โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เจ้าของตะกรุดดีตะกรุดดังของเพชรบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี

         หลวงพ่อกุน วัดพระนอน หรือ พระครูสุชาตเมธาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระนอน ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหนองกาทอง ตำบลโรงเข้ จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ (ไม่ทราบนามบิดา) โยมมารดาชื่อนางม่วง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน  เป็นผู้ชายทั้งหมด

         ในวัยเยาว์ท่านมีนิสัยโน้มเอียงไปทางสมณะ กล่าวคือชอบนั่งบนจอมปลวกแล้ว เทศน์ให้เพื่อนฟัง ต่อมาโยมมารดาได้นำท่านมาฝากเรียนอยู่วัดวังบัว ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี  ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน ประมาณ ๓ กิโลเมตร และท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดวังบัว 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ หลวงพ่อกุน ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดวังบัว ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี (ไม่ทราบนามพระอุปัชฌาย์) 

         หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดวังบัวเรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาอาคมและพระธรรมวินัยต่างๆ 

         นอกจากนี้ท่านยังมีความอุตสาหะเป็นอย่างมาก ท่านได้เดินทางไปศึกษาวิชากับอาจารย์แจ้ง วัดดอนไก่เตี้ย และได้ศึกษาวิชาการที่วัดข่อย ศึกษาทางช่างศิลป์กับท่านอาจารย์มุ่ย วัดใหญ่สุวรรณาราม และคุณพ่อฤทธิ์ (หนังใหญ่) วัดพลับพลาชัย

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ท่านบวชอยู่ ๓ พรรษา จึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน)  ซึ่งในสมัยนั้นมีพระครูสุวรรณมุนีเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาหลวงพ่อกุนได้เป็นสมุห์

         ต่อมาพระครูสุวรรณมุนีได้มรณะภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อกุนเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี

         วัดพระพุทธไสยาสน์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

         วัดพระพุทธไสยาสน์ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อมูลกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่สร้างด้วยอิฐลงรักปิดทอง ยาวประมาณ ๔๓ เมตร ซึ่งมีประวัติว่าเดิมสร้างไว้กลางแจ้ง

         วัดแห่งนี้ได้ถูกปล่อยทิ้งจนกลายเป็นวัดร้าง ชาวบ้านในพื้นที่เรียกติดปากว่า วัดพระนอน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นองค์พระนอนที่ทรุดโทรมมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาสังกะสีคลุมไว้ 

         ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างหลังคากระเบื้องคลุมองค์พระนอนไว้และกลายเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ดังที่เห็นในปัจจุบัน 

         ในการบูรณะองค์พระนอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พบอุโมงค์ภายในองค์พระ มีโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปทำจากวัสดุต่างๆ ได้แก่ สำริด ดินเผา ปูนปั้น หินทราย และไม้บุเงิน ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย

         จุดเด่นของพระนอนองค์นี้ที่แตกต่างจากที่อื่นกล่าวคือ ที่เศียรขององค์พระมีหมอนบรรทมรูปดอกบัวรองพระเศียรอยู่สองก้อน องค์พระพุทธรูปนอนประทับในอิริยาบถตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศตะวันตก ถือเป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๔ ในประเทศไทย

ภาพถ่ายหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี
หลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อกุนได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่  "พระครูสุชาตเมธาจารย์"

         คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ทุกพรรษาหลวงพ่อกุนท่านจะขึ้นไปนั่งบำเพ็ญกัมฏฐานในถ้ำ ในวิหารเล็กประมาณ ๗ วัน  

         หลวงพ่อกุน เคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ครั้งหนึ่งก่อนจะนั่งเข้าที่ พระปลัดเทพ (พระครูสมณกิจพิศาล) เอาน้ำชามาถวายท่านรับไว้ พอเริ่มจะเข้าที่ ปรากฏเห็นเช่นนั้นอีก  ท่านว่าเหมือนของจริงทุกอย่าง พอเอื้อมมือจะรับนึกขึ้นได้ว่าเพิ่งมาถวายเมื่อสักครู่นี้ จึงไม่รับท่านว่าเกือบเสียท่า

         นอกจากนี้ท่านยังได้นำพระภิกษุในวัดออกธุดงค์ปีละหลายๆองค์  และออกธุดงค์อยู่หลายปี พระภิกษุที่ออกธุดงค์กับท่านจะไปด้วยความมั่นใจ ไม่ว่าท่านจะไปทางเหนือหรือทางใต้  เป็นต้องมีพระภิกษุสมัครไปด้วยเสมอ

