โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อโม วัดสามจีน หรือ วัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าของพระพุทธชินราชอันโด่งดัง ของกรุงเทพฯ

ภาพถ่ายหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ นั่งกลาง บนคือพระอธิการเปลี่ยน
หลวงพ่อโม วัดสามจีน หรือ วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพมหานคร

         หลวงพ่อโม วัดสามจีน หรือ พระครูวิริยกิจจการี (โม ธัมมสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรมหาวิหาร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงมากอีกรูปหนึ่งของพระนคร พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเพทฯ ท่านมีนามเดิมว่า โม แซ่ฉั่ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ พ.ศ. ๒๔๐๖ โยมบิดาชื่อนายลิ้ม แซ่ฉั่ว โยมมารดาชื่อนางกิมเฮียง แซ่ฉั่ว 

         ท่านเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดกว่าเด็กทั่วไป เมื่อยังเล็กโยมบิดาและโยมมารดาจึงนำท่านไปฝากเรียนในสำนักวัดไตรมิตรวิทยาราม จนสามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย นอกจากนี้ท่านยังชอบศึกษาหาความรู้ในด้านวิชาอาคมขลังอีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ หลวงพ่อโม ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดไตรมิตรวิทยาราม แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ได้รับฉายาว่า "ธัมมสโร" โดยมี

         พระครูถาวรสมณวงศ์ (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสวัดสามจีน เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์สิงห์ วัดหัวลำโพง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์แย้ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังกจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดสามจีน (วัดไตรมิตรฯ) เรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาปริยัติธรรม และพระธรรมวินัย กับพระอาจารย์เปลี่ยน จนสำเร็จวิชาหลายอย่าง

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ พระครูถาวรสมณวงศ์ (เปลี่ยน) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดสามจีน ได้ย้ายไปปกครองเป็นเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) เมืองพิษณุโลก และถัดมาอีก ๑ ปี คือในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ท่านก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่ พระปรากรมมุนี และได้รับพระราชทานเป็นเจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ พระครูวิริยานุกิจจารี (กล่อม) จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสามจีน อันดับที่ ๔ ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ พระอธิการกล่อม ได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันแต่งตั้งให้หลวงพ่อโม ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน

         และในปีเดียวกันนั้นเอง หลวงพ่อโม ท่านได้รับการแต่งตั้งตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๙ หน้า ๒๔๑๑ วันที่ ๒๒ มกราคม ๑๓๑ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๕) ความว่า ให้พระอธิการโม วัดสามจีนใต้ เป็นพระครูสัญญาบัตรฝ่ายวิปัสสนาที่  พระครูวิริยกิจการี ถือพัดพุดตาลพื้นแพรแดง สลับเยียรระบับ

ภาพวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือ วัดสามจีน กรุงเทพ
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือ วัดสามจีน กรุงเทพ

         วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนตรีมิตร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่มพระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่า "วัดสามจีน" เข้าใจกันว่า ชาวจีน ๓ คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ

         ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อ "วัดไตรมิตรวิทยาราม" ซึ่งมีความหมายว่า เพื่อน ๓ คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยของรัฐบาลอยู่ภายในบริเวณวัด

พระทศพลญาณ วัดไตรมิตร หรือ หลวงพ่อโต วัดสามจีน กรุงเทพ
พระทศพลญาณ วัดไตรมิตร หรือ หลวงพ่อโต วัดสามจีน กรุงเทพ

         ภายในวัดมีพระพุทธทศพลญาณ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อโต บ้างก็เรียกว่า หลวงพ่อวัดสามจีน มีประชาชนมาบนบานกันเสมอๆ ด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และได้ตรัสยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก 

         นอกจากนี้ยังมีพระสุโขทัยไตรมิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อทองคำที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง ๓.๐๑ เมตร สูง ๓.๙๑ เมตร องค์พระสามารถถอดได้ ๙ องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ ๔๐% พระพักตร์มีเนื้อทอง ๘๐% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก ๔๕ กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙%

         สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญ

         เนื่องด้วยช่วงนั้นแผนดินยังไม่สงบ มักมีสงครามรบพุ่งกับพม่า จึงทำให้วัดวาอารามต่างๆได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงทำการอัญเชิญพระพุทธรูปที่อยู่ตามหัวเมืองต่างๆเข้ามาในพระนครเป็นจำนวนมาก

         ซึ่งจากภัยสงครามนี้เอง ทำให้ในสมัยก่อนนั้นขุนนางและชาวบ้านจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำแล้วนำมาไว้ยังวัดที่ตนสร้าง

         จนได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร (วัดโชติการาม) ต่อมาเป็นวัดร้าง บริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก จึงได้ขอเช่าที่วัดสร้างเป็นโรงเลื่อยจักร จึงได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดไตรมิตรฯ ประดิษฐานอยู่ข้างพระเจดีย์ โดยปลูกเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้อย่างหยาบๆ 

         หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกระเทาะออก จึงทำให้เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งตรงกับในสมัยรัชกาลที่ ๙

ภาพหลวงพ่อทองคำ หรือ พระสุโขทัยไตรมิตร วัดไตรมิตร กรุงเทพ
หลวงพ่อทองคำ หรือ พระสุโขทัยไตรมิตร วัดไตรมิตร กรุงเทพ

         หลังจากที่หลวงพ่อโม ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างสุดความสามารถ

         หลวงพ่อโม ท่านขึ้นชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีคาถาอาคมเข้มขลัง โดยชาวบ้านในพื้นที่ทั้งชาวไทยและชาวจีน ต่างให้ความเคารพเป็นอย่างสูง วัตถุมงคลของท่านที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งเหรียญปั๊ม และเหรียญหล่อเนื้อชิน

         โดยเฉพาะเหรียญหล่อนั้นขึ้นชื่อในเรื่องของความเหนียวชนิดที่เรียกกันว่าแมลงวันไม่ได้กินเลือดเลยทีเดียว จึงเป็นที่นิยมและหวงแหนกันเป็นอย่างมาก และเหรียญหล่อนี้ยังเป็นต้นแบบของพระเครื่องอีกหลายคณาจารณ์ อาทิ เช่น ชินราชหลวงพ่อเฮี้ยง วัดป่าฯ , ชินราชหลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม สมุทรสงคราม เป็นต้น

         ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาต่อพระศาสนา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้นสำเร็จสมบูรณ์ จึงทรงมีพระราชศรัทธาให้หล่อพระพุทธชินราช จำลองจากพิษณุโลก เพื่อประดิษฐานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร

         ในพิธีการหล่อพระพุทธชินราชจำลองคราวนั้น ได้มีการอาราธนาพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางเวทมนตร์คาถา เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป มาประกอบพิธีนั่งปรกปลุกเสกจำนวนมากมาย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ หลวงพ่อโม

         หลวงพ่อโม ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ถือสันโดษ มักน้อย และยังถือเอกา คือ การฉันมื้อเดียวมาโดยตลอดตั้งแต่บวชจนกระทั่งมรณภาพ โดยอุปนิสัยเป็นผู้ที่มีอารมณ์เยือกเย็น พูดจานิ่มนวล มีเมตตาต่อชนทุกชั้นวรรณะและสัตว์ทั้งปวง กิจวัตรที่ไม่เคยขาดคือการลงโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าและเย็น รวมทั้งการบิณฑบาตที่ท่านถือเป็นภารกิจของสงฆ์ที่ควรปฏิบัติมิได้ขาด

        สิ่งที่แปลกก็คือ เมื่อท่านบิณฑบาตมาแล้วจะนำอาหารทั้งหมดถวายพระภิกษุ-สามเณร โดยตักแบ่งให้ทั่วทุกองค์ ส่วนตัวท่านนั้นฉันเจมาโดยตลอด แสดงให้เห็นถึงความมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ ไม่เป็นผู้เบียดเบียน ชีวิตสัตว์ทั้งหลาย

