โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ผู้สร้างพระปิดตาหายากของปทุมธานี

ภาพถ่ายพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี
พระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี

         หลวงพ่อเปิง วัดชินวราราม หรือ พระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ท่านเป็นพระเกจิชาวรามัญโดยกำเนิด ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๐ และได้ศึกษาพุทธาคมจากหลวงพ่อเชย (จันทสิริ) วัดโพธิ์บางเขน หรือในปัจจุบันคือ วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งในอดีตถือเป็นสำนักตักศิลาทางด้านพุทธาคม 

         นอกจากนี้หลวงพ่อเชย ท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ และยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าอีกด้วย

         หลวงพ่อเชย ท่านเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่เคร่ง ในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัย เชี่ยวชาญวิปัสสนากัมมัฏฐาน และมีพุทธาคมแก่กล้า หลวงปู่ศุขท่านก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มาพร้อมกับ อาจารย์เปิง วัดชินวราราม และหลวงปู่เฒ่า วัดหงส์รัตนาราม 

         ด้วยเหตุนี้พระอาจารย์เปิง ท่านจึงเป็นสหธรรมิกใกล้ชิดสนิทสนมกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าอีกด้วย 

         นอกเหนือไปจากเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันแล้ว พระอาจารย์เปิง ท่านยังมีพุทธาคมเข้มขลัง สามารถระเบิดน้ำลงไปจารตะกรุดในน้ำโดยจีวรไม่เปียก แม้กระทั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ ยังถูกอัธยาศัยใจคอกับพระอาจารย์เปิงเป็นอย่างยิ่ง ท่านมักจะแวะมาพำนักค้างแรมที่วัดชินวรารามอยู่เป็นประจำ  

         รวมทั้งยังได้สร้างพระตำหนักริมน้ำ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ และทรงโปรดให้สร้างมณฑป บรรจุอัฐิของพระมารดาไว้ที่วัดชินวรารามอีกด้วย ซึ่งหลักฐานยืนยันได้ถึงความสัมพันธ์ของท่านทั้งสองคือ รูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าขนาดเท่าองค์จริงที่ทรงประทานไว้ 

         ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถอีกทั้งพระองค์ได้ทรงบูรณะวัดชินวราราม ขึ้นใหม่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๕๔ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ อีกด้วย

         วัดชินวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในหมู่ที่ ๒ บ้านบางขะแยง ตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 

         วัดชินวรารามวรวิหารเดิมมีชื่อว่า วัดมะขามใต้ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๘ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

         พระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดกพร้อมคำบรรยายเป็นโคลงสี่สุภาพ ภายในประดิษฐานพระพุทธชินวร (หลวงพ่อทองคำ) พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยซึ่งอัญเชิญมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

         พระวิหารพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระตำหนักชินวรสิริวัฒน์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ตำหนักเจ้าแม่กวนอิมริมน้ำ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ศาลาท่าน้ำ และมณฑปใหม่ที่สร้างขึ้นจากโครงสร้างเดิม พร้อมรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒

         พระอาจารย์เปิง ท่านได้สร้างพระปิดตาขนาดเล็กเท่าเม็ดบัวขึ้น แจกให้กับผู้ที่มาช่วยงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นท่านก็เคยสร้างแจกแต่มีจำนวนน้อย และมักเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยม หรือไม่ก็เป็นพิมพ์เม็ดบัว ที่มีปีกกว้างหลังอูม ขนาดเกือบเท่าหัวนิ้วโป้ง พระปิดตาของอาจารย์เปิง สันนิษฐานว่าน่าจะมีเกือบ ๓๐ พิมพ์ แต่ละพิมพ์มีจำนวนไม่มากเพียงแค่หลักสิบหรือหลักร้อยกว่าๆ เท่านั้น

         จำนวนการสร้างที่มีน้อยนั้นเนื่องจาก กรรมวิธีที่สร้างค่อนข้างยุ่งยาก ทั้งการรวบรวมว่านที่มีคุณวิเศษในตัว การลบผงวิเศษทั้ง ๕ ประการ ว่านที่ท่านได้รวบรวมมาจะนำมาตากแห้ง ตัดเป็นท่อนเล็กๆ ก่อนจะนำไปบด ด้วยรางบดยาแบบโบราณให้เป็นผงละเอียด