         หลวงพ่อกุนท่านยังได้สร้างตะกรุดแจกแก่ชาวบ้านและศิษย์อีกด้วย ตะกรุดของหลวงพ่อกุนนั้น กล่าวขานกันว่า ตำหรับทำตะกรุดนี้ จารึกไว้ในสมุดจีนใบปกเขียว รูปที่เขียนเป็นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานถวายแหวน 

         ในอดีตถ้ากล่าวถึงตะกรุดที่มีราคาแพงที่สุด คงหนีไม่พ้นตะกรุดของหลวงพ่อกุน วัดพระนอน ซึ่งเป็นตะกรุดสุดเข้มขลัง ตะกรุดมหาระงับ นารายณ์สะกดทัพ และอื่นๆ อีกมากมาย

         เรียกได้ว่านักเลงในสมัยก่อนยังนำตะกรุดของหลวงพ่อ ไปลองแขวนไว้ที่เสาบ้านใคร เป็นได้หลับไม่ตื่นกันทั้งบ้าน จะทำเสียงดังอย่างไรก็ไม่ตื่นกันเลย นั่นเพราะตะกรุดที่ท่านได้สร้าง ได้ลงอักขระไว้สะกดให้ทุกคนในบ้านหลับไม่ตื่นนั้นเอง เรื่องเสน่ห์ก็เป็นเยี่ยม

         สมัยก่อนของดีของหลวงพ่อกุนเลื่องลือมาก สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ปลัดเมืองเพชรบุรี ยังเคยมาขอของท่าน เพื่อไปคุ้มครองตัวเอง แต่ของดีของหลวงพ่อนั้นมีน้อยมาก เพราะกว่าท่านจะทำออกมาแต่ละอย่างใช้เวลามากขั้นตอนเยอะและซับซ้อน ปัจจุบันนี้วัตถุมงคลของหลวงพ่อหาชมได้ยากมาก 

         หลวงพ่อกุน ปกครองวัดเรื่อยมาจนแก่มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นับรวมสิริอายุได้ ๖๐ ปี ๔๐ พรรษา.

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อกุน วัดพระนอน

         ตะกรุดไมรยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุน วัดพระนอน

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นตะกรุดเนื้อโลหะลงอักขระยันต์ตามตำหรับและฤกษ์ของหลวงพ่อ ดอกยาวประมาณ ๔-๕ นิ้ว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ และเนื้อเงิน มีการสร้างทั้งแบบถักและไม่ถักเชือก จำนวนการสร้างน้อยหายาก

ตะกรุดไมยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี 2460 ทองคำ
ตะกรุดไมยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อทองคำ ของคุณวุฒิ รถไฟ

ตะกรุดไมยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี 2460 เงิน
ตะกรุดไมยราพสะกดทัพหลวงพ่อกุน วัดพระนอน เพชรบุรี ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อเงิน

         ในการสร้างนั้นหลวงพ่อท่านใช้ฤกษ์เสาร์ห้า เป็นฤกษ์ในการลงอักขระเลยยันต์และปลุกเสก สถานที่ปลุกเสกท่านก็ไปปลุกเสกในป่าช้า เจ็ดป่าช้า  มีป่าช้า วัดพลับ, วัดแก่นเหล็ก, และวัดพระนอน  เป็นต้น 

         หลังจากนั้นเมื่อถึงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง หลวงพ่อท่านก็จะใช้ลูกสบ้ามอญ  ลบถูรอยเหล็กจารที่ท่านได้จารไว้ออก และพอถึงฤกษ์เสาร์ห้า ก็กลับไปจารที่ป่าช้าอีก

         ท่านทำเช่นนั้นจนครบ ๓ รอบ ท่านถึงจะนำออกมาแจกจ่ายแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหา พุทธคุณนั้นเหล่าเรื่องมหาเสน่ห์ก็ไม่แพ้พระขุนแผนสำนักไหนเลย

         นอกจากนี้ยังมียันต์มงกุฎพระเจ้ายันต์ที่ท่านลงและปลุกเสกในตะกรุด ซึ่งจะโดดเด่นในเรื่องมหาอุด อยู่ยงคงกระพันก็เยี่ยม 

         แต่สิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อท่านสั่งทุกคนที่ได้ของท่านไปว่า ขออย่างเดียวอย่าไปขโมยของเขา ถ้าไปขโมยของเขาก็จะใช้ไม่ขึ้น



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น