         ในสมัยก่อนกล่าวกันว่า หญิงที่ตั้งครรภ์ถ้าได้ "ดอกบัวเสก" จากท่านไปต้มกิน บุตรที่คลอดออกมาจะมีผิวพรรณเปล่งปลั่งดั่งสีทอง และคลอดง่าย ซึ่งเรื่องนี้ชาวจีนย่านเยาวราชต่างพากันนับถือมาก แต่ละวันจะมีประชาชนมาให้ท่านรดน้ำมนต์ไม่เว้น ยิ่งเครื่องรางของขลังแทบไม่ต้องพูดถึง ท่านจะทำตะกรุด และผ้ายันต์แจกเสมอ

ภาพถ่ายหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ
หลวงพ่อเปลี่ยน วัดสามจีน กรุงเทพมหานคร

         ปกติหลวงพ่อโม ท่านมีพลานามัยแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ก่อนมรณภาพในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้อนุญาตให้คณะศิษย์จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนไว้เป็นที่ระลึก โดยท่านบอกว่าต่อไปของชิ้นนี้จะเป็นตัวแทนของฉันได้ เก็บรักษาไว้ให้ดี

         เมื่อท่านสร้างเหรียญแจกจนหมด พอถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๑ จู่ๆ ในระหว่างกลางเดือนกันยายน หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ ท่านได้อบรมพระภิกษุ-สามเณรในพระอุโบสถว่า "ขอให้ศิษย์ทุกองค์ จงตั้งมั่นปฏิบัติธรรมและคอยช่วยทะนุบำรุงวัดให้เจริญก้าวหน้า และสามัคคีกันให้ดี อีกไม่นานฉันต้องจากพวกเธอไปแล้วนะ"

         ทั้งพระภิกษุ-สามเณรที่ได้ฟังเช่นนั้น ก็ไม่คิดว่าท่านจะมรณภาพ เพราะเห็นว่าสุขภาพของท่านยังแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยใดๆ คิดว่าท่านอาจจะย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่นก็เป็นได้

        จนกระทั่งเช้าวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ พระภิกษุ-สามเณรเห็นท่านไม่เปิดกุฏิออกมาบิณฑบาต อย่างเช่นเคย จึงได้ไปเคาะประตูเรียกก็เงียบจนผิดสังเกต จึงเปิดประตู (ไม่ได้ใส่กลอน) เข้าไปพบว่าหลวงพ่อโมนั่งสมาธิมรณภาพไปแล้ว

         หลวงพ่อโม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ นับรวมสิริอายุได้ ๕๘ ปี ๓๘ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อโม วัดสามจีน

         เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ มีหูเชื่อมไว้สำหรับห้อยคอ มีการสร้างด้วยเนื้อเงินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 เงิน
เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อเงิน ของคุณอัต เต่ามังกร

เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 เงิน
เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อเงิน ของคุณTriple Fruit
เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 เงิน
เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อเงิน ของคุณTriple Fruit
เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 เงิน
เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 เงิน-ขอบ
เหรียญหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อเงิน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อโมครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีช่อมะกอก บนช่อมะกอกมีตัวอักขระขอม "อุนาโลม" ใต้ช่อมะกอกมีอักขระขอมหมายความได้ว่า "พระครูวิริยะกิจการี (โม)" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ 

         พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อชินตะกั่วเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 ชินตะกั่ว
พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อชินตะกั่ว

พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 ชินตะกั่ว
พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อชินตะกั่ว

พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 ชินตะกั่ว
พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อชินตะกั่ว
พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก 2460 ชินตะกั่ว
พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อชินตะกั่ว
พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. 2460 เนื้อชินตะกั่ว
พระพุทธชินราชหลวงพ่อโม วัดสามจีน กรุงเทพ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อชินตะกั่ว

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธทศพลญาณ หรือ หลวงพ่อโต พระประธานของวัดไตรมิตร ประทับนั่งบนอาสนะ องค์พระปรากฏผ้าสังฆาฏิชัดเจน หลังองค์พระมีขอบกนก คล้ายพระพุทธชินราช

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ ในบางองค์มีรอยจาร


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

 บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น