         แล้วนำไปร่อนในตะแกรงทองเหลือง ที่ใช้ร่อนแป้ง ซึ่งเครื่องมือทั้ง ๒ อย่างนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดเป็นอย่างดี

         เมื่อได้ผงว่านที่ร่อนแล้ว ยังต้องมาใส่ในผ้าขาวบางแช่น้ำเพื่อไล่ยางว่านออก ก่อนนำไปบีบว่านยาให้ทะลุรอดผ้าขาว ออกมาทิ้งไว้ให้แห้ง เวลาจะสร้างพระก็เอาว่านยาที่ได้มาบดในรางบดยาอีกครั้ง เนื้อหาของพระท่านจึงละเอียด

         ส่วนตัวผสานเนื้อว่านบดกับผงวิเศษจะมี ๒ อย่าง คือกล้วยน้ำว้าสุกกับน้ำผึ้ง จึงทำให้เนื้อหาของพระท่านมีหลายโซน ทั้งสีน้ำตาลอ่อนแบบยานัตถ์ สีน้ำตาลเข้ม สีดำแบบผงคลุกรัก และแบบ ๒ สีในองค์เดียวกัน พระบางองค์จะเห็นแผ่นรัก ผสมอยู่ในเนื้อ 

          เพราะช่วงที่มีการบูรณะวัดได้มีการลอกรักออกจากตู้พระไตรปิฎก จึงนำแผ่นรักที่ลอกออกมา บดใส่ลงไปเนื่องจากพระเครื่องของท่าน สร้างติดต่อกันนับ ๑๐ ปี เนื้อหาจึงแตกต่างกันไป แต่แม่พิมพ์ยังคงเดิมดังนั้น ถ้าจะศึกษาพระอาจารย์เปิง ต้องยึดพิมพ์เป็นหลัก ถัดมาคือธรรมชาติความเก่า และเนื้อหา 

         ปัจจุบันพระปิดตาของเก๊ใช้วิธีนำของแท้มาถอดพิมพ์ทำให้พิมพ์ไม่คมและ ตำหนิในพิมพ์ไม่ครบ แต่ที่ผ่านๆ มาคนทั่วไปมักดูเนื้อเป็นหลักพอเจอเนื้อจัดๆ ก็คิดว่าแท้ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาที่ผิดหลัก เพราะเนื้อหาพระแบบคลุกรักคนทำพระเก๊ทำได้ใกล้เคียงแต่ยังต้องถอดพิมพ์อยู่ ธรรมชาติของพระแท้จึงทำออกมาไม่ได้ทั้งในแง่ความคมชัด ตำหนิในพิมพ์ ความเก่า และเชิงช่างของผู้ที่แกะพิมพ์ 

          พระอาจารย์เปิง  ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าที่มีวิทยาคมสูง จึงมีศิษย์มาฝากตัวร่ำเรียนวิชาอาคมกับท่านมากมาย ที่สามารถสืบค้นจนทราบชื่อได้มีดังนี้

         ๑. พระครูปัญญารัตน์(ติ๊ก) อดีตเจ้าอาวาสวัดชินฯ

         ๒. พระอริยะธัชเถระ อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนมะม่วง

         ๓. พระอาจารย์พลาย อดีตเจ้าอาวาสวัดมะขาม

         ๔. พระครูปทุมวรคุณ (เอี่ยม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม

ภาพถ่ายหลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี
หลวงพ่อพลาย วัดมะขาม ปทุมธานี ศิษย์ของอาจารย์เปิง

         พระอาจารย์เปิง จัดสร้างวัตถุมงคลไว้หลายแบบ ที่ได้รับความนิยมได้แก่ พระปิดตาเนื้อผลคลุกรัก นอกจากนี้ยังมี ตะกรุดเงิน ลงอักขระมอญ (จารนอกจารใน) และประคำเนื้อผงคลุกรัก เป็นต้น

         สำหรับพระปิดตาอาจารย์เปิง ทำจากเนื้อผงพุทธคุณผสมว่านและเกสร ๑๐๘ คลุกรักแดง  มีความละเอียดเนียนลักษณะเดียวกับ พระปิดตาสายเมืองชลฯ พุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหาเสน่ห์  

         แม้กระทั่งหลวงปู่ศุข ยังเคยแบ่งผงพุทธคุณอาจารย์เปิงไปผสมทำพระปิดตาของท่าน เพื่อเสริมด้านเมตตา หลวงปู่ศุขยังเคยแนะนำกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ว่าถ้าอยากเรียนทางด้านเมตตาให้มาศึกษากับอาจารย์เปิง ท่านบอกว่า "เรื่องเมตตา  ท่านเปิงเขาเก่งกว่าฉัน"

