โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี พระเกจิชื่อดังศิษย์เอกหลวงพ่อโฉม วัดตาคลี

ภาพถ่ายหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี
หลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี

         หลวงพ่อใย วัดระนาม หรือ พระครูสิงหราชมุนี (ใย พรหมสร) อดีตเจ้าอาวาสวัดระนาม อดีตเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี พื้นเพท่านเป็นชาวอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์เดือน ๘ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ โยมบิดาชื่อนายโมกข์ มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงแพ่ง โยมมารดาชื่อนางคล้าย เป็นหลานปลัดเมืองชัยนาท 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ท่านมีอายุได้ ๑๐ ขวบ บิดาได้นำท่านไปฝากเรียนกับพระอาจารย์เอี่ยม วัดระนาม จนถึงอายุ ๑๘ ปี ท่านจึงกลับมาช่วยทางบ้านประกอบอาชีพ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ หลวงพ่อใย ท่านมีอายุครบ ๒๒ ปี จึงได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดระนาม ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้รับฉายาว่า "พรหมฺสร"  โดยมี

         พระสมุห์คุ้ม วัดใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระสมุห์โพธิ์ วัดเสือข้าม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระวินัยธรเพชร วัดระนาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดระนามเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ตลอดจนบาลีไวยากรณ์ และปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พระวินัยธรเพชร เจ้าอาวาสวัดระนามได้มรณภาพลง คณะสงฆ์ ทายก ทายิกาจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อใย ซึ่งขณะนั้นบวชได้ ๕ พรรษา ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระนามทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๒๗ ปีเท่านั้น

ภาพถ่ายหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี
หลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี

         หลังจากจากที่หลวงพ่อใย ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ 

         นอกจากนี้ท่านยังเป็นนักส่งเสริมการศึกษา ทั้งพระเณรและฆราวาส มีทั้งโรงเรียนมัธยม โรงเรียนทอผ้า (ซึ่งเป็นแห่งแรกที่เป็นโรงเรียนทอผ้าผู้หญิง) โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนช่างทอผ้าสิงห์บุรี" มีครู ๑ คน นักเรียน ๓๐ คน 

         ณ สถานที่ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลเมืองสิงห์บุรี โรงเรียนมัธยมชื่อโรงเรียนประสิทธิวิทยา รวมทั้งโรงเรียนสิงหราชประชานุเคาะห์

         นอกจากนี้ยังตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมสอนให้พระเณร จบนักธรรม สอบบาลีได้มหาเปรียญมากมาย ถึงกับได้ชื่อว่า "วัดระนามเป็นศูนย์กลางการผลิตนักเรียนนักศึกษาก้าวสู่โลกภายนอก"

         ในเรื่องของการสอนวิปัสสนากรรมฐานนั้น หลวงพ่อใยท่านก็เป็นพระนักปฏิบัติ ได้สอนวิปัสสนากรรมฐานอย่างสม่ำเสมอ ลูกศิษย์ ๒ รูป ของท่านคือพระครูอุดม กับ หลวงปู่เจ็ก ก็ได้มาเรียนวิปัสสนากรรมฐานโดยปริยาย 

         และด้วยเหตุที่วัดตั้งอยู่ใกล้ๆ กับวัดเสือข้าม จึงได้แลกเปลี่ยนสนทนาธรรมกับพระเกจิ ๒ รูป แห่งวัดเสือข้าม คือหลวงพ่อมา และหลวงพ่อปั้น

         การศึกษาด้านพุทธาคมของหลวงพ่อใยนั้น ท่านเป็นศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อโฉม วัดตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นสหธรรมมิกธรรมกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน 

         แต่หลวงพ่อโฉมท่านแก่กว่าหลวงปู่ศุข แต่อ่อนกว่าหลวงพ่อเงิน โดยหลวงพ่อโฉม วัดตาคลี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่เรืองเวทย์มากในยุคนั้น

ภาพถ่ายหลวงพ่อโฉม วัดตาคลีใหญ่ นครสวรรค์
หลวงพ่อโฉม วัดตาคลี นครสวรรค์ พระอาจารย์ของหลวงพ่อใย

