิหารหลวงพ่อโต วัดนาคปรก เพื่อให้ประชนผู้เลื่อมใสศรัทธาได้กราบไหว้ในองค์หลวงพ่อโต "พระกรุหลวงพ่อโต วัดนาคปรก" เนื้อทองเหลืองแตกกรุ ๒ ครั้งคือ 

         ครั้งแรกแตกเมื่อมีโขมยใจบาปมาแอบตัดเศียรองค์หลวงพ่อโต แต่ก็เกิดสิ่งอัศจรรย์ในคราวนั้นเมื่อขโมยไม่สามารถนำเศียรขององค์หลวงพ่อโตไปได้ เดินหลงทางหาทางออกจากวัดไม่ได้จนเกือบใกล้รุ่ง หัวโขมยใจบาปจึงได้นำเศียรขององค์หลวงพ่อโตไปแอบซุกไว้ที่พงหญ้าริมกำแพงโบสถ์

         ครั้งที่ ๒ เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทางวัดต้องการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัด และขยายถนนที่เล็กคับแคบให้กว้างขึ้น เพื่อสะดวกแก่ญาติโยมที่ต้องอาศัยทางของวัดเพื่อสัญจรเดินทาง 

         จึงจำเป็นต้องทำการรื้อถอนเรือสำเภาปูนโบราณ ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยของหลวงปู่ชู คงชูนาม และยังได้รื้อถอนสถูปเจดีย์เก่าที่อยู่ข้างเรือสำเภอปูนออกด้วย ในการรื้อถอนครั้งนั้นทางวัดได้พบ 

         ๑. พระพิมพ์หลวงพ่อโตเนื้อทองเหลืองจำนวนหนึ่ง

         ๒. พระพิมพ์หลวงพ่อโตเนื้อดินเผาหลายสิบไห 

         ๓. พระพิมพ์กลีบบัวมีทั้งเนื้อดินเผา-เนื้อว่าน-เนื้อชานหมาก-เนื้อชินตะกั่ว จำนวนไม่มากนัก 

         ๔. พระพิมพ์แหวกม่านเนื้อดินเผาและเนื้อดินดิบผสมว่านจำนวนไม่มาก 

         ๕. พระพิมพระสังกัลจายเนื้อดินเผาจำนวนไม่มาก 

         ๖. พระหลวงพ่อโตเนื้อชินตะกั่วพิมพ์สามเหลี่ยม(นางพญา) จำนวนไม่ถึงยี่สิบองค์

         นอกจากนี้ยังพบพระฝากกรุไว้ในสถูปเจดีย์เก่าที่อยู่ข้างเรือสำเภอปูนอีกจำนวนหนึ่ง พระที่ทางวัดพบในเรือสำเภาปูนโบราณนั้น พระทั้งหมดถูกบรรจุไว้ในไหโบราณ จึงทำให้พระกรุหลวงพ่อโต วัดนาคปรกที่พบในครั้งนั้นอยู่ในสภาพค่อนข้างดี 

         ทางวัดนาคปรกซึ่งกำลังบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดอยู่ในขณะนั้น จึงได้เปิดให้ประชาชนผู้มีจิตศัทราในองค์หลวงพ่อโตและท่าน หลวงปู่ชู วัดนาคปรก ได้มาบูชา

         หลวงปู่ชู ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ.๒๔๗๗ นับรวมสิริอายุได้ ๗๖ ปี

วัตถุมงคลของหลวงปู่ชู วัดนาคปรก

         เหรียญหลวงปู่ชู วัดนาคปรก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานทำบุญอายุครบ ๗๐ ปีของหลวงปู่ ลักษณะเป็นเหรียญปั้มรูปทรงเสมาข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างเฉพาะเนื้อเงิน และเนื้อเงินกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างตามคำบอกเล่ามีการจัดสร้างเพียง ๗๐ เหรียญ แต่ที่พบเห็นน่าจะมีมากกว่านั้น

เหรียญหลวงปู่ชู วัดนาคปรก รุ่นแรก 2471 เงินกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่ชู วัดนาคปรก รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื้อเงินกระไหล่ทอง ของคุณโทน บางแค

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่ชูนั่งสมาธิราบในรูปวงรี องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฦกในการ ทำบุญอายุครบ ๗๐ ปี"

         ด้านหลัง เหรียญเป็นรอยปั๊มบุ๋มแบบหลังแบบ  ไม่มีอักษรใดๆ บางเหรียญมีรอยจาร

         เหรียญหลวงปู่ชู วัดนาคปรก รุ่นปลงศพ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เพื่อแจกให้กับเจ้าภาพสวดอภิธรรมงานศพของหลวงปู่ เหรียญนี้ถึงจะสร้างหลังจากหลวงปู่ชู มรณภาพแล้ว แต่เหรียญนี้ก็มีประสบการณ์มากมาย เพราะปลุกเสกโดยหลวงปู่ไปล่ วัดกำแพง ลักษณะเป็นเหรียญปั้มรูปทรงเสมาข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างเฉพาะเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่ชู วัดนาคปรก รุ่นแจกงานศพ 2478 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่ชู วัดนาคปรก รุ่นปรงศพ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของร้านทนายพระเครื่อง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงปู่ชูนั่งสมาธิราบในรูปวงรี องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ" และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤก พระอธิการชู คงชูนาม เกิด ๑๒,๒๔๐๑ มรณะ ๒๔,๑๐,๒๔๗๗ ปลงศพ ๑๓,๑๐,๒๔๗๘" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก พิมพ์หลังยันต์จม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อบรรจุไว้ในองค์หลวงพ่อโตพระประธานของวัด และบรรจุไว้ในเรือสำเภาปูนโบราณที่สร้างขึ้นโดยหลวงปู่ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง และเนื้อดินเผา จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงปู่ชู วัดนาคปรก พิมพ์หลวงพ่อโต 2472 สัมฤทธิ์
เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก พิมพ์หลังยันต์จม ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" เห็นอักขระยันต์มีตัวอุณาโลม

         เหรียญหล่อพุทธซ้อนหลวงปู่ชู วัดนาคปรก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อบรรจุไว้ในองค์หลวงพ่อโตพระประธานของวัด และบรรจุไว้ในเรือสำเภาปูนโบราณที่สร้างขึ้นโดยหลวงปู่ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงปู่ชู วัดนาคปรก พิมพ์พุทธซ้อน 2472 สัมฤทธิ์
เหรียญหล่อพุทธซ้อน หลวงปู่ชู วัดนาคปรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อสัมฤทธิ์

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดที่หลวงปู่ชูหล่อไว้ทั้ง ๒ องค์ วางซ้อนกันโดยองค์ที่อยู่ด้านหน้าประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัว

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         พระปิดตาหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ ลักษณะเป็นพระปิดตาเทหล่อหน้าเดียวแบบหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อชินตะกั่วเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่ชู วัดนาคปรก ตะกั่ว
พระปิดตาหลวงปู่ชู วัดนาคปรก เนื้อชินตะกั่ว ของคุณแจ็ค บางระมาด

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของพระปิดตาภควัมบดี

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ ในบางองค์มีจาร

 

โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น