         ด้านพุทธคุณ เด่นด้าน เมตตา แคล้วคลาด และคงกระพัน เฉพาะส่วนคงกะพันนั้นมีเรื่องเล่ากันแถวปทุมว่า  มีทหารสังกัดซ่อมสร้างรถยนต์ทหาร กรมสรรพาวุธทหารบก (รซท.สพ.ทบ.) ห้อยอาจารย์เปิงองค์เดียว ถูกรถ (จี.เอ็ม.ซี) ทับร่าง แบบว่าเดินหน้าและถอยหลัง จนกระอักเลือด น่าตาย 

         แต่กลับรอดโดยไม่มีบาดแผล หรือบอบช้ำใดใดเลยเป็นที่อัศจรรย์มาก เมื่อคนรู้เห็นกันทั้งโรงเรือน เรื่องนี้ดังมากในละแวกนั้น  ดังนั้นพระปิดตาอาจารย์เปิง จึงพร้อมไปด้วยพุทธคุณด้านคงกระพัน แบบเดียวกันกับพระปิดตาหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมขามเฒ่า

         พระอาจารย์เปิง ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ นับรวมสิริอายุได้ ๘๘ ปี.

วัตถุมงคลของอาจารย์เปิง วัดชินวราราม

         พระปิดตาอาจารย์เปิง วัดชินวราราม พิมพ์สี่เหลี่ยม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาขนาดเล็ก สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณที่อาจารย์เปิงลบผงเอง ผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกกับน้ำผึ้ง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์สี่เหลี่ยม 2468 ผง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์สี่เหลี่ยม ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์สี่เหลี่ยม 2468 ผง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์สี่เหลี่ยม ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานเขียง ๓ ชั้น ขอบองค์พระมีเส้นบังคับพิมพ์

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

         พระปิดตาอาจารย์เปิง วัดชินวราราม พิมพ์สี่เหลี่ยม 3 จุด

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาขนาดเล็ก สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณที่อาจารย์เปิงลบผงเอง ผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกกับน้ำผึ้ง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์สี่เหลี่ยม 3 จุด 2468 ผง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์สี่เหลี่ยม ๓ จุด ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์สี่เหลี่ยม 3 จุด 2468 ผง-ข้าง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์สี่เหลี่ยม ๓ จุด ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว ๓ จุด ขอบองค์พระมีเส้นบังคับพิมพ์

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

         พระปิดตาอาจารย์เปิง วัดชินวราราม พิมพ์เม็ดบัว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาขนาดเล็ก สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณที่อาจารย์เปิงลบผงเอง ผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกกับน้ำผึ้ง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดบัว 2468 ผง
พระปิดตาอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดบัว ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดบัว 2468 ผง-ข้าง
พระปิดตาอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดบัว ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี ประทับนั่งบนฐานเขียง องค์พระมีเส้นบังคับพิมพ์และมีเนื้อเกินที่ขอบพระจากการประกบพิมพ์

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

        พระปิดตาอาจารย์เปิง วัดชินวราราม พิมพ์เม็ดกระบก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาขนาดเล็ก สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณที่อาจารย์เปิงลบผงเอง ผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกกับน้ำผึ้ง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดบัว 2468
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดกระบก ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดบัว 2468
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดกระบก ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี ประทับนั่งบนฐานเขียง องค์พระมีเส้นบังคับพิมพ์และมีเนื้อเกินที่ขอบพระจากการประกบพิมพ์

         ด้านหลัง อูม ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

        พระปิดตาอาจารย์เปิง วัดชินวราราม พิมพ์เม็ดบัว - เข่าตรง

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาขนาดเล็ก สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณที่อาจารย์เปิงลบผงเอง ผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกกับน้ำผึ้ง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เม็ดบัว-เข่าตรง 2468 ผง
พระปิดตาพระอาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี พิมพ์เข่าตรง ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื้อผง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี ประทับนั่งบนฐานเขียง องค์พระมีเส้นบังคับพิมพ์ และเข่าขององค์พระตรงขนาดไปกับฐานเขียง

         ด้านหลัง อูม ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น