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ หลวงพ่อใย ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะหมวดชีน้ำร้าย (เจ้าคณะตำบลในสมัยนี้)

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ รับตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอินทร์บุรี (เจ้าคณะอำเภอ) 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อใย ที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูอินทรภารพินิจ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ มีนิตยภัต ๘ บาท

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ รับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้การแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูสิงหราชมุนี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดชั้นโท เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ มีนิตยภัต ๑๐ บาท

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นเจ้าคณะจังหวัดชั้นเอก เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ มีนิตยภัต ๑๒ บาท

         คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนมักเล่าสืบต่อกันมาถึงวัตถุมงคล ที่หลวงพ่อใยสร้างไว้ว่า ท่านสร้างไว้น้อยมากเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ท่านจะสร้างเฉพาะตามวาระสำคัญๆ เช่น ผ้าขาวตราโบสถ์ แจกเมื่อคราวรับสมณศักดิ์เป็น "พระครูอินทรภารพินิจ" สร้างราวปี พ.ศ. ๒๔๕๘ มีคุณวิเศษในทางป้องกันลมพายุได้อย่างชะงัดนัก 

         ต่อมาในคราวทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี ในปี พ.ศ ๒๔๗๖ ได้มีการสร้างวัตถุมงคลไว้แจกแก่ผู้มาร่วมงานแสดงมุทิตาจิต มีสองชนิดคือ เหรียญรุ่นแรกและพระปิดตามหาอุตเพียงเท่านั้น

         พอล่วงเข้าปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงพ่อใย ท่านเริ่มป่วยจากการเป็นไข้หวัดใหญ่และกลายเป็นโรคปอด หลวงพ่อท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ 

         หลวงพ่อใย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ นับรวมสิริอายุได้ ๖๕ ปี ๔๓ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อใย วัดระนาม

         เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อแจกให้กับแก่ผู้มาร่วมงานแสดงมุทิตาจิตในคราวทำบุญอายุครบ ๖๐ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าไม่เกิน ๒,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นแรก 2476 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณศราวุธ คำภา
เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นแรก 2476 ทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ของคุณศราวุธ คำภา

เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นแรก 2476 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เนื้อทองแดง ของคุณเปี้ยง

         ด้านหน้า  เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อใยครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสิงหราชมุนี ใย พรหมสร"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖"

         เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เพื่อแจกให้กับผู้ที่มาร่วมในงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อ โดยมีพระเกจิชื่อดังของเมืองไทยสมัยนั้นร่วมปลุกเสกเช่น สมเด็จสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ เป็นประธาน หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์ หลวงพ่อเดิม หนองโพธิ์ หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล หลวงพ่อโม ห้วยกรด หลวงพ่อลา โพธิ์ศรี หลวงพ่อมา วัดสาธุ หลวงพ่อแป้น บ้านไร่ หลวงพ่อพูน วัดสังฆาชาวาส หลวงพ่อดี วัดแจ้ง สิงห์บุรี หลวงพ่อโต วิหารทอง หลวงพ่อปลื้ม วัดสังฆาราม หลวงพ่อคง วัดใหม่บำเพ็ญบุญ หลวงพ่อสาย วัดพยัคคาราม หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู และอีกมากมาย ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่น 2 2481 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ของคุณณัฏฐพล แพ่งเกษร

เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่น 2 2481 ทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน

เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่น 2 2481 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า  เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อใยครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสิงหราชมุนี ใย พฺรมหฺสรไย"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฌาปนกิจ พ.ศ. ๒๔๘๑"

         พระปิดตาหลวงพ่อใย วัดระนาม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อแจกให้กับแก่ผู้มาร่วมงานแสดงมุทิตาจิตในคราวทำบุญอายุครบ ๖๐ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปิดตาภควัมบดีหรือพระปิดตามหาอุต ๒ หน้า มีการจัดสร้างด้วยเนื้อเมฆพัตร สีผิวน้ำเงินเข้มเกือบดำเป็นมันเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นแรก 2476 เมฆพัตร
พระปิดตาหลวงพ่อใย วัดระนาม สิงห์บุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เนื้อเมฆพัตร

         ด้านหน้า  จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏมีอักขระใดๆ


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น